เปิดชื่อ-ดูเหตุผล 201 อาจารย์-นศ. ทำไมต้องเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการ
“…มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สุดท้ายที่เหลืออยู่ในเวลานี้ ที่จะเยียวยาและฟื้นฟูความไว้วางใจทางสังคมที่ตกต่ำอย่างมากจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ผ่านมา หากปราศจากความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคมแล้ว การปฏิรูปไม่อาจจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่แท้จริงได้…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : หนังสือเปิดผนึกของ 201 อาจารย์-นักศึกษา ถึงประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ขอให้คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการภายในมหาวิทยาลัย
----
เรียน ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
เรื่อง การเรียกร้องให้คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการที่กำลังถูกคุกคามในรั้วมหาวิทยาลัย
ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นแหล่งปัญญาของประเทศ และเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างหลักประกันให้กับอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับประชาชนทั้งประเทศ มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนที่ห่วงใยในอนาคตบ้านเมือง จะสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องหวาดกลัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศกำลังก้าวเข้าสู่บรรยากาศของการปฏิรูป กระบวนการปฏิรูปต้องมาจากเสียงที่หลากหลายไม่ใช่จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น
แม้ว่าผู้บริหารประเทศในขณะนี้จะกล่าวอ้างถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูป แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้บริหารประเทศกลับใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ สั่งมหาวิทยาลัยห้ามจัดกิจกรรมทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนกล่าวได้ว่า ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยถูกคุกคามเสรีภาพมากเท่าในปัจจุบัน
ในระยะที่ผ่านมา มีการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยในหลายรูปแบบ อาทิ ในเดือนกันยายน 2557 ทหารสั่งให้นักศึกษาและคณาจารย์ที่จัดการประชุมทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต ยุติการประชุมทางวิชาการ พร้อมเชิญนักวิชาการและนักศึกษาจำนวนหนึ่งไป “ปรับทัศนคติ” และสั่งให้คนเหล่านั้นลงชื่อยืนยันว่าจะไม่ร่วมหรือมีการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีก
ต่อมามีการสลายการรวมตัวของนักศึกษาที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมเสวนาในวันที่ 15 และ 22 พฤศจิกายน 2557 รวมไปถึงการที่ทหารเข้าไปแสดงอำนาจในเครื่องแบบพร้อมอาวุธในสถานศึกษาบางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ทหารสามารถข่มขู่ทั้งอาจารย์และนักศึกษาและผู้ปกครองนักศึกษากลุ่มดาวดินว่า “จะสั่งให้มหาวิทยาลัยลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา” แสดงให้เห็นว่า นอกจากมหาวิทยาลัยไม่สามารถใช้กระบวนการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการให้นักศึกษาพ้นสภาพนักศึกษาอันถือเป็นกระบวนการยุติธรรมในมหาวิทยาลัยตามที่ควรเป็น
ด้วยหลักการที่มหาวิทยาลัยต้องดำรงความเป็นอิสระทางปัญญา การตรวจสอบกิจกรรมทางวิชาการทำได้ตามหลักของจริยธรรมทางวิชาการเท่านั้น มหาวิทยาลัย จึงต้องถูกสงวนให้เป็นพื้นที่ปลอดจากการใช้อาวุธและกำลังบังคับ
มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สุดท้ายที่เหลืออยู่ในเวลานี้ ที่จะเยียวยาและฟื้นฟูความไว้วางใจทางสังคมที่ตกต่ำอย่างมากจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ผ่านมา หากปราศจากความเชื่อมั่นของผู้คนในสังคมแล้ว การปฏิรูปไม่อาจจะไปสู่จุดหมายปลายทางที่แท้จริงได้
พวกเราในฐานะกลุ่มคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร ในสถาบันอุดมศึกษามีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถรักษาความเป็นอิสระของพื้นที่แห่งปัญญาเอาไว้ได้ และรู้สึกถึงหน้าที่ที่จะต้องยืนยันในหลักการสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะต้องยึดมั่น นั่นคือ
1.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักศึกษา นักวิชาการทุกคนมี ประกอบด้วย เสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมตัว เสรีภาพในการศึกษา เสรีภาพในการสอน เสรีภาพในการวิจัยและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการตีพิมพ์ และเสรีภาพในการจัดกิจกรรมทางวิชาการนอกห้องเรียน อันเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างบุคลากรที่รับผิดชอบต่อสังคม
2.เสรีภาพทางวิชาการ เป็นทั้งเป้าหมายโดยตัวมันเอง และเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งของสถาบันการศึกษาที่จะให้การบริการกับสังคมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผ่านทางการเรียนการสอน การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และการสร้างความคิดที่เป็นอิสระและการแสดงออกให้แก่นักศึกษาและนักวิชาการ
3.รัฐมีหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนรวมถึงเสรีภาพทางวิชาการ และเป็นองค์กรที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
4.ผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง มีหน้าที่คุ้มครอง และปกป้องเสรีภาพจากการถูกคุกคามและแทรกแซงใด ๆ การที่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรในมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเอง ต้องขออนุมัติจัดกิจกรรมที่ คสช. เห็นว่าเป็น “ภัยต่อความมั่นคงและนำไปสู่ความขัดแย้ง” โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะการจัดกิจกรรมใดๆ เป็นดุลยพินิจและการตัดสินใจบนหลักการพื้นฐานเป็นของมหาวิทยาลัยเอง ฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องมีความกล้าหาญที่จะไม่ใช้มาตรการจำกัดตนเอง (Self-Censorship)
5.การที่นักศึกษาและนักวิชาการบางกลุ่มริเริ่มกิจกรรมทางสังคม ให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นการทำหน้าที่รับผิดชอบทางสังคมของมหาวิทยาลัยอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีตามความคาดหวังของสังคม มิได้มีนัยของการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปประเทศแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การแปลงให้ความคับข้องใจของสังคมที่กำลังขยายตัวออกไปทุกเมื่อ มาสู่การพูดคุยด้วยเหตุผล เพื่อแสวงหาทางออกนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศในตัวเอง
พวกเราที่ลงนามในหนังสือฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ดำเนินการดังนี้
1.แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยการยืนยันในหลักการเสรีภาพทางวิชาการทั้งของสถาบันและของบุคลากร
2.ปกป้องไม่ให้มีการแทรกแซงและคุกคามโดยไร้เหตุผลจากผู้ถืออำนาจรัฐในขณะนี้
3.เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมรับความเป็นอิสระในการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยในกิจกรรมทางวิชาการของบุคลากรและนักศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องยอมรับการออกคำสั่ง ของ คสช. ที่ทำให้นักศึกษาและบุคคลากรในมหาวิทยาลัยตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว
4.ส่งเสริมให้นักศึกษาและคณาจารย์รวมถึงบุคลากรในสถาบันการศึกษาได้ใช้เสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ไม่ใช่กลุ่มอำนาจใด ๆ โดยเฉพาะ
5.การแสดงจุดยืนทางการเมืองของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่ควรส่งผลไปถึงการใช้มาตรการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่แตกต่างหลากหลายของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเด็นสำคัญเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
ขอแสดงความนับถือ
รายชื่อผู้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
อ่านประกอบ : 201 อาจารย์-นศ.ทั่วประเทศทำหนังสือร้อง ปธ.ทปอ.คุ้มครองเสรีภาพวิชาการ