เปิดหมดค่าใช้จ่าย11กสทช.ปี 56 เบ็ดเสร็จ117.55 ล.-"เศรษฐพงค์"ครองแชมป์
"เอ็กซ์คลูซีฟ" (2): เปิดหมด ค่าใช้จ่าย 11 กสทช. ประจำปี 2556 เบ็ดเสร็จ 117.55 ล้าน เผยค่าตอบแทนต่อปี 36.31 ล. บินตปท. 61.57 ล. ค่ารับรอง 7.52 ล. "เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ" ครองแชมป์เบิกจ่ายอันดับหนึ่งเพียบ -สตง.ไล่บี้สอบหลายรายการ
ในรายงานประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2556 ที่จัดทำโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการระบุผลการตรวจสอบค่าใช้จ่ายของ กรรมการ กสทช. จำนวน 11 ราย พบว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินรวม 117.55 ล้านบาท
แยกเป็น ค่าตอบแทนต่อปีจำนวน 36.31 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเดินทางในประเทศจำนวน 0.94 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศจำนวน 61.57 ล้านบาท ค่าเช่ารถประจำตำแหน่งจำนวน 11.21 ล้านบาท และค่ารับรองจำนวน 7.52 ล้านบาท
แสดงรายละเอียดตามตาราง ดังนี้
รายชื่อ |
ค่าตอบแทน ต่อปี |
คชจ.เดินทางในประเทศ |
คชจ.เดินทางต่างประเทศ |
ค่าเช่ารถ ประจำตำแหน่ง |
ค่ารับรอง |
รวมทั้งสิ้น |
|
1. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี |
4,030,200.00 |
47,917.43 |
7,263,252.00 |
1,194,000.00 |
885,146.78 |
13,420,516.21 |
|
2. พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ |
3,228,000.00 |
- |
5,517,250.00 |
1,086,000.00 |
763,576.43 |
10,594,826.43 |
|
3. พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ |
3,228,000.00 |
71,600.00 |
13,102,013.50 |
1,098,000.00 |
1,831,381.60 |
19,330,995.10 |
|
4. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ |
3,228,000.00 |
125,020.00 |
12,031,263.57 |
1,020,000.00 |
1,300,580.82 |
17,704,864.39 |
|
5. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ |
3,228,000.00 |
181,580.00 |
4,113,915.15 |
1,086,000.00 |
1,082,706.47 |
9,692,201.62 |
|
6. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า |
3,228,000.00 |
23,810.00 |
4,436,078.57 |
1,086,000.00 |
386,189.88 |
9,160,078.45 |
|
7. รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ |
3,228,000.00 |
197,005.00 |
1,528,769.37 |
1,086,000.00 |
303,621.48 |
6,343,395.85 |
|
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ |
3,228,000.00 |
30,915.85 |
6,088,864.29 |
1,020,000.00 |
426,342.50 |
10,794,122.64 |
|
9. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ |
3,228,000.00 |
24,558.00 |
1,526,050.00 |
468,000.00 |
71,500.61 |
5,318,108.61 |
|
10. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา |
3,228,000.00 |
93,970.00 |
629,466.67 |
972,000.00 |
98,507.75 |
5,021,944.42 |
|
11. พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร |
3,228,000.00 |
140,859.99 |
5,333,574.00 |
1,098,000.00 |
369,678.46 |
10,170,112.45 |
|
รวม |
36,310,200.00 |
937,236.27 |
61,570,497.12 |
11,214,000.00 |
7,519,232.78 |
117,551,166.17 |
|
ที่มาข้อมูล |
- ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศและค่าเช่ารถประจำตำแหน่ง จากกลุ่มงานยุทธศาสตร์และการงบประมาณ |
||||||
|
- ค่าตอบแทนต่อเดือน ค่าใช้จ่ายเดินทางในประเทศและค่ารับรอง จากกลุ่มงานการคลัง |
สตง.ยังระบุด้วยว่า จากข้อมูลที่ปรากฏจะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศจำนวนสูงมากถึง 61.57 ล้านบาท
เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า จำนวนวันที่ กสทช. รวม 11 ท่าน ใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศมีถึง 632 วัน เป็นจำนวนถึง 105 ครั้ง เมื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งพบว่ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.59 ล้านบาทต่อครั้ง
โดย กสทช. ที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ (ประธาน กทค.) จำนวนเงิน 13.10 ล้านบาท เดินทางจำนวน 18 ครั้ง โดยมีจำนวนวันที่ใช้เดินทางไปต่างประเทศทั้งสิ้น 122 วัน
และพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ จำนวนเงิน 12.03 ล้านบาท เดินทางจำนวน 20 ครั้ง โดยมีจำนวนวันที่ใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศทั้งสิ้น 129 วัน
ส่วน กสทช. ที่มีการเดินทางไปต่างประเทศสูงสุด 20 ครั้ง ระยะเวลา 129 วัน คือ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นท่านเดียวกับปี 2555 ที่มีการเดินทางไปต่างประเทศถึง 17 ครั้ง
ขณะที่ กสทช. ที่เดินทางไปต่างประเทศน้อยที่สุด ได้แก่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งเดินทางไปต่างประเทศเพียง 2 ครั้ง จำนวนเงินที่ใช้ในการเดินทางเพียง 0.63 ล้านบาท และจำนวนวันที่ใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศเพียง 8 วัน
เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของ กสทช. ที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดกับ กสทช.ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดจะพบว่า กสทช. ที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดมีค่าใช้จ่ายมากกว่าถึง 12.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.79 เท่าของค่าใช้จ่ายต่ำสุด
สตง. ยังระบุด้วยว่า จากข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของ กสทช. จำนวน 61.57 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าเบี้ยเลี้ยง จำนวน 1.41 ล้านบาท ค่าที่พัก จำนวน 14.28 ล้านบาท ค่าพาหนะ จำนวน 14.64 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายอื่น จำนวน 31.24 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายอื่นนั้นเป็นค่ารับรองและค่าใช้จ่ายที่สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดได้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศจำนวน 61.57 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศที่แสดงในงบการเงิน จำนวน 250.26 ล้านบาท
ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของ กสทช. จึงเทียบเท่าร้อยละ 24.60 ของค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศรวมทั้งสำนักงาน กสทช. หรือเกือบ 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ส่วนค่าเช่ารถประจำตำแหน่ง จำนวน 11.21 ล้านบาท ผู้ที่มีอัตราค่าเช่ารถสูงสุด 2 อันดับแรก คือ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี เป็นจำนวนเงิน 1.19 ล้านบาท พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ และพลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันคือ 1.10 ล้านบาทต่อปี ค่าเช่ารถสำหรับปี 2556 ของ กสทช. ทั้ง 11 ท่าน
(อ่านประกอบ : เปิดค่าเช่ารถหรูประจำตำแหน่งกสทช. 11.2 ล. "ธเรศ"ปธ.ใช้BENZ 1.1 ล.)
ส่วนค่ารับรอง จำนวน 7.52 ล้านบาท ผู้ที่จ่ายค่ารับรองสูงสุด 2 อันดับแรก คือ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ และพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นจำนวน 1.83 ล้านบาท และ 1.30 ล้านบาท ตามลำดับ กสทช. ที่มีค่ารับรองน้อยที่สุดได้แก่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งมีค่ารับรองจำนวน 0.07 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบค่ารับรองของ กสทช. ที่มีค่ารับรองสูงสุดกับ กสทช. ที่มีค่ารับรองต่ำสุดจะพบว่า กสทช. ที่มีค่ารับรองสูงสุดมีค่ารับรองมากกว่าถึง 1.76 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.14 เท่าของ กสทช. ที่มีค่ารับรองต่ำสุด แต่ค่ารับรองข้างต้นยังไม่รวมค่ารับรองซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศที่สำนักงาน กสทช. ได้ส่งให้ตรวจสอบไม่ได้แยกแสดงค่ารับรองจากค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 31.24 ล้านบาท และตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการจ่ายเงินค่ารับรอง พ.ศ. 2555 ข้อ 5 ระบุว่า “ค่ารับรองของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ และเลขาธิการ ให้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงภายในวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายการค่ารับรองของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ และเลขาธิการ”
เมื่อตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ซึ่งมีการตั้งงบประมาณค่ารับรองของ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ไว้ที่ 13.65 ล้านบาท ได้รวมเลขาธิการ กสทช. จำนวน 3.00 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณค่ารับรองของ กสทช. จำนวน 10.65 ล้านบาท โดยไม่สามารถระบุวงเงินงบประมาณค่ารับรองของ กสทช. แต่ละท่านได้เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณรวม
เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายของ กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 117.55 ล้านบาท จะพบว่า กสทช. ที่มีค่าใช้จ่ายรวมสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ และพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ซึ่งมีการเบิกจ่ายเป็นจำนวนเงิน 19.33 ล้านบาท และ 17.70 ล้านบาท ตามลำดับ รวม 2 ท่าน เป็นจำนวนเงิน 37.03 ล้านบาท เทียบเท่าร้อยละ 31.50 ของค่าใช้จ่ายของ กสทช. ทั้งหมด 11 ท่าน
นอกจากค่าใช้จ่ายเฉพาะ กสทช. แล้ว กสทช. แต่ละท่านยังมีกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. เพื่อช่วยดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้ซึ่งประกอบด้วยที่ปรึกษาประจำ กสทช. เลขานุการประจำ กสทช. ผู้ช่วยเลขานุการประจำ กสทช. ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. และพนักงานขับรถยนต์ประจำ กสทช. ซึ่งในปี 2556 มีค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 118.32 ล้านบาท
มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. |
เงินเดือนต่อปี |
ค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) |
ค่าเบี้ยประชุม |
ค่ารักษา พยาบาล |
คชจ. เดินทาง ในประเทศ |
รวมทั้งสิ้น |
|
1. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี |
12,948,000.00 |
1,615,000.00 |
86,750.00 |
69,705.00 |
2,800.00 |
14,722,255.00 |
|
2. พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ |
11,520,000.00 |
1,440,000.00 |
38,500.00 |
161,737.50 |
13,920.00 |
13,174,157.50 |
|
3. พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ |
10,440,000.00 |
1,304,550.00 |
44,500.00 |
67,192.00 |
117,054.00 |
11,973,296.00 |
|
4. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ |
11,400,000.00 |
1,425,000.00 |
261,000.00 |
20,767.50 |
71,935.00 |
13,178,702.50 |
|
5. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ |
9,840,000.00 |
1,162,500.00 |
98,500.00 |
143,341.50 |
349,825.00 |
11,594,166.50 |
|
6. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า |
7,980,000.00 |
995,000.00 |
22,500.00 |
23,558.25 |
26,925.00 |
9,047,983.25 |
|
7. รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ |
6,600,000.00 |
824,990.00 |
22,000.00 |
85,219.50 |
242,075.00 |
7,774,284.50 |
|
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ |
8,490,000.00 |
1,061,200.00 |
14,000.00 |
38,941.00 |
9,260.00 |
9,613,401.00 |
|
9. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ |
8,700,000.00 |
1,087,350.00 |
248,000.00 |
130,119.50 |
14,160.00 |
10,179,629.50 |
|
10. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา |
4,860,000.00 |
607,400.00 |
24,000.00 |
61,300.50 |
64,131.00 |
5,616,831.50 |
|
11. พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร |
9,780,000.00 |
1,136,500.00 |
212,500.00 |
65,910.50 |
250,900.00 |
11,445,810.50 |
|
รวม |
102,558,000.00 |
12,659,490.00 |
1,072,250.00 |
867,792.75 |
1,162,985.00 |
118,320,517.75 |
|
ที่มาข้อมูล |
- เงินเดือนต่อเดือน ค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) และค่ารักษาพยาบาล จากกลุ่มงานทรัพยากรบุคคล |
||||||
- ค่าเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายเดินทางในประเทศ จาก กลุ่มงานการคลัง |
ขณะที่ เงินเดือนของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. จำนวน 102.56 ล้านบาทต่อปี หรือ 8.55 ล้านบาทต่อเดือน เป็นเงินเดือนของผู้ที่ปฏิบัติงานให้ กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 110 คน ประกอบด้วย ที่ปรึกษาประจำ กสทช. 31 คน เลขานุการประจำ กสทช. 10 คน ผู้ช่วยเลขานุการประจำ กสทช. 20 คน ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. 40 คน และพนักงานขับรถยนต์ประจำ กสทช. 9 คน โดยมีเงินเดือนอยู่ในช่วงระหว่าง 14,000 – 120,000 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยคนละ 77,695.45 บาทต่อเดือน
สำหรับที่ปรึกษาประจำ กสทช. จำนวน 31 ท่าน พบว่านายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็น กสทช. เพียงท่านเดียวที่ไม่มีที่ปรึกษาประจำ กสทช. ซึ่งเมื่อพิจารณาจากระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการจ้างที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มิได้มีการกำหนดให้ที่ปรึกษาประจำ กสทช. ต้องลงเวลาปฏิบัติงาน จึงถูกตีความว่าที่ปรึกษา กสทช. ไม่ต้องปฏิบัติงานเต็มเวลา มีเพียงแต่การกำหนดว่าต้องอุทิศเวลาและปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับค่าตอบแทนและตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระบุว่าที่ปรึกษาประจำ กสทช. ไม่มีการบันทึกเวลาทำงานประจำวันจึงไม่สามารถระบุได้ว่าที่ปรึกษาประจำ กสทช. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งคราวหรือเป็นประจำ แต่เมื่อพิจารณาค่าตอบแทนที่ได้รับจากสำนักงาน กสทช. พบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนในอัตราเดือนละ 120,000 บาทต่อเดือน (ยกเว้นที่ปรึกษา กสทช. ประเสริฐฯ ที่มีค่าตอบแทนเดือนละ 100,000 บาท)
ค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) จำนวน 12.66 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. จำนวน 108 คน จากจำนวนผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. รวมทั้งสิ้น 110 คน โดยจ่ายในอัตรา 1.2 – 2.0 เท่าของเงินเดือน หรือเป็นจำนวนเงินในช่วง 18,000.00 – 201,600.00 บาท โดยผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) สูงสุด 2 อันดับแรก คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำพลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำพันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ เป็นจำนวนเงิน 1.62 ล้านบาท และ 1.44 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) จำนวน 12.66 ล้านบาท ได้รวมโบนัสของที่ปรึกษา กสทช. จำนวน 4.85 ล้านบาท ในอัตราเฉลี่ย 1.20 – 1.68 เท่าของเงินเดือน ซึ่ง สตง. ยังมีความเห็นที่แตกต่างกับสำนักงาน กสทช. ว่าการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) อาจขัดหรือแย้งกับระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้รายงานไว้ในรายงานประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินสำหรับปี 2555 เช่นกัน รายละเอียดค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ จำนวน 12.66 ล้านบาท
ค่าเบี้ยประชุม จำนวน 1.07 ล้านบาท เป็นค่าเบี้ยประชุมของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. ที่ได้รวมที่ปรึกษาประจำ กสทช. จำนวน 2 ท่าน คือ คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ และพลเอก ธงชัย เกื้อสกุล ที่มีค่าเบี้ยประชุมในฐานะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะจำนวน 0.48 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. ที่ได้รับค่าเบี้ยประชุมจากการเป็นคณะอนุกรรมการและคณะทำงานให้ กสทช. สูงสุด 2 อันดับ คือ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เป็นจำนวนเงิน 0.26 ล้านบาท และ 0.25 ล้านบาท ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาในภาพรวมค่าใช้จ่ายของ กสทช. แต่ละท่านกับค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. สามารถสรุปได้ดังนี้
รายชื่อ |
ค่าใช้จ่ายเฉพาะตัวของ กสทช. |
ค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน กสทช. |
รวมทั้งสิ้น ประจำ กสทช. |
1. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี |
13,420,516.21 |
14,722,255.00 |
28,142,771.21 |
2. พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ |
10,594,826.43 |
13,174,157.50 |
23,768,983.93 |
3. พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ |
19,330,995.10 |
11,973,296.00 |
31,304,291.10 |
4. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ |
17,704,864.39 |
13,178,702.50 |
30,883,566.89 |
5. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ |
9,692,201.62 |
11,594,166.50 |
21,286,368.12 |
6. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า |
9,160,078.45 |
9,047,983.25 |
18,208,061.70 |
7. รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ |
6,343,395.85 |
7,774,284.50 |
14,117,680.35 |
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ |
10,794,122.64 |
9,613,401.00 |
20,407,523.64 |
9. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ |
5,318,108.61 |
10,179,629.50 |
15,497,738.11 |
10. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา |
5,021,944.42 |
5,616,831.50 |
10,638,775.92 |
11. พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร |
10,170,112.45 |
11,445,810.50 |
21,615,922.95 |
รวม |
117,551,166.17 |
118,320,517.75 |
235,871,683.92 |
จากสรุปค่าใช้จ่ายเฉพาะ กสทช. รวมกับค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. จะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายสูงถึง 235.87 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายสูงสุด 2 อันดับแรก ยังคงเป็น พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ และพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ จำนวนเงิน 31.30 ล้านบาท และ 30.88 ล้านบาท ตามลำดับ (โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2.61 ล้านบาท และ 2.57 ล้านบาท) ส่วน กสทช. ที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด คือ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา จำนวนเงิน 10.64 ล้านบาท (โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 0.89) เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเฉพาะ กสทช. และค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. ระหว่างพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ฯ กับนายประวิทย์ พบว่าค่าใช้จ่ายของพันเอก ดร.เศรษฐพงค์ สูงกว่าถึง 2.94 เท่าของค่าใช้จ่ายของนายประวิทย์
นอกจากสำนักงาน กสทช. จะมีค่าใช้จ่ายของ กสทช. แต่ละท่านและค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. ที่มาช่วยงาน กสทช. ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. มีจำนวนสูงมากถึง 235.87 ล้านบาท แล้ว ยังตรวจสอบพบว่า กสทช. ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อช่วยในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยในปี 2556 สำนักงาน กสทช. มีคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ถึง 102 คณะ (ปี 2555 มี 75 คณะ) โดยเพิ่มจากปีก่อน 27 คณะ ซึ่งสามารถแยกพิจารณาได้ ดังนี้
• คณะอนุกรรมการมีจำนวนทั้งสิ้น 65 คณะ (ปี 2555 จำนวน 60 คณะ) มีการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมเป็นจำนวน 57 คณะ (ปี 2555 จำนวน 55 คณะ) เป็นเงิน 46.18 ล้านบาท โดยคณะอนุกรรมการที่ได้รับค่าเบี้ยประชุมสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ คณะอนุกรรมการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุคมนาคม เป็นจำนวนเงิน 2.21 ล้านบาท และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นจำนวนเงิน 2.07 ล้านบาท
• คณะทำงานจำนวน 37 คณะ (ปี 2555 จำนวน 15 คณะ) มีการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมเป็นจำนวน 28 คณะ (ปี 2555 จำนวน 15 คณะ) เป็นเงิน 3.12 ล้านบาท โดยคณะทำงานที่ได้รับค่าเบี้ยประชุมสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ คณะทำงานประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐในกิจการโทรคมนาคมและกิจการวิทยุคมนาคม เป็นจำนวนเงิน 0.61 ล้านบาท และคณะทำงานแปลพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นภาษาอังกฤษ เป็นจำนวนเงิน 0.43 ล้านบาท
รายละเอียดคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่ช่วยงาน กสทช. จำนวนรวม 102 คณะ พบการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุม จำนวนรวม 49.31 ล้านบาท
เมื่อตรวจสอบจำนวนบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานและได้รับค่าเบี้ยประชุม พบว่ามีทั้งสิ้น 932 คน (ปี 2555 ที่มีผู้ได้รับค่าเบี้ยประชุมเพียง 696 คน) ซึ่งเมื่อเฉลี่ยค่าเบี้ยประชุม จำนวนเงิน 49.31 ล้านบาท ให้กับคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน จำนวน 932 คนแล้ว จะเป็นต้นทุนค่าเบี้ยประชุมต่อหัวเท่ากับ 52,867.00 บาทต่อปี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่านอกจาก กสทช. จะมีกลุ่มคนที่เป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานแล้ว ยังมีกลุ่มที่ปฏิบัติงานประจำ กสทช. ที่ได้รับค่าเบี้ยประชุมอีกจำนวน 0.59 ล้านบาท (ไม่รวมที่ปรึกษา 2 ท่าน จำนวน 0.48 ล้านบาท) เมื่อพิจารณาจากอัตราค่าเบี้ยประชุมสำหรับบุคคลภายนอกที่ปรากฏในข้อมูลรายชื่อคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในปี 2556 ซึ่งได้เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 พบว่ามีรายชื่อของบุคคลภายนอกได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานมากกว่า 500 คน ซึ่งผู้ที่มีชื่อแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานและได้รับค่าเบี้ยประชุมตั้งแต่ 5 คณะขึ้นไปมีจำนวน 57 คน (ปี 2555 มี 20 คน) โดยผู้ที่มีชื่อปรากฏในคณะต่าง ๆ สูงสุดมีชื่อถึง 19 คณะ
ในปี 2556 ข้อมูลตามงบการเงินมีค่าเบี้ยประชุมกรรมการทั้งสิ้น 50.79 ล้านบาท ได้รวมค่าเบี้ยประชุมของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. จำนวน 49.31 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. จะเห็นได้ว่านอกจากจะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะของ กสทช. จำนวน 117.55 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. อีกจำนวน 118.32 ล้านบาท แล้วยังมีค่าใช้จ่ายของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานอีกจำนวน 49.31 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. จึงมีจำนวนถึง 285.18 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่อาจระบุถึงค่าใช้จ่ายดูงานในต่างประเทศที่แฝงรวมอยู่กับค่าจ้างที่ปรึกษาตามรายงานข้อ 1.3.1.1 จำนวน 59.98 ล้านบาทด้วย
สตง. ได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้
1. สำหรับค่าใช้จ่ายเฉพาะ กสทช. จะเห็นว่า กสทช. ที่มีค่าใช้จ่ายรวมสูงสุด 2 อันดับแรก เกิดจากการที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศจำนวนมากอย่างมีสาระสำคัญ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนครั้งของการเดินทาง รวมถึงค่ารับรองที่มีการใช้จ่ายที่แตกต่างกันมาก หากพิจารณาค่ารับรองของ กสทช. ที่มีจำนวนสูงสุด 1.83 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 152,615.13 บาท ซึ่งค่ารับรองจำนวน 1.83 ล้านบาท นี้ยังไม่รวมค่ารับรองที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปต่างประเทศที่ปนอยู่ในค่าใช้จ่ายอื่นจำนวนถึง 31.25 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก
ดังนั้นจึงอาจถูกตั้งคำถามจากสาธารณชนได้ว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องมีการเดินทางไปต่างประเทศและมีการจ่ายค่ารับรองเป็นจำนวนมากและหากมีการเดินทางไปต่างประเทศ เกิน 120 วันเช่นนี้จะเหลือวันทำงานในการบริหารงานในสำนักงาน กสทช. ให้เกิดประสิทธิภาพได้จริงหรือไม่
2. การได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็น กสทช. ย่อมแสดงว่า กสทช. ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี การที่ กสทช. มีกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานประจำ กสทช. อีกจำนวนถึง 110 คน โดยเป็นที่ปรึกษาประจำตัว กสทช. ถึง 31 คนนั้น เป็นการเหมาะสมและสมควรหรือไม่ โดยอาจต้องพิจารณาระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่ง กสทช. เป็นผู้กำหนดเอง ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะได้มีการให้อำนาจไว้ แต่กรอบของอำนาจย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความจำเป็น รวมทั้งการพิสูจน์ถึงผลงานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนการมีที่ปรึกษาในลักษณะประจำตัว กสทช. ในปริมาณท่านละ 4 – 5 คน นั้น เหมาะสมหรือไม่ หรืออาจก่อให้เกิดภาระเกินควรกับสำนักงาน กสทช. และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่ท้ายสุดแล้วคือภาระของประชาชนผู้ใช้บริการโทรคมนาคมนั่นเอง รวมทั้งยังมีกลุ่มคนที่เป็นคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่เป็นคนนอกอีกถึงกว่า 500 คน จนอาจทำให้สาธารณชนเกิดความคลางแคลงใจในการทำหน้าที่ของ กสทช. ในบทบาทผู้กำกับดูแล จนอาจเกิดคำถามในการนำบุคคลภายนอกจำนวนมากเข้ามาปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็นเรื่องของการให้ประโยชน์กับสำนักงาน กสทช. อย่างแท้จริงหรือมีการให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับบางกลุ่มแอบแฝงอยู่หรือไม่
3. จากการกำหนดค่าตอบแทนรายเดือนให้กับที่ปรึกษาที่มีจำนวนสูงในระหว่าง 100,000.00 – 120,000.00 บาท ในขณะที่ระเบียบที่เกี่ยวข้องไม่ได้ระบุให้ที่ปรึกษาต้องลงเวลาปฏิบัติหน้าที่ มีเพียงให้ที่ปรึกษาจัดทำบันทึกการปฏิบัติงานและให้รายงานผลต่อประธานและกรรมการที่เสนอแต่งตั้งเป็นประจำทุกเดือน และให้แจ้งผลการดำเนินการต่อ กสทช. ทุกไตรมาส แล้วแต่กรณี
การกำหนดระเบียบที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของที่ปรึกษา กสทช. ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงการลงเวลาในการปฏิบัติงาน แม้ว่าจะมีการให้ค่าตอบแทนที่สูงมากก็ตาม รวมถึงการจ่ายโบนัสให้กับกลุ่มที่ปรึกษา นั้น พบว่า สำนักงาน กสทช. มีเกณฑ์การจ่ายโบนัสของที่ปรึกษา กสทช. เหมือนกับการจ่ายโบนัสให้กับบุคคลที่ลงเวลาในการปฏิบัติงาน
กล่าวคือ สำนักงาน กสทช. จะคำนวณอัตราการจ่ายโบนัสที่พิจารณาจากเวลาในการปฏิบัติงานเป็นหลัก คือ ถ้าปฏิบัติงานได้ตามจำนวนวันที่กำหนดไว้จะได้รับโบนัสขั้นแรกในอัตรา 1.20 เท่าของเงินเดือน และจะมีอัตราโบนัสที่เพิ่มขึ้นหากผลการปฏิบัติผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนด แต่ทั้งนี้รวมกันแล้วจะได้โบนัสไม่เกินคนละ 2.00 เท่าของเงินเดือน ดังนั้น หากที่ปรึกษา กสทช. ไม่มีการลงเวลาในการปฏิบัติงาน ฐานในการคำนวณขั้นแรกของโบนัสในอัตรา 1.20 เท่าของเงินเดือน นั้น ก็ไม่สมควรจะนำมาเป็นเกณฑ์การจ่ายโบนัสของที่ปรึกษา กสทช. เพราะที่ปรึกษาไม่ได้มีการลงเวลาปฏิบัติงานมาเป็นตัวชี้วัดการผ่านเกณฑ์ นอกจากนี้การกำหนดระเบียบให้ที่ปรึกษาจัดทำบันทึกการปฏิบัติงานและในรายงานผลเพื่อสะท้อนถึงผลการทำงานของที่ปรึกษา นั้น โดยระเบียบยังได้เปิดกว้างให้แจ้งผลการดำเนินการของที่ปรึกษาต่อ กสทช. แล้วแต่กรณี ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้การรายงานผลการปฏิบัติงานขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช. ได้
ข้อเสนอแนะ
1. ขอให้ประธาน กสทช. ได้กำกับดูแลให้ กสทช. ทุกท่านตระหนักถึงความจำเป็นในการเดินทางไปต่างประเทศและการจ่ายค่ารับรองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ต้นทุนที่ใช้ในการกำกับดูแลเป็นต้นทุนที่เหมาะสม ไม่เป็นการสร้างภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ เพราะรายได้ที่สำนักงาน กสทช. เรียกเก็บจากผู้ประกอบการเพื่อนำมาใช้จ่ายในภารกิจการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. ถือเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการที่ย่อมต้องโอนภาระไปสู่ผู้บริโภคในรูปแบบของค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค สำนักงาน กสทช. จึงควรต้องควบคุมการใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวให้มีความเหมาะสมต่อไป
2. ขอให้สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเบิกจ่ายจัดส่งเอกสารประกอบการเบิกจ่ายที่รวมอยู่ในค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ จำนวน 31.25 ล้านบาท โดยส่งให้ผู้ตรวจสอบภายในทำการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้ตรวจสอบภายในรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการตรวจสอบภายในทราบด้วย โดยให้สำเนารายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวให้กับ สตง. เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการติดตามต่อไป
3. ขอให้ กสทช. พิจารณาการใช้ที่ปรึกษาประจำ กสทช. ตามความจำเป็นและเหมาะสม แม้ว่าจะมีระเบียบรองรับ แต่ระเบียบดังกล่าวออกโดย กสทช. เอง ดังนั้น จึงยิ่งควรให้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการที่จะทำให้สาธารณชนสามารถเชื่อได้ว่าสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาล (Good Governance)
ขอให้ทบทวนระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการจ้างที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ให้มีความรัดกุมโดยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ ของกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานประจำ กสทช. หากได้สิทธิเบิกจ่ายเท่ากับพนักงาน กสทช. แล้ว การปฏิบัติงานและการได้สิทธิแห่งการเบิกจ่ายต้องเป็นไปในเกณฑ์เดียวกัน และขอให้รวบรวมผลการปฏิบัติของที่ปรึกษาทุกท่านไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อจะได้นำผลงานของที่ปรึกษามาใช้เป็นประโยชน์กับสำนักงาน กสทช. อย่างแท้จริง โดยทำการมอบหมายผู้ที่มีหน้าที่รวบรวมให้ชัดเจน เพื่อประกอบการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานในโอกาสต่อไป
(อ่านประกอบ : สตง.ชำแหละกสทช.ฉบับเต็ม! พบจัดซื้อวิธีพิเศษพุ่ง1.3พันล. หวั่นเอื้อทุจริต)