ทวงถามคืบหน้า 15 คดีดัง ‘ประมนต์’ ชงแก้กม. ทุจริตตามหลัก UNCAC
วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ‘องค์กรต้านโกง’ ตั้งโต๊ะทวงถามความคืบหน้า 15 คดีโกง ห้ามกะพริบตา ‘คดีไร่ส้ม-พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์-จม.น้อยศาลปกครอง ‘ประมนต์’ เผยเตรียมแก้ไขกม.ทุจริตไม่มีอายุความตามอนุสัญญา UNCAC ‘ธวัชชัย’ จี้ ป.ป.ช.สางคดีใหญ่ จับปลาวาฬก่อนปลาซิวปลาสร้อย
วันที่ 9 ธันวาคม 2557 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดแถลงข่าว ‘ทวงถามความคืบหน้าคดีโกงที่ประชาชนสนใจ’ เนื่องในโอกาสวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายคดีที่อยู่ในกระแสที่ประชาชนสนใจ แต่การดำเนินงานยังล่าช้า โดยเท่าที่สามารถรวบรวมและยกตัวอย่าง 15 คดี แบ่งเป็น 1.คดีที่รอคำอธิบาย ได้แก่ ไมโครโฟนทองคำ ป้ายโฆษณาป้อมจราจร สนามฟุตซอล โกงลำไย คดีคลองด่าน และรถหรู
2.คดีที่คาราคาซัง คาใจ ได้แก่ ทุจริตจำนำข้าวทั้งระบบ กรณีนางจุฑามาศ ศิริวรรณ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ทุจริตการก่อสร้างโรงพัก และโครงการไทยเข้มแข็ง
3.คดีที่รออัยการ ได้แก่ กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
4.คดีที่ต้องไม่กะพริบตา ซึ่งให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ กรณีบริษัทไร่ส้ม ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรณีพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกรณีจดหมายน้อยของเลขาธิการศาลปกครอง
โดยจากการเฝ้าติดตามคดีสำคัญต่าง ๆ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุว่า มักใช้ขั้นตอนปกติในการตัดสินที่ยาวนานมากร่วม 10 ปี ในชั้นการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้เวลา 2-5 ปี ขั้นตอนอัยการถึงศาล 1-2 ปี และขั้นตอนศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ใช้เวลา 6-8 ปี หากเป็นคดีที่มีนักการเมืองเกี่ยวข้องใช้ขั้นตอนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก 1 ปี
"คดีไร่ส้ม เข้าสู่กระบวนการของ ป.ป.ช.ปี 2550 โดยชี้มูลความผิดปี 2555 และอัยการมีความเห็นส่งฟ้องเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557" นายประมนต์ กล่าว เเละว่าส่วนคดีในตำนาน ทุจริตคลองด่าน ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ปี 2542 และชี้มูลความผิดปี 2550 ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน ปี 2551 ใช้เวลานานถึง 9 ปี คดีถึงสิ้นสุด
นายประมนต์ ยังกล่าวว่า จากตัวอย่างกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ทำให้คนโกงไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ซึ่งยังไม่นับรวมคดีเล็ก ๆ อีกมากมาย และประชาชนไม่ได้รับข่าวสารในความคืบหน้าของคดี ดังนั้นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ อยากเห็นความถูกต้องเกิดขึ้นในสังคม ทำให้ทุกคดีโกงถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด มีคำตอบให้แก่สังคม และคนไทยในวันนี้ต้องไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงความคืบหน้าของคดีให้ประชาชนทราบและดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด
“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะรวบรวมข้อมูลทั้ง 15 คดี เสนอต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เพื่อเร่งรัดและให้เกิดการตัดสินคดี โดยเฉพาะคดีผู้มีฐานะทางสังคมสูงหรือมีอำนาจ (Big Fish) หากไม่นำคนผิดระดับสูงมาลงโทษได้ คนระดับอื่นก็จะเกรงกลัวกฎหมายน้อยลง”
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายให้คดีคอร์รัปชันไม่มีอายุความ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังศึกษาข้อตกลงระหว่างประเทศตามภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption - UNCAC) ให้ไทยแก้ไขกฎหมายสอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของนานาชาติ โดยให้ขยายอายุความมากน้อยตามความร้ายแรงของคดี
ทั้งนี้ เดิมไทยกำหนดอายุความไว้ยาวนานสุด 15 ปี หากปฏิบัติตามอนุสัญญาจะส่งผลให้คดีใหญ่ ๆ มีอายุความยาวนานขึ้นเป็น 25 ปี นอกจากนี้จะไม่นับอายุความของคดีกรณีผู้กระทำผิดหลบหนีไปต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังไม่มีข้อสรุป จนกว่าจะมีการปรึกษาหารือกันก่อน แต่ยืนยันความชัดเจนคดีคอร์รัปชันต้องไม่มีอายุความ
ด้านนายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวถึงกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International:TI) ประกาศผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 2557 ว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศ จากเดิมอันดับที่ 102 อย่าเพิ่งดีใจ เพราะเมื่อดีขึ้นก็แย่ลงได้ ดังนั้นต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิตด้านการต่อต้านคอร์รัปชันให้มากขึ้น
“ประเทศอื่นที่มีภาพลักษณ์คอร์รัปชันดีขึ้นด้วยการจับปลาตัวใหญ่ โดยตัดสินคดีสำคัญให้ประชาชนเห็นชัดเจน แม้จะมีเพียงไม่กี่คดี แต่ก็ทำให้ปลาตัวเล็กหายไปได้” รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว และว่า ยุคปฏิรูปต้องบัญญัติการปราบปรามคอร์รัปชันไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน และออกกฎหมายลูกขึ้นมารองรับ เพื่อเป็นกลไกภาคกฎหมาย เกิดรูปแบบกระบวนการให้การปฏิบัติดีขึ้น
ขณะที่นายธวัชชัย ยงกิตติคุณ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า ผลการตัดสินคดีต่าง ๆ ของไทยยัง ‘สอบตก’ ซึ่งหากไม่ปรับปรุงเชื่อว่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันจะต่ำลงในอนาคต เพราะต่างประเทศจะมองการปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง มิได้มองเฉพาะกระบวนการ
ส่วนการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา ขอชื่นชมที่ทำงานหนักภายใต้งบประมาณจำกัด แต่ยังไม่พอใจ เพราะตัดสินได้เฉพาะ ‘คดีปลาซิวปลาสร้อย’ โกงไม่กี่แสนบาท แต่คดีที่โกงพันล้านหมื่นล้านกลับยังจับกุมไม่ได้
“ต้องยึดแบบอย่างประเทศเกาหลี อินโดนีเซีย และจีน ที่หันมาตัดสินคดีใหญ่ ๆ จริงจัง” กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าว และว่า การปราบปรามการคอร์รัปชันจะไม่สำเร็จ หากไม่จับ ‘ปลาวาฬ’ มัวจับแต่ปลาซิวปลาสร้อย
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า การตัดสินคดีหลายครั้งยังเกิดคำถามค้างคาใจ จึงวิงวอนอย่าให้เรื่องเงียบหาย คดีต่าง ๆ ที่ขึ้นศาลต้องไม่จบลงที่ทำให้เราคาใจ หรือจบแบบฝืนความรู้สึก เราไม่ควรอดทนกับเรื่องเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว
"คนอื่นมาเมืองไทยมองเราอย่างไร เขามองคนไทยขี้โกง ถ้าท่านไม่อาย ผมอาย จึงต้องหันมาสร้างกระแสให้คนไทยตื่นตัวและติดตามคดีต่าง ๆ ให้จบลงด้วยความยุติธรรมเเละโปร่งใส" .