อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมาย(พิเศษ)เป็น...เกราะป้องกันการละเมิดสิทธิที่ชายแดนใต้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่เคียงคู่มากับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จนแทบจะแยกกันไม่ออกก็คือ การใช้ “กฎหมายพิเศษ” นานาชนิดของฝ่ายความมั่นคงที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็น “หัวหอก”
“กฎหมายพิเศษ” ที่ว่านี้หมายถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นพิเศษ” ในการตรวจค้น จับกุม คุมขัง สอบสวน และตรวจสอบหาหลักฐานนอกเหนือจากที่ให้ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ทั้งนี้เพื่อแก้ไข ควบคุม หรือยุติปัญหาหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ (ซึ่งโดยนัยยะที่ถูกต้องย่อมหมายถึงความมั่นคงของประชาชน)
ที่ผ่านมา “กฎหมายพิเศษ” ที่ใช้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักถูกพูดถึงและเข้าใจว่ามีเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดูเหมือนจะประกาศใช้สำหรับปัญหาภาคใต้เป็นการเฉพาะเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วในพื้นที่นี้มีกฎหมายพิเศษประกาศซ้อนบ้างไม่ซ้อนบ้างกันอยู่ถึง 3 ฉบับ ได้แก่
- พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศในอำเภอและจังหวัดชายแดนอยู่แต่เดิมแล้ว
- พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศตั้งแต่เดือน ก.ค.2548 ในพื้นที่ จ.ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปัจจุบันยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี 1 อำเภอเพราะยกเลิกไปแล้วในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 บังคับใช้ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ของ จ.สงขลา รวมทั้ง อ.แม่ลาน ที่ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้วด้วย
การบังคับใช้กฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับนี้ ไม่ได้มีเฉพาะตัวบทกฎหมายหลากหลายมาตราที่ประชาชนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเท่านั้น (เพราะโดยหลักแล้วประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้) แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ออกประกาศ ระเบียบ คำสั่ง และแนวปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกจำนวนหลายฉบับ ซึ่งระเบียบ คำสั่ง และแนวปฏิบัติจำนวนไม่น้อยที่มีผลบังคับใช้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
และดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า หลักคิดของการใช้ “กฎหมายพิเศษ” ก็เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ “เป็นกรณีพิเศษ” ในการล่วงล้ำสิทธิของ “ปัจเจกบุคคล” มากกว่าปกติ ด้วยหวังรักษาสิทธิและความปลอดภัยของ “สาธารณะ” ฉะนั้นประชาชนจึงควร “เรียนรู้และเข้าใจ” กฎหมายพิเศษ ตลอดจนประกาศ ระเบียบ คำสั่งต่างๆ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือเกินกว่ากฎหมายกำหนดของเจ้าหน้าที่รัฐบางราย
ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็ควร “เรียนรู้และเข้าใจ” ทั้งกฎหมายและประกาศ ระเบียบ คำสั่งต่างๆ โดยเฉพาะ “แนวปฏิบัติ” เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน ป้องกันการเกิดปัญหาบานปลายประเภท “น้ำผึ้งหยดเดียว” ตามมา
ด้วยเหตุนี้ โครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงรวบรวมกฎหมายพิเศษ ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง และแนวปฏิบัติต่างๆ จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ระเบียบ คำสั่ง และแนวปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่” เผยแพร่แจกจ่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมกฎหมายพิเศษ ระเบียบ คำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ที่บังคับใช้กฎหมายโดยตรง โดยเน้นกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับคือกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งประกาศใช้ในพื้นที่มานานกว่า 7 ปีและ 6 ปีตามลำดับ เพราะที่ผ่านมาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎระเบียบที่มีอยู่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือระเบียบหรือไม่ ทั้งๆ ที่การปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรง
ยกตัวอย่างเช่น การออกหมายจับ การยกเลิกหมายจับ การค้นตัว ค้นบ้าน การควบคุมตัว การเยี่ยม การพบทนายความ การรายงานตัว การซักถาม การปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัว การปฏิบัติต่อผู้ถูกเชิญตัวที่มีหมายจับ ป.วิอาญา เป็นต้น
“เท่าที่ทราบผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษมีหลายหน่วย ทั้งทหารหลัก ทหารพราน ตำรวจ ตชด. (ตำรวจตระเวนชายแดน) รวมถึงหน่วยปฏิบัติงานด้านการข่าวและด้านความมั่นคงอื่นๆ เจ้าหน้าที่หลายส่วนยังไม่เคยได้อ่านหรือได้รับการอบรมเกี่ยวกับระเบียบเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ ทำให้มีการปฏิบัติที่แตกต่าง สร้างความสับสนให้นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง”
“ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องพวกนี้ แต่เราพิจารณาจากชาวบ้านบางส่วนและผู้นำชาวบ้านที่สามารถอ่านออกเขียนได้ และผ่านการอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษมาแล้ว พบว่าสามารถดูแลคุ้มครองสิทธิของตนเองและคนในชุมชนได้ระดับหนึ่ง เราจึงตัดสินใจจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะอย่างน้อยก็สามารถศึกษาแนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานได้ว่าอะไรที่ปฏิบัติได้ อะไรที่ปฏิบัติไม่ได้ หรือมีแนวทางอย่างไร เช่น บันทึกจับกุม บันทึกการค้น เป็นต้น”
พรเพ็ญ บอกว่า อยากให้กฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และคำสั่งต่าๆ ที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเอกสารเปิดเผย เพราะจะทำให้ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย (เจ้าหน้าที่) และชาวบ้านที่ต้องถูกกระทบสิทธิ ได้รับรู้และเข้าใจในสิทธิ และบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย อันจะเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิของชาวบ้านได้ หรือใครที่ถูกละเมิดก็มีแนวทางกำหนดว่าใครถูกใครผิด ใครควรปรับปรุงแก้ไข
“ชาวบ้านเองเมื่อรู้กฎหมายและระเบียบเหล่านี้แล้วก็จะมีความสบายใจว่าอย่างน้อยสิ่งที่เจ้าหน้าที่ขอให้ร่วมมือ เช่น การลงชื่อในบันทึกจับกุม บันทึกการค้น มีกฎหมายบังคับอยู่ ไม่ใช่การหลอกลวงหรือเป็นการบังคับให้เซ็น ชาวบ้านก็จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าตนต้องปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช้ดุลยพินิจหรืออำนาจของตนเกินขอบเขต”
“หลักๆ ก็คือเป็นหนังสือกฎหมายให้นักกฎหมาย อัยการ ศาล ทนายความ รวมทั้งตำรวจ ทหารทุกส่วนรู้ว่ามีข้อตกลงร่วมกันตามกฎหมาย ทุกคนรู้ใช่หรือไม่ ต้องปฏิบัติตามใช่หรือไม่ แล้วทำไมถึงไม่ทำตาม ทำไมใช้ดุลยพินิจเป็นอย่างอื่น ทำไมใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายให้ไว้ หนังสือเล่มนี้จะเป็นเครื่องมือในการอบรมอาสาสมัครนักกฎหมายและอบรมประชาชนในพื้นที่ต่อไปด้วย” ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมเข้าถึงความยุติธรรมฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ
จากการรวบรวมกฎหมายพิเศษ ตลอดจนประกาศ ระเบียบ และคำสั่งต่างๆ มาแยกแยะให้เห็นกันชัดๆ พรเพ็ญ ยังพบว่า มีระเบียบและคำสั่งบางส่วนของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงเหล่านั้นขัดกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนหรือมีมาตรฐานการคุ้มครองที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
“จริงๆ รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิหรือให้การคุ้มครองเอาไว้สูงกว่า แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบและการประกาศใช้กฎหมายพิเศษทำให้เกิดข้อยกเว้น แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ต้องตระหนักด้วยว่า มีสิทธิบางประการที่ห้ามยกเว้น เช่น ห้ามซ้อมทรมาน ห้ามตัดขาดการติดต่อกับบุคคลภายนอก ฉะนั้นการห้ามเยี่ยมไม่สามารถทำได้ รวมทั้งการบันทึกรายชื่อบุคคลต้องสงสัยไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐ ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ด้วย เรื่องต่างๆ เหล่านี้คงต้องอาศัยการรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจและแก้ไขกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิประชาชนต่อไป” พรเพ็ญ กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทรศัพท์ 02-6934939 หรือดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/nwFU0D
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษเช่นกัน
2 ปกหนังสือ กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ระเบียบ คำสั่ง และแนวปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่