"ภาณุ"ประชุมสรุปปัญหาฮัจญ์ เดินหน้าแก้กฎหมายยกเครื่องดูแลผู้แสวงบุญ
"การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เกิดปัญหาขึ้นทุกปี แต่ไม่สำคัญเท่ากับว่าปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไข"
เป็นคำกล่าวของ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ปี 2557 ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ท่าทีแบบนี้สร้างความหวังให้กับพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการเดินทางไปแสวงบุญมีปัญหาทุกปี แม้ส่วนใหญ่ของปัญหาไม่ได้มาจากรัฐ แต่มาจากผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "แซะห์" ก็ตาม ทว่าเมื่อรัฐขยับจะจัดการปัญหา ความหวังเรืองรองย่อมเกิด
นายภาณุ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ถือเป็นเรื่องดีที่มีความคืบหน้า เพราะตัวแทนจากสำนักจุฬาราชมนตรี คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ไปยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524
"กฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอปรับแก้ให้เท่าทันกับปัญหายุคปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งเรื่องของโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนี้ทราบว่าประธาน สนช.รับเรื่องไว้แล้ว รวมถึงตัวผมเองในฐานะสมาชิก สนช.ซึ่งเป็นคนปัตตานี และอีกหลายคนที่เป็นสมาชิก สนช.ได้นำเรื่องเข้าสู่สภา"
"ถ้าเราได้แก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ ผมเชื่อว่าจะสามารถขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผู้แสวงบุญจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะมีคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาดูแล ส่วนจะไปสังกัดที่ไหน ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ศอ.บต. สำนักจุฬาราชมนตรี หรือที่ไหนก็แล้วแต่ หรือจะเป็นคณะกรรมการชุดพิเศษก็ได้ แต่เชื่อว่านั่นคือคำตอบของการดูแลผู้แสวงบุญ"
"อยากขอให้มั่นใจว่าปัญหาฮัจญ์จะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้าได้แก้ไขกฎหมายเรียบร้อย ทั้งในแง่ของการดูแลความสะดวก ระบบการจัดการ การเดินทางไป หน่วยแพทย์พยาบาล และหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นและดีขึ้นต่อไป"
3 ปัญหา 2 ทางแก้
สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่พบ จากการรวบรวมข้อมูลของกองกิจการฮัจญ์ ศอ.บต.นั้น ได้แก่ กรณีการออกวีซ่าล่าช้าในเทศกาลฮัจญ์ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการจัดเที่ยวบิน การเช่าที่พัก และการบริหารจัดการในเรื่องการอำนวยความสะดวก โดยเหตุปัจจัยของการออกวีซ่าล่าช้ามาจาก
1.การออกแบบระบบการออกวีซ่าของทางการซาอุดิอาระเบีย ไม่ครอบคลุมข้อจำกัดของข้อมูลผู้แสวงบุญ เช่น กรณีหนังสือเดินทางของผู้แสวงบุญไม่มีวัน เดือนเกิด มีเพียงปีเกิด หรือการพิมพ์นิ้วมือแทนลายเซ็น ปรากฏว่าระบบไม่สามารถอ่านและตอบรับข้อมูลได้ ต้องใช้เวลาในการปลดล็อค
2.การออนไลน์รายชื่อผู้ขอวีซ่า ซึ่งผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ได้ออนไลน์รายชื่อผู้แสวงบุญนอกระบบเข้าไปในระบบของกรมการศาสนา แต่ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อดังกล่าว ทำให้จำนวนของการขอวีซ่าคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จำนวนที่ปรากฏจึงมากกว่าจำนวนโควตาที่ได้รับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย
3.การออกวีซ่าล่าช้าทำให้ผู้ที่ได้รับวีซ่าล่าช้ายกเลิกการเดินทาง และต้องเพิ่มชื่อจากบัญชีสำรองจนถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะปิดทำการออกวีซ่า
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ
1.ศอ.บต.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแจ้งขอให้สำนักงานทะเบียนอำเภอเพิ่มวัน เดือนเกิด ในทะเบียนบ้าน เพื่อทำบัตรประชาชนใหม่ และนำไปทำหนังสือเดินทาง แล้วฝึกฝนการลงลายมือชื่อแทนการพิมพ์ลายนิ้วมือ
2.กรมการศาสนาต้องเป็นผู้ควบคุมพาสเวิร์ดในการออนไลน์รายชื่อผู้ขอวีซ่า (การขอ Mofa) แทนผู้ประกอบการ โดยประสานกับสถานทูตซาอุอาระเบียประจำประเทศไทย
ผู้แสวงบุญขอบคุณ ศอ.บต.
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ได้เปิดให้ผู้แสวงบุญในโครงการส่งเสริมคนดีมีคุณธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แสดงความคิดเห็นและบอกเล่าความรู้สึก ซึ่งส่วนใหญ่ได้ขอบคุณ ศอ.บต.ที่ทำให้ได้โอกาสไปประกอบพิธีฮัจญ์ เช่น ดร.อับดุลเลาะ อาบูบากา รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ที่บอกว่าการได้เดินทางไปประกอบพิธีทางพิธีฮัจญ์ถือว่าบรรลุเป้าประสงค์อย่างแท้จริง เป็นอะไรที่สุดของที่สุด ไม่มีความสุขไหนจะเทียบเท่าได้ เพราะสิ่งที่ได้รับคือความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความรู้สึกที่เปรียบออกมาเป็นคำพูดไม่หมด
นายอับดุลเลาะ เบ็ญญากาจ หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ได้โควตาฮัจญ์ของ ศอ.บต. กล่าวว่า ได้มีโอกาสไปซึมซับบรรยากาศของคำว่า "ชาวสวรรค์" ถึงความสะอาดที่หลุดพ้นจากบาป เราได้สัมผัสมาด้วยตัวเองแล้ว สิ่งที่เป็นความมุ่งหวังร่วมกัน คืออยากให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ คงไม่ไกลกว่าที่เราคาดหวัง
"ผมขอบคุณ ศอ.บต.ที่ให้โอกาสพวกเราทุกคน และผมได้รับเสียงชื่นชมจากท่านเลขาธิการ ศอ.บต.ถึงผู้ที่เดินทางไปฮัจญ์ปี 2557 ผมรู้สึกตื้นตันมาก การไปฮัจญ์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราสามารถจัดการแนวทางไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ เชื่อว่าท่านเลขาธิการ ศอ.บต.และคณะ สามารถเปลี่ยนแปลงฮัจญ์ของพี่น้องมุสลิมให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากกลไกสำคัญของการดำเนินกิจการฮัจญ์มีเพียง 3 ส่วนหลักๆ คือ กรมการศาสนา บริษัทหรือผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ และผู้นำฮัจญ์ หรือแซะห์"
นายอับดุลเลาะ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะพี่น้องในพื้นที่ว่า ทำไมค่าใช้จ่ายฮัจญ์ไทยต่อคนถึงมีราคาสูงกว่าค่าใช้จ่ายฮัจญ์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย ผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญมีค่าใช้จ่าย 130,000 บาท ประเทศอินโดนิเซีย อยู่ที่ 120,000 บาท ในขณะที่ฮัจญ์ไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 180,000 บาท อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาที่พัก ความเป็นอยู่ที่แย่กว่าพี่น้องที่มาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงอยากเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องควบคุมผู้ประกอบการ เน้นหลักการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนมากขึ้น เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการฮัจญ์
"ขอชื่นชม ศอ.บต.ที่ได้พยายามแก้ไขปัญหา เสมือนปัญหาถูกปลดล็อคแล้วบางส่วน และจะดีอีกเรื่อยหลังจากนี้" ผู้สื่อข่าวจากชายแดนใต้ ระบุ
ขณะที่ นางซีตีเยาะ ญาติของผู้แสวงบุญที่ได้โควตาจาก ศอ.บต.เช่นกัน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพี่น้องมุสลิมต้องประสบปัญหามาโดยตลอด เพราะการเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แต่ครั้งนี้ต้องขอชื่นชมภาครัฐ โดยเฉพาะ ศอ.บต.ที่ได้เข้ามาแก้ปัญหาหลายด้าน ทำให้รู้สึกว่าปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วๆ มา และเชื่อว่าถ้ารัฐลงมาช่วยดูแลเช่นนี้ ผู้ประกอบการฮัจญ์จะเอาเปรียบชาวบ้านไม่ได้
"การเตรียมแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ ที่เลขาธิการ ศอ.บต.ได้แจ้งเป็นข่าวดี ถือว่าเป็นเรื่องดีของพี่น้องในสามจังหวัด และขอให้การแก้ไขกฎหมายสามารถนำไปสู่การลดปัญหาผู้ประกอบการเอาเปรียบชาวบ้านให้ได้มากที่สุด" นางซีตีเยาะ กล่าวในที่สุด
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ซ้าย) นายภาณุ อุทัยรัตน์
2 บรรยากาศในการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ขอบคุณ : ภาพทั้งหมดโดยทีมประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.
อ่านประกอบ :
1 "ผลประโยชน์"อ้างหลักศาสนา สารพัดปัญหาของผู้แสวงบุญฮัจญ์
2 ฟังเสียง "แซะห์" แจงปัญหาฮัจญ์ - "ภาณุ" รุดเยี่ยม "ผู้แสวงบุญ"