ฮาลาลชายแดนใต้...ฝันไกลที่ทำไมยังไปไม่ถึง?
เปลี่ยนรัฐบาลทีไรต้องประกาศนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้กันทุกครั้ง โดยเฉพาะที่ขาดไม่ได้เลยจริงๆ คือการทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” รวมทั้งการผลักดันก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลขึ้นใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
แต่เปลี่ยนมาหลายรัฐบาลและผ่านมาหลายปี ฮาลาลที่ชายแดนใต้ก็ดูจะยังไม่เกิดอย่างจริงๆ จังๆ เสียที หนำซ้ำนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ อ.ปะนาเระ ก็โดนพิษก่อความไม่สงบเล่นงานอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ทำให้เมืองไทยเสียโอกาส ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าฮาลาลคือ “ประตูแห่งโอกาส” ที่จะเปิดตลาดชายแดนใต้สู่ตลาดระดับโลก
อะไรคืออุปสรรคปัญหา เป็นประเด็นที่น่าค้นหาและใคร่ครวญ...
เมื่อเร็วๆ นี้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “ฮาลาล” ที่น่าสนใจ คือ สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จับมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดงานแสดงสินค้าฮาลาล 2554 หรือ Halal Productions Exhibition 2011 – HAPEX 2011 ขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยภายในงานมีการแสดงสินค้าฮาลาลจากผู้ประกอบการ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 400 ราย มีการสัมมนาวิชาการและการแสดงนิทรรศการต่างๆ ด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง
อาจารย์สืบศักดิ์ กลิ่นสอน รักษาการผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล ม.อ. หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของงาน ซึ่งศึกษาเรื่องฮาลาลมาเนิ่นนาน อธิบายให้ฟังถึงประเด็นที่เรากำลังตั้งคำถาม กับความหวังของฮาลาลชายแดนใต้
“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องฮาลาลไม่สามารถคืบหน้าไปได้เท่าที่ควร แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น เพราะถึงแม้ชายแดนใต้จะมีจุดแข็งเรื่องฮาลาลด้วยความที่มีพี่น้องมุสลิมเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ แต่ยังติดขัดเรื่องการให้การรับรองมาตรฐานซึ่งไม่ราบรื่นเอาเสียเลย เนื่องจากการรับรองมาตรฐานมาจากส่วนกลาง แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน สถานที่ผลิตมาจากในครัวและเติบโตเป็นโรงงานไม่ได้หรือทำได้ยาก เพราะอุปนิสัยของคนในพื้นที่ยังยึดติดกับการทำงานใกล้บ้าน ตรงนี้ทำให้การเติบโตเป็นอุตสาหกรรมค่อนข้างช้า” อาจารย์สืบศักดิ์ เล่าถึงสาเหตุของปัญหา
แม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลจากหน่วยงานต่างๆ ลงสู่พื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาอื่นๆ ก็ยังมีมาตลอด ฉะนั้นหัวใจของการพัฒนาฮาลาลที่ชายแดนใต้ในความเห็นของอาจารย์สืบศักดิ์ ก็คือการช่วยเหลือ “วิสาหกิจชุมชน” ให้อยู่รอด
“4-5 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น หน่วยงานและสถาบันต่างๆ ก็ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้ แต่การตัดสินใจยังช้า ซึ่งน่าจะมาจากปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน แต่ปัจจุบันดีขึ้นเพราะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ สิ่งต่างๆ กำลังเริ่มเกิด”
“เราไปทิ้งความสนใจไว้ที่นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลมานาน จริงๆ แล้วจุดหนึ่งที่เราต้องหันกลับมามองคือวิสาหกิจชุมชนที่มีเกิดใหม่เยอะมาก เฉพาะอาหารก็เป็นร้อยราย แต่เป็นรายเล็กๆ ทำอย่างไรให้เขามีคุณภาพการผลิตและมีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มีการทำงานอย่างมีวินัย เป็นระบบ และเติบโตขึ้น ในส่วนของโรงงานแม้จะเป็นระดับครัวเรือนแต่ก็ต้องขอเครื่องหมาย GMP ขอ อย. ขอตรารับรองฮาลาล ถ้าเขาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพของสินค้าอย่างสม่ำเสมอจะนำไปสู่การส่งออกได้ในที่สุด และเมื่อนั้นความเติบโตของฮาลาลก็จะเป็นไปตามที่เราคาดหวัง”
“วันนี้ต้องช่วยให้วิสาหกิจชุมชนเติบโต เพราะเขามีใจในการพัฒนาและต้องการความช่วยเหลือในเรื่องวิธีคิด วิธีการทำงาน และขาดปัจจัยเรื่องทุน ไม่เหมือนนักลงทุนที่กำเงินลงมาทุ่มได้ทุกอย่าง ผู้ประกอบการ 400 รายที่มาร่วมงานแสดงสินค้าฮาลาลหากสามารถโตได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาจากวิสาหกิจชุมชนมาเป็นเอสเอ็มอี (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ได้เมื่อไหร่ วันนั้นรายได้มวลรวมก็จะเพิ่มขึ้น สภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสามจังหวัดก็จะดีตาม”
ส่วนความคืบหน้าของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานีนั้น อาจารย์สืบศักดิ์ บอกว่า หลายหน่วยงานกำลังระดมสรรพกำลังเข้าไปดูแล แต่ต้องยอมรับว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความน่าเป็นห่วง
“การที่มีการเผาสิ่งต่างๆ ของนิคมฯ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการทำงานไม่ได้ราบรื่น มันคุกคามความรู้สึกของคนทำงาน ทั้งที่เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับพื้นที่ ไม่ทราบว่าคนที่ทำอย่างนั้นเคยกลับมาคิดบ้างไหมว่า เมื่อพัฒนาแล้วมีความเจริญเข้ามาจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ทำไมไม่แก้ปัญหาด้วยสถิติปัญญา เพราะทุกฝ่ายก็กำลังทำสิ่งดีๆ ตามชื่อคือฮาลาล”
สำหรับการทำงานของสถาบันฮาลาล ม.อ.นั้น อาจารย์สืบศักดิ์ บอกว่า กำลังปรับตัวและพัฒนาให้ชัดเจนเพื่อครอบคลุมภารกิจทุกด้านที่เกี่ยวกับฮาลาล โดยเฉพาะการให้บริการประชาชนและชุมชน ผู้สนใจเดินเข้ามาตัวเปล่า บอกเล่าเรื่องราวที่อยากทำ แล้วมานั่งช่วยกันคิดช่วยกันทำ สถาบันฯยินดีให้บริการทุกคนที่สนใจ
“ที่ผ่านมาผู้ที่ตั้งใจประกอบการจริงจะกล้าเดินเข้ามาหาสถาบันฯ และเมื่อกลับไปทำตามที่สถาบันฯแนะนำ เขาก็จะเริ่มโตและสามารถประกอบการอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน วิธีการแบบนี้ให้ผลต่างจากการฝึกอบรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่มีคนตั้งใจทำจริงน้อย”
อาจารย์สืบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อยากให้ฮาลาลมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน เพราะทุกรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ส่วนในระดับพื้นที่ สถาบันฮาลาลก็พร้อมเป็น “คู่คิด” ของวิสาหกิจชุมชนเพื่อเดินหน้าต่อไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อาจารย์สืบศักดิ์ กลิ่นสอน
2 นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี (ภาพจากแฟ้มภาพ โดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
อ่านประกอบ :
1 "ทหารพัฒนา" ลุยตั้งศูนย์ปศุสัตว์ภาคใต้ ลุ้นอนาคต "นิคมฯฮาลาล" ปัตตานี
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4776&Itemid=86
2 ศูนย์กลางอาหารฮาลาล ฝันไกลที่ยังไปไม่ถึง
http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=66&Itemid=86