ถึงคิวชำแหละงบกสทช.3.3พันล.! เฉพาะค่าจ้างที่ปรึกษา329ล.พิรุธเพียบ!
"เอ็กซ์คลูซีฟ" (3): ถึงคิวชำแหละละเอียดงบ กสทช. ปี 2556 ยอดค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน พุ่ง 1,859.72 ล้าน เฉพาะค่าจ้างที่ปรึกษา 329 ล้าน เจียดเงินส่งเสริม-สนับสนุนวัตถุประสงค์กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ แค่ 2 ล้าน -สตง.ตรวจพบพิรุธเพียบ!
ในการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2556 ที่จัดทำโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของสำนักงาน กสทช. จำนวน 3,311.81 ล้านบาท ประจำปี 2556 ว่า นำไปใช้จ่ายตามภารกิจงานใดบ้างไว้อย่างละเอียด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไล่เลี่ยงข้อมูลทั้งหมดมานำเสนอ ณ ที่นี้
ประการที่ 1 สตง. ระบุว่า งบประมาณจำนวน 3,311.81 ล้านบาท ถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่าย จำนวน 8 ส่วน หลัก คือ
1. ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร จำนวน 1,009.96 ล้านบาท
2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 1,859.72 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค จำนวน 49.98 ล้านบาท
4. ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 254.44 ล้านบาท
5. ค่าใช้จ่ายสนับสนุนเพื่อการศึกษา วิจัยและพัฒนาโทรคมนาคมฯ จำนวน 106.11 ล้านบาท
6. ค่าใช้จ่ายในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1.8 GHz จำนวน 19.50 ล้าน บาท
7. ค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสนับสนุนวัตถุประสงค์กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ จำนวน 2.10 ล้าน บาท
8. เงินสมทบกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา(กระทรวงศึกษาธิการ) 10 ล้าน บาท
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานปี 2556 จำนวน 3,311.81 ล้านบาท พบว่าประเภทค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 56.15 จากปี 2555 ตามด้วยค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ในสัดส่วนร้อยละ 30.50 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสนับสนุนเพื่อการศึกษา วิจัยและพัฒนาโทรคมนาคมฯ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.21 และค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสนับสนุนวัตถุประสงค์กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.06 เท่านั้น
(ดูตารางประกอบ)
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน |
2556 |
2555 |
||
จำนวนเงิน |
ร้อยละ |
จำนวนเงิน |
ร้อยละ |
|
1. ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร |
1,009.96 |
30.50 |
803.50 |
30.85 |
2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน |
1,859.72 |
56.15 |
1,430.85 |
54.95 |
3. ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค |
49.98 |
1.51 |
47.33 |
1.82 |
4. ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย |
254.44 |
7.68 |
215.52 |
8.28 |
5.ค่าใช้จ่ายสนับสนุนเพื่อการศึกษา วิจัยและพัฒนาโทรคมนาคมฯ |
106.11 |
3.21 |
81.87 |
3.14 |
6.ค่าใช้จ่ายในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1.8 GHz |
19.50 |
0.59 |
- |
- |
7.ค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสนับสนุนวัตถุประสงค์กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ |
2.10 |
0.06 |
- |
- |
8.เงินสมทบกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา(กระทรวงศึกษาธิการ) |
10.00 |
0.30 |
25.00 |
0.96 |
รวม |
3,311.81 |
100.00 |
2,604.07 |
100.00 |
ที่มาข้อมูล : จากงบการเงินของกลุ่มงานการคลัง |
ประการที่ 2 โดยในส่วนงบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ที่ใช้งบมากที่สุด จำนวน 1,859.72 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในภารกิจ 8 ด้าน คือ
1. ค่าจ้างที่ปรึกษา 329.54 ล้านบาท
2. ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ 291.12 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ 250.26 ล้านบาท
4. ค่าจ้างเหมาบริการ 186.82 ล้านบาท
5. ค่าเช่า 138.10 ล้านบาท
6. ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม 130.08 ล้านบาท
7. เงินบริจาคและการกุศล 103.82 ล้านบาท
8. อื่น ๆ 429.98 ล้านบาท
(ดูตารางประกอบ)
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน |
2556 |
2555 |
||
จำนวนเงิน |
ร้อยละ |
จำนวนเงิน |
ร้อยละ |
|
1. ค่าจ้างที่ปรึกษา |
329.54 |
17.72 |
106.84 |
7.47 |
2.ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ |
291.12 |
15.65 |
113.67 |
7.94 |
3. ค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ |
250.26 |
13.45 |
206.57 |
14.44 |
4. ค่าจ้างเหมาบริการ |
186.82 |
10.05 |
161.71 |
11.30 |
5. ค่าเช่า |
138.10 |
7.43 |
107.54 |
7.52 |
6.ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม |
130.08 |
7.00 |
112.84 |
7.89 |
7. เงินบริจาคและการกุศล |
103.82 |
5.58 |
245.40 |
17.15 |
8. อื่น ๆ |
429.98 |
23.12 |
376.28 |
26.29 |
รวม |
1,859.72 |
100.00 |
1,430.85 |
100.00 |
จากตารางแสดงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานดังกล่าว พบว่า ค่าจ้างที่ปรึกษามีการเบิกจ่ายสูงเป็นอันดับ 1 ค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์มีการเบิกจ่ายสูงเป็นอันดับ 2 และมีค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศมีการเบิกจ่ายสูงเป็นอันดับ 3
สำหรับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในปี 2556 จำนวน 429.98 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าเบี้ยประชุมกรรมการ ค่าจ้างบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและสัมมนา และค่าวัสดุเป็นหลัก
ประการที่ 3 สำหรับข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าจ้างที่ปรึกษาเป็นค่าใช้จ่ายที่มีการจ่ายสูงสุดเป็นอันดับแรก คิดเป็นร้อยละ 17.72 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในปี 2556 สตง. พบว่า สำนักงาน กสทช. ได้เบิกจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาเป็นจำนวนเงิน 329.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2555 จำนวน 222.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 208.44
จากการตรวจสอบสัญญาค่าจ้างที่ปรึกษาที่มีจำนวนเงินเกิน 3.00 ล้านบาท จำนวน 25 สัญญา คิดเป็นเงิน 368.06 ล้านบาท พบว่า มีการระบุในสัญญาจ้างที่ปรึกษาที่รวมการศึกษาดูงานในต่างประเทศจำนวน 4 สัญญา เป็นเงิน 53.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.67 ของสัญญาจ้างที่ปรึกษาที่ตรวจสอบตัวอย่าง กรณีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิจัยแนวทางการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนในประเทศไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามใบสั่งจ้างเลขที่ พย.(ป)(มส.) 144/2556 ลงวันที่ 27 กันยายน 2556 วงเงินตามสัญญาจำนวน 9.99 ล้านบาท (รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.65 ล้านบาท) มีรายละเอียดดังนี้
รายการ |
จำนวนเงิน |
ร้อยละ |
1. ค่าตอบแทนบุคลากร |
4,670,000.00 |
49.98 |
2. ค่าใช้สอยและการดำเนินการ |
2,175,000.00 |
23.27 |
3.ค่าใช้จ่ายเดินทางดูงานต่างประเทศ 2 ประเทศ |
2,000,000.00 |
21.40 |
4. ค่าธรรมเนียม ร้อยละ 5 |
500,000.00 |
5.35 |
รวม |
9,345,000.00 |
100.00 |
ตารางแสดงรายละเอียดค่าจ้างที่ปรึกษาไม่รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกตามประเภท
ข้อสังเกต
1. จากตารางดังกล่าวจะพบว่า สัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแนวทางการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงบริการชุมชนในประเทศไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กลับรวมรายการค่าใช้จ่ายไปดูงานในต่างประเทศถึง 2 ประเทศ เป็นผลให้ค่าใช้จ่ายจ้างที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นอีก 2,000,000.00 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.40
ดังนั้น การกำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้มีการเดินทางไปดูงานในต่างประเทศรวมกับสัญญาจ้าง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศตามที่ปรากฏในบัญชีจำนวน 250.26 ล้านบาท แสดงค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจหมายถึงการบิดเบือนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่อาจไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไม่สะท้อนประโยชน์จากผลงานทางวิชาการของที่ปรึกษาอย่างแท้จริงมารวมทำให้ค่าจ้างที่ปรึกษาสูงเกินความจำเป็นอีกด้วย ซึ่งหากนำค่าใช้จ่ายเดินทางดูงานต่างประเทศจำนวน 53.98 ล้านบาท ไปรวมกับค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศตามบัญชีจำนวน 250.26 ล้านบาท จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศสูงเป็นจำนวนเงินถึง 304.24 ล้านบาท
การดำเนินการดังกล่าวจึงอาจบ่งบอกถึงความจงใจที่จะมิให้มีการแสดงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศตามข้อเท็จจริง
จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่าเมื่อนำค่าใช้จ่ายเดินทางดูงานต่างประเทศหักออกจากค่าจ้างที่ปรึกษา และนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปรวมกับค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ผลการเปรียบเทียบจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญ กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอันดับแรกในกลุ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทันที
2. จากการตรวจสอบสัญญาจ้างที่ปรึกษาที่มีจำนวนเงินเกิน 3.00 ล้านบาท พบว่า บางสัญญาดำเนินการโดยเชิญที่ปรึกษาเพียงรายเดียวยื่นข้อเสนอและขอบเขตในการดำเนินการ เช่น สัญญาเลขที่ พย.(ป)18/2555 โครงการการกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมในประเทศไทย จำนวนเงิน 10.00 ล้านบาท และ สัญญาเลขที่ พย.(ป)(พท.)128/2556 จ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาการพัฒนาระบบเตือนภัยจากการแพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จากสถานีโทรศัพท์เคลื่อนที่เกินกำหนดโดยภาคประชาชน จำนวนเงิน 7.90 ล้านบาท ทำให้สำนักงาน กสทช. เสียโอกาสในการเปรียบเทียบคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านคุณภาพและด้านราคา ที่จะทำให้สำนักงาน กสทช. ได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งอาจเป็นการเปิดโอกาสในการเอื้อประโยชน์ให้รายใดรายหนึ่งโดยง่าย
3. ระเบียบ กทช. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจ้างที่ปรึกษาที่มิใช่ที่ปรึกษาด้านออกแบบและควบคุมงาน ที่ระบุให้จ้างโดยวิธีตกลงโดยมีวงเงินไม่จำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 83 ซึ่งกำหนดให้การจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลงให้กระทำได้ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ต่อไปนี้
(1) เป็นการจ้างที่มีค่างานจ้างไม่เกิน 100,000 บาท
(2) เป็นการจ้างเพื่อทำงานต่อเนื่องจากงานที่ได้ทำอยู่แล้ว
(3) เป็นการจ้างในกรณีที่ทราบแน่ชัดว่าผู้เชี่ยวชาญในงานที่จะให้บริการตามที่ต้องการมีจำนวนจำกัด ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการด้วยวิธีคัดเลือก และเป็นการจ้างที่มีค่างานจ้างไม่เกิน 2,000,000 บาท
(4) เป็นการจ้างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นใดที่มีกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีให้การสนับสนุน ให้ดำเนินการจ้างได้โดยตรง
จะเห็นได้ว่า สำนักงาน กสทช. ขาดความรัดกุมในการพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งหากมีการเชิญที่ปรึกษาเพียงรายเดียวในการยื่นข้อเสนอและขอบเขตการดำเนินการ จะทำให้สำนักงาน กสทช. เสียโอกาสในการเปรียบเทียบกับรายอื่น ๆ และอาจมีค่าจ้างที่ปรึกษาที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณงาน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงเกินความจำเป็น และอาจก่อให้เกิดช่องทางในการเอื้อประโยชน์ในที่สุด
ข้อเสนอแนะ
1. ในการกำหนดเงื่อนไขในการจ้างที่ปรึกษาขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการว่างจ้างพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการเพิ่มเงื่อนไขสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายจ้างที่ปรึกษาสูงเกินไปและทำให้ผู้บริหารของสำนักงาน กสทช. นำข้อมูลค่าใช้จ่ายไปวิเคราะห์อย่างผิดพลาดส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณในปีต่อ ๆ ไป
นอกจากนี้เพื่อให้การจ้างที่ปรึกษาเป็นไปอย่างคุ้มค่า สมประโยชน์ ขอให้เลขาธิการ กสทช. สั่งการให้มีการรวบรวมผลงานในการจ้างที่ปรึกษาไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อจะได้นำมาใช้ในการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. และการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมต่อไป
2. ขอให้ทบทวนระเบียบ กทช. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2548 และระเบียบ กทช. ว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการจ้างที่ปรึกษา โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจ้างที่ปรึกษาวิธีตกลงและเงื่อนไขที่สามารถเชิญที่ปรึกษาเพียงรายเดียวทั้งข้อเสนอและขอบเขตในการดำเนินงาน
(ตอนหน้าว่าด้วยเรื่อง งบค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ กสทช.)
อ่านประกอบ:
เปิดหมดค่าใช้จ่าย11กสทช.ปี 56 เบ็ดเสร็จ117.55 ล.-"เศรษฐพงค์"ครองแชมป์
เปิดค่าเช่ารถหรูประจำตำแหน่งกสทช. 11.2 ล. "ธเรศ"ปธ.ใช้BENZ 1.1 ล.
สตง.ชำแหละกสทช.ฉบับเต็ม! พบจัดซื้อวิธีพิเศษพุ่ง1.3พันล. หวั่นเอื้อทุจริต