สสค.เผยผลสำรวจภาระงานนอกห้องเรียนดึงเวลาครู ทิ้งการสอนถึง 42%
นักปฎิรูปควรฟัง ตารางชีวิตครูอัดแน่น เริ่มไม่สุข สสค.เผยผลสำรวจ 1 ปี มีวันเปิดเรียน 200 วัน 84 วันหมดไปกับกิจกรรมภายนอกห้องเรียนมากกว่าสอน
วันที่ 9 ธันวาคม 2557 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดงานแถลงข่าว “คลี่ตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี เสียงสะท้อนจากครูที่นักปฏิบัติต้องฟัง” ณ อาคาร ไอบีเอ็ม ชั้น 13 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กรุงเทพ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวถึงการสำรวจภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครูว่า การสำรวจดังกล่าวเป็นการสะท้อนสถานการณ์การทำงานของครูภายใต้ระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน โดยสำรวจครูผู้ได้รับรางวัลครูสอนดีจาก สสค. ที่มีอายุเฉลี่ยและวิริยะฐานะสูงกว่าครูทั่วไปกระจายตัวครอบคลุมโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 427 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 กันยายนถึง 15 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่า ใน 1 ปี มีจำนวนวันเปิดเรียนทั้งหมด 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนเฉพาะวันธรรมดาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42%
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนที่ครูต้องใช้เวลามากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1.การประเมินของหน่วยงานภายนอกเฉลี่ย 43 วัน ทั้งการประเมินโรงเรียน ประเมินครู และประเมินนักเรียน โดยครูใช้เวลาไปกับการประเมินของหน่วยงานต้นสังกัดในโครงการต่างๆ 18 วัน การประเมินของสถาบันทดสอบ 16 วัน และการประเมินของสมศ. 9 วัน 2. การแข่งขันทางวิชาการ 29 วัน และ3. การอบรมจากหน่วยงานภายนอก 10 วัน
"ครูส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่ส่งผลดีต่อการเรียนการสอน ได้แก่ การแข่งขันทางวิชาการ การประเมิน O-NET การอบรม และการประเมินการอ่าน ส่วนกิจกรรมที่ครูส่วนใหญ่เห็นว่า ส่งผลเสียต่อการเรียนการสอนคือ การประเมินโรงเรียนโดยสมศ. การอบรม และการประเมินอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานประเมินที่ครูส่วนใหญ่อยากให้มีการปรับปรุงมากที่สุดคือ สมศ. 98% รองลงมาคือเขตพื้นที่ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1.7% โดยเสนอให้ปรับปรุงวิธีการประเมินที่เน้นผลลัพธ์ของเด็กมากกว่าเอกสารและลดภาระการประเมินลง"
ดร.ไกรยส กล่าวถึงเสียงสะท้อนของครูส่วนใหญ่ต้องการคืนครูสู่ห้องเรียนและลดภาระงานของครูที่ไม่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยลดภาระการประเมินด้านเอกสารลง และควรจัดอบรมในเนื้อหาที่ครูต้องการในช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น
ที่น่าสนใจคือครูมากกว่า 90% เห็นว่า หากโรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการด้านวิชาการ การบริหารงบประมาณและการบริหารบุคคลจะมีส่วนสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอน ของครู โดยเงื่อนไขสำคัญของการกระจายอำนาจการบริหารจัดการเรียนการสอนให้ประสบผล สำเร็จคือ การมีส่วนร่วมของครู คุณภาพของผู้บริหาร การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนและนักเรียน
ด้านรศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เสียงสะท้อนของครูที่นักปฏิรูปต้องฟังจากผลสำรวจครูในประเทศของเรายังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในระดับที่ดี คือใช้เวลากับการสอนในชั้นเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ชั่วโมง/วัน แต่ครูกำลังถูกกดดันและเริ่มไม่มีความสุข เพราะภาระงานนอกห้องเรียนที่ดึงเวลาครูออกไปถึง 42% ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องให้ความสนใจว่าเหตุใดคุณภาพการศึกษาถึงไม่ดีขึ้น
นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวถึงงานวิจัยขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของ สหรัฐอเมริกา ในปี 2555 ได้ศึกษาเวลาของครูที่ใช้ในห้องเรียนของ 5 ประเทศได้แก่ เอธิโอเปีย สาธารณรัฐกัวเตมาลา ฮอนดูรัส โมซัมบิก และเนปาล พบว่า เมื่อครูถูกดึงออกนอกห้องเรียนที่ไม่เกี่ยวกับการสอนไป 20-30% จะมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก โดยมีผลกระทบต่อโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก สมาธิของเด็กต่อเนื้อหาและผลคะแนนของเด็กลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“กิจกรรม การประเมินภายนอกทั้งครู โรงเรียน และนักเรียนกว่า 20 โครงการที่ครูไทยต้องใช้เวลาถึง 43 วันต่อปี และยังมีเสียงสะท้อนจากครูว่า มีการเรียกรับสินบนจากการประเมิน นอกจากนี้ยังมีภาระการทำเอกสาร การอบรม และงานสัมมนา ทำให้งานสอนมีแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และเขตพื้นที่จึงไม่ควรสร้างภาระงานที่กระทบต่อการสอน ต้องทบทวนว่ากิจกรรมเหล่านี้เกิดประโยชน์ไปถึงตัวเด็กหรือไม่ ผลการประเมินเหล่านี้ถูกนำกลับไปใช้พัฒนาการสอนของครูให้ดีขึ้นหรือไม่”รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ขณะที่ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การผลการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การศึกษาไทยยังขาดข้อมูลและการวงแผนการศึกษา ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ซึ่งโจทย์แรกที่เร่งดำเนินการทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ... ดำเนินการเสร็จ จึงต้องเตรียมการและวางแผนรื้อระบบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ควรปรับระบบการการการประเมินครูที่ไม่ยึดติดกับผลงานวิชาการหรือการเลื่อน ขั้นวิริยะฐานะ แต่ให้เน้นที่ผลลัพธ์ทางการศึกษาของนักเรียน อีกทั้งการคัดเลือกบุคลากรควรแสวงหาแนวทางที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันยังพบว่า มีช่องว่างที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ และบุคลากรที่ทำหน้าที่ประเมินก็ต้องหาวิธีการปรับปรุงเช่นเดียวกันและท้าย ที่สุดลดภาระงานเอกสารของครูให้น้อยลง เนื่องจากเป็นปัญหาทำให้ไม่มีเวลาสอนนักเรียนมากเท่าที่ควรจะเป็น โดยการแก้กฎหมายบางฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานทั้งระบบ
ด้านสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สมศ.) นั้น ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า ควรทบทวนบทบาทหน้าที่ขององค์กรใน 3 ประเด็น 1. เรื่องมาตรฐานตัวบ่งชี้ที่ไม่สะท้อนคุณภาพ 2.มาตรฐานผู้ประเมินที่ไม่สอดคล้อง และ 3. ลดภาระเอกสารให้แก่ครู และท้ายที่สุดปรับปรุงสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ( สทศ.) ในการจัดหารูปแบบการสอบที่เป็นการพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก มากกว่าการวัดผลให้ชี้วัดทางคุณภาพ