‘เทพชัย หย่อง’ รับสื่อตรวจสอบนโยบาย รบ.ไม่เต็มที่
มีเดียมอนิเตอร์เผยผลศึกษา ไทยพีบีเอส-5 ช่องดิจิตอลข่าว ตรวจสอบนโยบายรัฐบาล 11 ด้าน ไม่เต็มที่ ‘เทพชัย หย่อง’ ระบุสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้สื่อระวัง ชี้ต้องทบทวนหน้าที่ ฝากความหวังองค์กรสื่อยกระดับวิชาชีพ
วันที่ 11 ธันวาคม 2557 มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา ‘ทำไมสื่อจึงไม่สนใจตรวจสอบนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อ สนช.’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ เปิดเผยถึงผลการศึกษา ‘สื่อกับการตรวจสอบนโยบายรัฐบาล’ ว่า จากการศึกษาโทรทัศน์ทีวีดิจิตอล 6 ช่อง จาก 2 ประเภทใบอนุญาต คือ ประเภทบริการ ได้แก่ ไทยพีบีเอส และประเภทบริการธุรกิจ หมวดข่าวสารและสาระ ได้แก่ ว๊อยซ์ ทีวี, เนชั่น, สปริงนิวส์, ทีเอ็นเอ็น 24 และนิวทีวี เกี่ยวกับการทำหน้าที่ตรวจสอบของสื่อมวลชนและหน้าที่สื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตย ด้านการวิเคราะห์ ตีความ การเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และการตั้งคำถามแทนสาธารณะ
โดยมีข้อสรุปว่า ช่องไทยพีบีเอส และทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารและสาระยังทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ตีความประเด็นด้านนโยบายรัฐบาลทั้ง 11 ด้าน ไม่เต็มที่ มีการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นไม่หลากหลาย ขาดการสะท้อนเสียงหรือความเห็นของประชาชนที่มีต่อนโยบายรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ขณะที่การตั้งคำถามอย่าง ‘ถามแทนประชาชน’ ผอ.โครงการมีเดียมอนิเตอร์ ระบุว่า เป็นไปในลักษณะเพื่อให้อธิบายขยายความและการถามต่อยอดเพื่อความมั่นใจหรือตรวจทาน แต่โดยมากมักเป็นการตั้งคำถามในนโยบายที่เป็นข่าวหรือมีความเคลื่อนไหวจากกระทรวงต่าง ๆ เช่น ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจ หรือตั้งคำถามถึงแผนการปฏิบัติงานของรัฐบาลในภาพรวม แต่ไม่มีการตั้งคำถามหรือสัมภาษณ์ความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกลุ่มอื่น ๆ ในเชิงลึกเท่าที่ควร (อ่านประกอบ: 'มีเดียมอนิเตอร์' พบไทยพีบีเอส-5 ช่องข่าวดิจิตอล ตรวจสอบ11 นโยบาย รบ. 'ไม่เต็มที่')
นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม ผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวถึงสาเหตุที่สื่อไม่ใส่ใจต่อการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า เกิดจากกองบรรณาธิการข่าวมีความระมัดระวังในการนำเสนอหรือแสดงความคิดเห็นเนื้อหาข่าวมากขึ้น เพราะขณะนี้สถานการณ์อยู่ในภาวะไม่ปกติ ดังนั้นสื่อจึงเลือกจะนำเสนอเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมามากกว่าการนำความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายออกอากาศ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์สด ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายและน่ากังวล ด้วยบทสนทนาบางช่วงอาจไม่สะท้อนความจริง แต่อาจสะท้อนเจตนาภายในของผู้ต้องการสื่อ สถานการณ์จึงบีบให้สื่อต้องทำหน้าที่อยู่ในกรอบไว้ก่อน
“สื่อมีหน้าที่นำเสนอข่าว แต่อย่ากลัวเกินไป จะต้องลองยื่นมือไปก่อนว่าสายสิญจน์อยู่ตรงไหน หากแตะแล้วไม่ร้อน ให้ยื่นมือเข้าไปเรื่อย ๆ แตะร้อนเมื่อไหร่ก็จะมีคำเตือนมาเอง เพราะเจอสายสิญจน์แล้ว อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ภายในของไทยรัฐมีความชัดเจน เราไม่มีวาระเป็นการส่วนตัว เชื่อผู้ควบคุมอำนาจทราบดี”
ผอ.ฝ่ายบรรณาธิการ ไทยรัฐทีวี กล่าวด้วยว่า เวลานี้ผู้บริหารกองบรรณาธิการทุกคนต้องคิดจะนำเสนอข่าวอย่างไรภายใต้กรอบคำสั่ง คสช. โดยให้ประชาชนรับรู้เรื่องราวมากพอที่จะตรวจสอบได้ว่า 1 ปี หลังจากนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ฉะนั้น สัดส่วนการนำเสนอนโยบายรัฐบาลจึงมีค่อนข้างน้อย การแสดงความคิดเห็นแทบไม่มี ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนหรือนักวิชาการ ทั้งนี้ หากมีการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างสื่อกับรัฐ สื่อก็จะทำหน้าที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
ด้านนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ไม่ปกติภายในประเทศมีส่วนทำให้สื่อต้องทำหน้าที่อย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งหากศึกษาย้อนไปในอดีตทุกรัฐบาล ผลการศึกษาคงไม่แตกต่างกัน ทั้งที่ทราบว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลทุกชุดสำคัญที่สุด พอ ๆ กับการเลือกตั้ง แต่ช่องทีวีอาจคิดหนักเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวนโยบายอย่างไรให้น่าสนใจ
“ผลการศึกษาครั้งนี้กลายเป็นคำถามตกมาที่สื่อต้องนำมาคิดอย่างมาก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เถียงไม่ได้ แม้จะศึกษาเพียงระยะเวลาสั้น ระหว่างวันที่ 12-19 กันยายน 2557 แต่สิ่งเหล่านี้สะท้อนต่อบทบาทที่สื่อต้องหันกลับมาทบทวนตนเอง” นายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ กล่าว และว่า การทำข่าวนโยบายยาก ไม่มีความตื่นเต้น ไม่มีคำพูดหวือหวา แต่เป็นเรื่องสำคัญที่สื่อต้องทำให้มีความหมายกับประชาชน เพื่อให้เกิดความสนใจ ติดตาม และอยากมีส่วนร่วม ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายมาก
นายเทพชัย กล่าวต่อว่า ภายใต้การปฏิรูปประเทศจะเห็นสื่อมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ก็มักเกิดคำถามถึงความหมายที่แท้จริงของเสรีภาพ หากสื่อนำไปใช้เพียงเพื่อสอบถามนักวิชาการให้วิจารณ์รัฐบาลหรือจัดเวทีให้ผู้มีความคิดเห็นต่างมาวิจารณ์คงไม่ได้ ฉะนั้นต้องมีเสรีภาพสร้างการตรวจสอบผู้มีอำนาจอย่างเป็นระบบ สาระ คุณค่า และคนในสังคมเข้าใจในความหมาย
ทั้งนี้ สื่อต้องยอมรับความจริงและไม่ปฏิเสธข้อจำกัด ทำให้ต้องให้น้ำหนักเรื่องที่คนสนใจมากกว่าคนควรจะสนใจ เพราะฉะนั้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ขอเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปความเป็นวิชาชีพสื่อ เกิดการตรวจสอบผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น และเมื่อมีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ สื่อจะมีเสรีภาพเต็มที่ในการตรวจสอบ ดังนั้นองค์กรวิชาชีพต้องทำเรื่องนี้ให้สำคัญ เพื่อยกระดับบทบาทและช่วยสังคม รู้เท่าทันสื่อ นักการเมือง และผู้มีอำนาจ จะได้ไม่ต้องมีกฎหมายซับซ้อนหรือองค์กรอิสระมากมาย โดยเฉพาะความตื่นรู้ของประชาชนจะเป็นตัวตรวจสอบ
ขณะที่นายเชิดชาย มากบำรุง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวถึงแนวทางการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลไม่เต็มที่ว่า ช่วงสัปดาห์แรกภายหลังรัฐบาลแถลงนโยบายอาจวางแผนไม่ครบถ้วนว่าจะจับหรือตั้งต้นจากจุดไหน ฉะนั้นจึงเลือกนำเสนอภาพรวม ไม่เจาะจงนโยบายใด เป็นอันดับ 1 รองลงมา นโยบายเศรษฐกิจ และการศึกษา พร้อมยอมรับยังมีอีกหลายนโยบายไม่ได้นำเสนอ ดังนั้น ผลการศึกษาที่ออกมาทำให้สถานีต้องกลับไปทบทวนมากขึ้น
“ไทยพีบีเอสมีนโยบายตรวจสอบรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เน้นวิเคราะห์ภาพรวม ดังเช่น รายการเสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป เพื่อประมวลข้อเสนอกลไกภาคประชาชน 7-8 เวที” ผช.ผอ.สำนักข่าว ไทยพีบีเอส กล่าว และว่า สื่อได้ทำหน้าที่ตรวจสอบสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย และความเห็นที่หลากหลายจำเป็นต้องให้ทุกคนต้องมีโอกาสแสดงความคิดเห็นออกมา
นายเชิดชาย กล่าวด้วยว่า การนำเสนอความคิดเห็นเปรียบได้กับการต้มน้ำในกา ความร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากปิดกรวยกา ไอน้ำออกไม่ได้ ตั้งคำถามว่าสักวันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสิ่งที่ไทยพีบีเอสพยายามทำ คือ การเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีโอกาสแสดงความคิดเห็น เสนอความต้องการออกมา เพื่อให้เกิดความเห็นหลากหลายและจับต้องได้ ส่วนมุมมองนักวิชาการจะนำเสนอในรายการตอบโจทย์ ที่นี่ไทยพีบีเอส และชั่วโมงทำกิน .