ผ่านไปปียังไม่คืบ กรมควบคุมมลพิษ เล็งของบฯ 550 ล้าน ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้
วงถกแนวทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เดือด "สรุพงษ์ กองจันทึก" รับไม่ได้ คพ.ศึกษาข้อมูลไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล และไม่ตรงจุด ด้าน คพ. เตรียมงบฟื้นฟู วอนชาวบ้านเห็นใจ ยันไม่ใช่เรื่องง่าย หวั่นกระบวนการอาจล่าช้า
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิชาการร่วมกับภาคประชาสังคม จัดงานประชุมปรึกษาหารือเรื่อง “แนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจากการทำเหมืองแร่ : การดำเนินงานตามคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด กรณีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ณ อาคารสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายโสฬส โชติวิจิตร ตัวแทนจากสำนักบังคับคดีปกครอง กล่าวถึงหลักการและแนวทางการปฏิบัติบังคับคดีหลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า ศาลฯได้กำหนดกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) 2 ส่วน คือ ให้ดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดี ซึ่งในส่วนนี้เห็นว่า คพ.ได้ดำเนินตามคำสั่งศาลเรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือในส่วนของการฟื้นฟู ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี อีกทั้งแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบเบื้องต้นถึงการดำเนินการดังกล่าวต่อไป
ตัวแทนจากสำนักบังคับคดี กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีใหม่สำหรับประเทศไทยที่ไม่เคยมีเรื่องการบังคับให้ฟื้นฟูมาก่อน ทางสำนักฯ ได้ประสานความร่วมมือไปยัง คพ. กำหนดเป็นแผนงานขึ้นมา ระยะเวลาที่ผ่านมา อีกทั้งมีการลงพื้นที่ไปดูการเก็บตัวอย่างร่วมกัน การทำฝาย และการพูดคุยกับชาวบ้าน เบื้องต้นได้ทราบปัญหาหลักจริงๆ และแนวทางวิธีการดำเนินการที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ศักยภาพแร่อยู่แล้ว
ด้านนายสมชาย ทรงประกอบ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ว่า ทาง คพ.มีการทำแผนส่งให้ศาลปกครองระยะเวลารวม 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2559 โดยในเบื้องต้นตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามคำสั่งศาล โดยได้ดำเนินการเป็นฤดูกาล คือ 4 ครั้งต่อปี แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือ การฟื้นฟู การดำเนินการสิ่งแวดล้อมมีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน อาทิ ตะกอน พืชผัก สัตว์น้ำ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินการฟื้นฟูตามค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม คพ.กล่าวว่า ในส่วนของการกำหนดค่าเป้าหมายนั้นได้เก็บตัวอย่างตะกอนดินทุกระยะ 100 เมตร 10 เมตร 50 เมตร ตามความเหมาะสม และเก็บตัวอย่างน้ำ เช่น สัตว์น้ำ อีกทั้งจัดหาพื้นที่หลุมฝังกลบ ซึ่งในส่วนค่าพื้นฐานสารตะกั่วในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาว่าศักยภาพแร่มีค่าตะกั่วอยู่ที่เท่าไหร่ รวมถึงค่าสารตะกั่วที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ค่ามาตรฐานของตะกั่วมีอยู่เท่าไหร่ แต่เนื่องจากของไทยยังไม่กำหนดค่ามาตรฐานตะกอนดิน ค่าที่ควรเป็นในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนจะดูจากค่ามาตรฐานในต่างประเทศ
นายสมชาย กล่าวถึงระยะเวลาฟื้นฟูที่อธิบดี คพ.เคยรับปากว่า 3 ปี จะฟื้นฟูให้ได้นั้น ในตอนนี้ได้ดำเนินมกว่า 1 ปี และในขณะนี้ได้เตรียมตั้งงบประมาณในปี 2559 จำนวนกว่า 550 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดการในแนวทางที่ตั้งไว้ อาทิ ขุดหลุมฝังกลบ ฯลฯ ซึ่งหากถ้าสำนักงบประมาณเห็นชอบจะทำการเร่งดำเนินการฟื้นฟูโดยเร็ว และหากในปีถัดไปงบประมาณไม่เพียงพอทาง คพ.จะของบเพิ่มเติมต่อไป
“การฟื้นฟูอาจไม่เสร็จในปีเดียว มีความยากในการเอาตะกอนหางแร่ที่เกิดจากการทำของมนุษย์แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์ และคงมีการทำให้เกิดการสะสมมาอย่างยาวนานแล้ว คพ.จะเลือกทำเฉพาะหางแร่ขึ้นมาโดยการขุดถึงชั้นหินชั้นดินดาน จึงมีความยากในการเอาตะกอนขึ้นมา” นายสมชาย กล่าว และว่ากรมฯ ไม่นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน ทั้งนี้ขอความเห็นใจว่า ดำเนินการแล้วและดำเนินการอย่างเต็มที่ แม้การศึกษาล่าช้าไปบ้าง แต่จะพยายามหาช่องทางที่ดีที่สุด
ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวถึงการฟื้นฟูตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่า หลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คพ.ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหาวิธี แนวทางปฏิบัติฟื้นฟูพื้นที่ แต่ในวันนี้ผ่านมา 24 เดือน ยังไม่มีประชุมคณะกรรมการดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งตามความเป็นจริงควรจัดประชุม เพื่อมีส่วนร่วมในการประเมินแนวทางการฟื้นฟูด้วย เพราะชาวบ้านยังได้รับผลกระทบอยู่ อีกทั้งเรื่องการทำแผนงานที่ต้องทำภายใน 90 วันหลังศาลตัดสินก็ไม่มีการดำเนินการถึงวันนี้ก็ยังไม่มีแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนออกมาแต่อย่างใด
"การชี้แจงที่น่าเป็นห่วงคือการที่สำนักบังคับคดีที่ระบุว่า คลิตี้เป็นพื้นที่ศักยภาพแร่ และมีความเข้มข้นของศักยภาพแร่นั้นทำให้การดำเนินการค่อนข้างลำบาก แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา คพ. ไม่เคยปฏิเสธว่า หางแร่ มาจากการกระทำของมนุษย์ แต่เกิดจากกิจการเหมืองแร่ ซึ่งบริษัทเหมืองแร่พยายามอ้างเรื่องนี้ตลอดมา และ คพ. ได้ดำเนินการตรวจศึกษาตลอดมา ข้อมูลบ่งชี้ชัดว่า ความเข้มข้นนั้นเป็นกิจกรรมของมนุษย์ไม่ได้เกิดจากศักยภาพแร่ เพราะแร่อยู่ลึกลงไปในชั้นใต้ดิน ส่วนเจอด้านบนเป็นกิจกรรมของคน"
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การที่ คพ.ระบุค่าตะกั่วในปัจจุบันเป็นปกติ ไม่เป็นเรื่องเสียหาย ไม่เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านนั้น ให้ฟื้นฟูโดยธรรมชาติไปก่อน ขัดกับคำวินิจฉัยของศาล เพราะในการสู้ศาล คพ. อ้างเรื่องธรรมชาติฟื้นฟูตลอดเวลา และศาลตัดสินแล้วว่า ธรรมชาติฟื้นฟูไม่ได้ ต้องดำเนินการวางแผนในการฟื้นฟู
ผอ.ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวถึงการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.)ที่กรมควบคุมมลพิษจ้างมาทำการสำรวจนั้น ที่ผ่านมาในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องไม่เห็นแผนที่ชัดเจน มีแต่การลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำบางส่วน ซึ่งตามความเป็นจริงต้องมีการชี้แจงถึงแผน อีกทั้งไม่จำเป็นต้องนำดินตะกอนออกทั้งลำห้วย เพราะจะทำให้เกิดการกระจายของแร่
“ผมในฐานะนักกฎหมายรับไม่ได้ เทียบกับคำพิพากษา ถ้าศาลให้จ่ายเงินในเก้าประเด็น ไม่ต้องมีการศึกษายังไงก็ต้องจ่าย การดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลเป็นเด็ดขาด ไม่ต้องมีการศึกษาเก้าหรือสิบด้าน เพราะไม่ใช่การลงทุนทางเศรษฐกิจ ที่ต้องมาดูความคุ้มทุน การบังคับตามคำพิพากษาของศาลไม่ใช้การลงทุน หน่วยงานใดก็มาขวางไม่ได้” นายสรุพงษ์ กล่าว พร้อมเสนอให้ มข. เลิกทำการสำรวจเพราะไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงและจัดการไม่ตรงเรื่อง