"จอห์น- วิญญู" : โกงก็คือโกง ผิดก็คือผิด ควรถูกลงโทษเท่ากัน
“ความจริงนักการเมืองไม่ได้เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ แต่เกิดมาจากคนในสังคมผลิตและสร้างนักการเมืองเหล่านั้นขึ้นมา เราอยู่ในสังคมแบบไหนเราก็ได้นักการเมืองแบบนั้น”
พิธีกรหนุ่มหล่อฝีปากกล้าแห่งรายการเจาะข่าวตื้นจอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ร่วมแสดงทัศนะเรื่องถึงการต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ในงานแถลงข่าวผลสำรวจความซื่อตรงของนักศึกษามหาวิทยาลัย ณ โรงแรมอมารี วอร์เตอร์เกต (ประตูน้ำ) ชั้น 8 ห้องอยุธยา จัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
คำถามแรก มุมมองต่อผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2557 ที่ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน หรืออยู่อันดับที่ 85 ซึ่งเป็นอับดับที่ดีกว่าปีที่แล้ว นั่นหมายความว่าการทุจริตในบ้านเราเริ่มน้อยลงและน่าจะมีอนาคตที่ดีขึ้นหรือไม่
จอห์น วิญญู ออกตัวก่อนว่า เขาไม่ได้เก่งหรือรู้อะไรมากมายเพียงแต่การทำรายการที่ผ่านมาทำให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านี้และได้สัมภาษณ์คนทำกิจกรรมด้านการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นมากพอสมควร จึงพอจะมีข้อมูลมาร่วมแลกเปลี่ยนได้บ้าง
เขาเห็นว่า แม้คะแนนดัชนีชี้วัดจะดีขึ้นแต่สิ่งกลัวและกังวล คือ การเข้าถึงความโปร่งใส เข้าถึงข้อมูล ทำได้อย่างไร เพราะปัจจุบันแม้แต่การจะตั้งคำถาม ก็กลายเป็นเรื่องน่ากลัวไปเสียแล้ว ตรงนี้เป็นความกังวลมากกว่าว่าจะตั้งคำถามอะไรได้ไหม หรือการตรวจสอบข้อมูลต่างๆประชาชนไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้มากเท่าที่ควร
“คนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูล มีสิทธิตั้งคำถาม และไม่พอใจได้ ความแฟร์และความเจ๋งของระบบประชาธิปไตยคือทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิทธิในการตั้งคำถามกับคนที่เอาเงินภาษีของเราไปใช้ ซึ่งเป็นสิทธิที่เราควรจะทำได้”
เขายกตัวอย่างกรณีคดีองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในรายการเจาะข่าวตื้นที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ออนไลน์ว่า ไม่ได้ตั้งใจจะบอกว่าคดีนี้ใครเป็นต้นเหตุของการคอร์รัปชั่น แต่ต้องการจะชี้ว่า คอร์รัปชั่นครั้งนี้ทำให้ประเทศสูญเงินเป็นจำนวนมาก และไม่ได้จะชี้ว่าใครเป็นคนผิด เพียงต้องการนำเสนอข้อมูลให้คนดูตัดสิน และตอนนี้หากฟังข้อมูลไปแล้วใครจะลุกขึ้นมาโวยวายก็คงจะลำบากเพราะคดีหมดอายุความไปแล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมีการค้นพบว่า คณะกรรมการตรวจสอบจะมีกลุ่มผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือองค์กรที่มีปัญหาอยู่ในคณะกรรมการการตรวจสอบด้วยและจะเป็นกลุ่มบุคคลที่เห็นเอกสาร ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะเป็นความลับสุดยอด ลับที่สุด ลับชนิดที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้เลย
จอห์น วิญญู แสดงความเห็นว่า เวลาสังคมเกิดปัญหาทุกครั้งเราจะมองหาพระเอก นางเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วย ซึ่งปัญหาคอร์รัปชั่นสดๆร้อนๆที่เกิดขึ้น มีพระเอกถือปืนออกมาช่วยแก้ไข จุดนี้ก็ต้องมองว่า วิธีการดังกล่าวจะแก้ไขได้หรือไม่ได้
"ผมก็ไม่ได้ชี้ว่า อะไรถูกหรือว่าอะไรผิด"
ส่วนผลการศึกษาล่าสุดที่เด็กมองว่า การใช้เส้นสายหรือการทุจริตเป็นเรื่องปกติ พิธีกรฝีปากกล้า ยิงคำถาม โดยให้คนฟังลองมองย้อนดูตัวเอง หรือถามกับตัวเองว่า ถ้าเป็นพวกเราทำแบบนั้นหรือเพื่อนในกลุ่มเดียวกันทำแบบนั้น เช่น เพื่อนสามารถเอาเฉลยข้อสอบออกมาได้ แล้วแชร์ข้อมูลมาถึงเรา เรากลับมองเรื่องนั้นว่าเพื่อนเจ๋ง หรือเปล่า
หรือแต่ถ้าเขาโกงแล้วได้คะแนนมากกว่าเรา ก็จะเกิดการไม่พอใจ แล้วเราก็จะมองว่าการทำแบบนั้นผิด
“มองในทางกลับกันการที่จะมาจี้มาชี้บอกว่า คนนั้นทำผิดทำไม่ถูก ในขณะที่ตัวเองก็ทำผิด ก็เหมือนกับงูกินหางไปเรื่อยๆ ผมอยากให้ทุกคนยอมรับมาตรฐานในแบบเดียวกัน แข่งขันกันแบบยุติธรรม ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็มีระบบพวกพ้อง มีระบบแดนไกล ระบบอุปถัมภ์ โกงก็คือโกง ผิดก็คือผิด และควรถูกลงโทษแบบเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เป็นฝั่งหนึ่งฝั่งใด”
พิธีกรรายการเจาะข่าวตื้น ยังเปรียบเทียบการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่หวังให้นักกฎหมายออกกฎหมายที่ดีที่สุด ให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายที่โกงได้ยากขึ้น นั้น ก็คล้ายๆกับผู้ชายเจ้าชู้ที่หนีภรรยาไปเที่ยว เมื่อถูกจับตามองมากขึ้นก็จะหาวิธีหนีมากขึ้นจับได้ยากขึ้น
ทุกอย่างอยู่ที่เราต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือการเลือกตั้งจะไปแค่จิ้มโหวตแล้วมอบอำนาจให้นักการเมืองเลย หลังจากนั้นไม่สนใจติดตามแล้ว เที่ยว ดูหนัง ใช้ชีวิตตามสบาย ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบ
“ผมไม่ได้จะบอกให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำอะไร แต่แค่ต้องการจะชี้ว่า อย่างน้อยเราควรติดตามข่าวสารให้มากขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง อะไรที่เขาทำไม่ถูกใจก็ไปแสดงออกในคูหาว่า ถ้าทำไม่ดีจะไม่เลือกทำแค่นี้นักการเมืองก็เกรงกลัวไปเอง แต่เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา หลายคนมีความอดทนน้อย อยากแก้ปัญหาสังคมต้องให้เวลาในการแก้ไข”
ส่วนกรณีมีคนจำนวนมากส่งเสริมให้เยาวชน "โตไปไม่โกง" เขามองว่า ไม่ใช่ว่าจะใช้ไม่ได้ผล แต่ต้องใช้เวลาปลูกฝังไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี แล้วทัศนคติเหล่านั้นก็จะโตมากับเด็ก รวมถึงสังคมต้องร่วมแก้ไขด้วย
ความจริงนักการเมืองไม่ได้เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ แต่เกิดมาจากคนในสังคมผลิตและสร้างนักการเมืองเหล่านั้นขึ้นมา เราอยู่ในสังคมแบบไหนเราก็ได้นักการเมืองแบบนั้น ไม่ใช่มาชี้หน้าว่า ใครผิดที่สุด
“ผมเชื่อว่า ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องโกงมากเท่าไหร่นัก จะบอกว่า สังคมตอแหลก็ดูจะแรงเกินไป น่าจะเป็นสังคมไม่ยอมรับความจริงมากกว่า คือเชื่อว่า ทุกคนก็มีความคอร์รัปชั่นเล็กๆอยู่ในตัวเองเหมือนกัน สังคมไทยต้องเป็นสังคมยอมรับความจริง ผมเองก็เคยโกง เคยโกงข้อสอบ โกงแล้วตก โกงไม่เก่ง พอโตมาก็ถามตัวเองโกงไปทำไม ไม่ได้อยากเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานว่าพอมีปัญหาสังคมต้องแก้แบบไหน จริงๆแล้วทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเราเอง”
ทั้งนี้เขายังมองว่า การจัดกิจกรรมสัมมนาโดยการร่วมกลุ่มกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทุจริตแล้วมีการนำข้อมูลมาถกมาเถียงสู้กันด้วยข้อมูลข่าวสารก็จะช่วยขยายผลไปได้ช่องทางหนึ่ง แต่ปัจจัยหนึ่งที่อาจจะทำให้คนในสังคมมองเป็นเรื่องไกลตัวและไม่เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากปัจจุบันนี้หลายคนประสบความลำบากกับปัญหาทางเศรษฐกิจ เกิดการดิ้นรนเรื่องปากท้อง ทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกมองว่า เป็นปัญหาส่วนรวมไม่ใช่ปัญหาของฉัน "แค่นี้ก็จะไม่มีกินอยู่แล้วจะให้ออกมาโวยวายเรียกร้องอะไรให้สังคมอีก"
ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือทุกคนควรจะเสพข่าวสารให้มากๆ มีส่วนร่วมในการถกเถียงให้มาขึ้นอาจจะเริ่มต้นภายในครอบครัวก่อน แล้วค่อยขยายผลมาสู่หมู่บ้าน ชุมชน และต้องมีความอดทนกับเรื่องนี้ให้มากๆ บางคนไม่เอาไม่ทนบอกไม่ได้ผลแล้วเราก็วนกลับมาสู่จุดเดินซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ต้านโกง ดูยังริบหรี่
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมา จอห์น วิญญู มีโอกาสสัมภาษณ์ข้าราชการ นักการเมืองชื่อดังหลายคน เขาเล่าวว่า ทุกครั้งที่ไปสัมภาษณ์ไม่เคยมองบุคคลเหล่านั้นขาวสะอาด 100%เลย ดังนั้นหากจะมีแขกรับเชิญบางคนที่กำลังเป็นข่าวดังเรื่องคอร์รัปชั่นในขณะนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราอยู่ในสังคมที่ผลิตคนเหล่านั้นออกมา
การรณรงค์ต่อต้านการโกงที่ผ่านมาจะพอเห็นแสงสว่างบ้างหรือไม่ พิธีกรชื่อดัง บอกว่า ก็พอเห็นแสงสว่างบ้าง แต่ดูยังริบหรี่ คือมีแสงสว่างแต่ไม่มาก อาจจะไม่ได้เป็นแบบที่หลายคนหวัง เพราะปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบ คนส่วนใหญ่จะวุ่นอยู่กับการหาวิธีดำรงชีวิตให้อยู่รอด จึงอาจจะไม่ได้โฟกัสเรื่องการเมือง การแก้ปัญหาสังคมมากเท่าที่ควร
สุดท้ายจากประสบการณ์ที่ทำสื่อออนไลน์ เขาเห็นว่า ช่องทางนี้จะทำให้ประชาชนได้มีการแลกเปลี่ยน ถกเถียง แบ่งปันข้อมูล และน่าจะเป็นความหวังแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะจับตามมองคนที่เอารัดเอาเปรียบและเรียนรู้ที่จะใช้พลังอำนาจของโซเชียลมีเดียมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องส่งเสริมให้สังคมเปิดกว้างในการเรียนรู้เรียน ถกเถียง และยอมรับความจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
UNDP เผยนศ.เข้าใจความซื่อตรง แต่ยอมรับ 60% จ่าย-ใช้เส้นเรื่องปกติ