10 คำถาม กับ “อลงกรณ์ พลบุตร” ในวันจากลา...ประชาธิปัตย์
"...การตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรค ไม่ได้บอกใคร ไม่ได้ปรึกษาใครเลย ผมคิดว่าบางครั้งการทำในสิ่งที่ควรทำ สำคัญมาก ต้องมีความกล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะทำ"
“อลงกรณ์ พลบุตร” ผ่านร้อนผ่านหนาวกับพรรคประชาธิปัตย์มากว่า 20 ปี ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เพชรบุรี เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับต้นๆของพรรค เป็นกรรมการบริการพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยุครัฐบาล”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
แต่แล้ว เขาก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากได้รับเลือกเข้ามาทำงานในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) ได้ไม่นานนัก
“สำนักข่าวอิศรา” เจาะใจ 10 คำถาม กับ “อลงกรณ์” ในวันถอดหมวกอำลาประชาธิปัตย์ ทิ้งความกล้ำกลืนทางการเมืองไว้เบื้องหลัง เพื่อเดินหน้าทำงานด้านปฏิรูปประเทศ
1.อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่มานานกว่า20ปี
เหตุผลของผมคือ การทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่มีนัยยะทางการเมือง แต่ถูกตีความทางการเมืองมากเหลือเกิน เหตุผลผมสั้นๆเท่านี้เอง
ผมมาเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) การอยู่ในสถานะนี้ไม่เหมือนการเป็นสมาชิกสปช.ธรรมดา เพราะจะต้องประสานกับองค์กรภายนอกหรือประธานมอบหมายให้ทำการแทนในนามสปช.เป็นอีกสภาพหนึ่งที่เราไม่ต้องการให้สถานภาพของตัวเองกระทบต่อสถานภาพของสปช.
สปช.จะต้องมีภาพของความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นอิสระ แต่ผมยังเป็นนักการเมือง ยังเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ฉะนั้นผมก็ตัดสินใจสละการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไม่ให้สถานภาพผมไปกระทบกับภาพลักษณ์ขององค์กร แค่นั้นเอง
2.เป็นการตัดสินใจโดยไม่มีเหตุผลทางการเมือง
ไม่มีเหตุผลอย่างอื่นเลย แต่อาจจะยังไม่เคยมีใครทำอย่างนี้ เลยถูกมองว่าจะออกมาอยู่กับคนนั้น พรรคนี้ ไม่มี ผมก็คาดคะเนไว้แล้วว่า ถ้าประกาศตัดสินใจลาออกก็จะมีการวิเคราะห์ไปต่างๆนานา ผมจึงเริ่มต้นว่าไม่มีนัยยะทางการเมือง
3.คิดว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้เกิดเสียงวิเคราะห์วิจารณ์ว่ามีนัยยะทางการเมือง
เราห้ามคนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เป็นเรื่องปกติ ผมคาดหมายอยู่แล้ว แต่ผมยืนอยู่ในจุดที่น่าจะอ่านได้ง่ายกว่าทุกคน ผมเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าอนาคตการเมืองผมมี 3 ทางเลือกเท่านั้นเอง
1. ผมหยุดเล่นการเมืองไปเป็นอาจารย์หรือทำงานเพื่อส่วนร่วม เพราะนักการเมืองต้องมีไทม์มิ่งของตัวเอง เราต้องมองข้างหลังด้วยว่ามีคนรุ่นใหม่ มีคลื่นลูกใหม่ที่ดีกว่า เก่งกว่าเรา เกิดขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ควรเป็นขอน Dead wood ไปขวางทางคลื่นลูกใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
2. ผมกลับไปพรรคประชาธิปัตย์ และ3. ตั้งพรรคใหม่และเป็นพรรคทางเลือกใหม่จริงๆ แค่นั้นเอง ฉะนั้น ไม่มีออฟชั่นเลยว่าผมจะไปอยู่พรรคอื่น ถ้าผมจะกลับมาเล่นการเมืองหรือกลับมาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ผมคิดว่า ผมควรเป็นนักการเมืองที่ประชาชนอ่านง่าย รู้เลยว่าคิดยังไงและเดินไปข้างหน้าอย่างไร ในเมื่อเราเป็นคนหนึ่งที่เสนอเรื่องการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปพรรคการเมือง ปฏิรูปประเทศ มาแล้วก่อนหน้านี้
4.ตัดสินใจนานแค่ไหนก่อนจะแถลงข่าว
ตั้งแต่วันที่มีการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ท่านประธานเทียนฉาย(กีระนันทน์) มอบหมายให้ผมรายงานการดำเนินงานของสปช.ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมคิดว่า นี่คือการทำหน้าที่ในนามองค์กร จากนั้นมาก็มีการร่วมแถลงข่าวหรือแถลงข่าวกับท่านประธาน ผมรู้สึกว่าภาพมันไปไม่ได้ ขณะที่ผม นายอลงกรณ์คือประชาธิปัตย์ คือนักการเมือง แล้วท่านประธานคือประมุขสปช. ซึ่งควรจะเป็นอิสระ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ดังนั้นไม่เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกสปช.เลย การเป็นสมาชิกสปช. ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ แม้แต่คุณอภิสิทธิ์(เวชชาชีวะ) ก็เข้าใจผมผิด ยังไปตีความในลักษณะว่า เห็นมั๊ยว่าการเป็นสมาชิกสปช.เขาจะมองนักการเมืองเป็นอย่างอื่น มันไม่ใช่
ผมมาเป็นสมาชิกสปช. เพราะว่าเขาเปิดโอกาสให้นักการเมือง พรรคการเมืองเข้ามาได้ ผมภูมิใจในความเป็นประชาธิปัตย์ ผมเป็นเจ้าของพรรคเหมือนกัน ร่วมต่อสู้กับพรรคมา 23 ปี เป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรค
ดังนั้น การเป็นสมาชิกสปช.ไม่ได้เป็นปัญหา แม้แต่ตำแหน่งเลขาฯวิป เลือกโดยที่ประชุมใหญ่สปช. สมาชิกรู้แบ็คกราวผม แสดงว่าการเป็นนักการเมืองของผมไม่ได้เป็นปัญหาต่อการเป็นสปช.ของผม แต่เมื่อผมมารับตำแหน่งเลขาฯวิป ต้องทำการแทนองค์กร เริ่มรู้สึกว่าสถานภาพของเราจะกระทบต่อองค์กร นั่นคือการตัดสินใจ ในสิ่งที่ควรต้องทำ
5.ออกจากพรรคโดยที่หัวหน้าพรรคยังเข้าใจผิด สมาชิกพรรคบางคนก็บอกว่าน่าจะออกมาเสียตั้งนานแล้ว คุณโอเคหรือ
ก็มีความอัดอั้นตันใจอยู่เหมือนกัน เพราะเราคาดหวังสูง ผมเป็นคนทำงาน ตอนผมเป็นรองหัวหน้าพรรค เราทุ่มเททำงานให้กับพรรค อัพเกรดพรรคตลอดเวลา แต่ก็แน่นอน จะให้ทุกคนเห็นเหมือนกันก็ยาก เมื่อเสียงส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย ผมก็ยังไม่ได้ลาออก ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่
แม้แต่เรื่องหลังสุด ที่ท่านหัวหน้าพรรคมีแนวนโยบายว่าไม่อยากให้สมาชิกพรรคมา ผมก็ขอให้ท่านหัวหน้าทบทวนด้วยเหตุผลว่า วันนี้ต้องคิดถึงประเทศเป็นหลัก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นต้นไม้ใหญ่ ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤติ ต้องการความร่วมแรงร่วมใจที่จะปฏิรูปประเทศ ต้องก้าวข้ามความเป็นองค์กรมาสู่ประโยชน์ประเทศ
แต่เมื่อไม่ได้มีการทบทวน ผมก็ขอใช้สิทธิของผมในการตัดสินใจ ตัดสินใจแล้วก็รู้ว่ามีโทษทัณฑ์ที่รออยู่ ก็ไม่เป็นไร ตั้งแต่ตอนเสนอปฏิรูปพรรค ผมก็รู้แน่ว่ามีปัญหา แต่ผมก็พินิจพิเคราะห์ดูแล้วว่าเราอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ แพ้มา 21 ปี และประชาธิปัตย์ต้องเป็นความหวังจริงๆ
และครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องพรรคและตัวผมเอง แต่เป็นเรื่องอนาคตประเทศ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่วันนี้มี choice เดียวคือ ถ้าเราไม่ต้องการให้มีรัฐประหารอีกต่อไป และต้องการนำประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด ต้องทำการปฏิรูปให้เร็วที่สุด
6.ถึงวันนี้ได้คุยกับคุณอภิสิทธิ์หรือยัง
ผมไลน์คุยในกลุ่ม 100 กว่าคน ทุกคนทราบการมาทำงานสปช. บางครั้งรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เหมือนการตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรค ก็ไม่ได้บอกใคร ไม่ได้ปรึกษาใครเลย ผมคิดว่าบางครั้งการทำในสิ่งที่ควรทำ สำคัญมาก ต้องมีความกล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะทำ
วันนี้ภารกิจเบื้องหน้าที่รออยู่ก็คือ การปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ นำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง ประเทศนี้ต้องเดินหน้าด้วยระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น เดินหน้าด้วยระบอบอื่นไม่ได้ เพียงแต่จะวางโครงสร้างการเมือง วางโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศครั้งใหม่อย่างไร วางยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ประเทศ อย่างไร
7.อะไรคือหัวใจของการปฏิรูปที่คุณคิดว่าต้องทำเวลานี้
ผมวางแนวทางการปฏิรูปไว้ 4 ปัญหา 1. ปัญหาใหญ่คือ การเมือง ความแตกแยก แบ่งฝ่าย 2.ปัญหาคอร์รัปชั่น 3. ขีดความสามารถการแข่งขันประเทศที่อ่อนแอมาก 4. ปัญหาประชาธิปไตย นี่คือ 4 ปัญหาหลักของประเทศไทย โดยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่จะวางโครงสร้างแก้ปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งข้อเสนอการปฏิรูป 11 ด้าน
8.กลุ่มการเมือง พรรคการเมืองซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกัน ไม่เข้าร่วมในสภาปฏิรูป จะสมานฉันท์ ปรองดองได้อย่างไร
ทุกฝ่ายต้องถือเป็นภารกิจหลักในการสร้างโอกาสของการมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้หันหน้ามาเจรจา พบปะกันให้ได้มากที่สุด รับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้างมากที่สุด เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์
แม้แต่การนิรโทษกรรม การปรองดองสมานฉันท์เริ่มจากนิรโทษกรรมในความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหมิ่น การทำร้ายให้สูญเสียชีวิต หรือคดีทุจริต แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง ผมคิดว่านิรโทษกรรมได้ ถือว่าเป็นก้าวแรก อย่าปิดประตูทุกช่อง ถ้าประตูค่อยๆปิด ก็ต้องแง้มเปิดให้ได้
9. งานปฏิรูปด้านพลังงานที่คุณทำอยู่ มีคนเห็นต่าง ยืนอยู่กันคนละขั้ว จะเปิดประตูอย่างไร
ผมว่าเป็นโอกาสดีที่มีเวที ที่ให้คนเห็นต่างเรื่องพลังงานมาคุยกัน แล้วมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงกัน กางข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับชุดเดียวกันก่อน ไม่ว่าเรื่องสัมปทานก็ดี เรื่องแหล่งทรัพยากรพลังงานทางบกหรือทางทะเลก็ดี ขณะนี้กระบวนการกำลังเดินหน้าและพอมีความหวัง
ในทางการเมืองก็เช่นเดียวกัน การให้ความร่วมมือของกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองก็มีความสำคัญ ผมถึงเสนอตั้งแต่ตั้งกรรมาธิการยกร่างฯว่า ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่มีความขัดแย้งได้เข้ามาเป็น แต่เมื่อไม่ได้ ก็เสนอความคิดเห็นได้ ก็มีแนวโน้มที่ดี ต้องพยายามต่อไป
สุดท้าย การประชามติรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความชอบธรรม เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน และสร้างบรรยากาศเป็นประชาธิปไตยต่อไปหลังการเลือกตั้ง
10.วิเคราะห์การเมืองไทยวันนี้อย่างไร
การเมืองไทยยังวนไปเวียนมาเหมือนภายเรือในอ่าง การัฐประหารที่ผ่านมาหลายครั้งก็ยังวนเวียนอยู่ รัฐธรรมนูญก็ยกร่างกันใหม่เกือบทุกครั้งภายใต้การรัฐประหาร ดังนั้นอดีตที่เพิ่งผ่านมาควรจะเป็นบทเรียนครั้งสุดท้าย
แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่ออกแบบให้มีการปฏิรูป เป็นความหวังครั้งสำคัญ ถ้าทุกคนก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่มองประโยชน์เฉพาะองค์กร เฉพาะตัว แล้วมาร่วมกันปฏิรูป วันนี้โอกาสเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว รัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นพิมพ์เขียวที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งการทำประชามติเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
สมัย 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตของบ้านเมือง ตอนนั้นความขัดแย้งมีมากกว่าครั้งนี้ แบบสุดกู่ สุดโต่ง แบ่งซ้ายแบ่งขวา ฆ่าฟันกัน ซึ่งกระทบต่อโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างประเทศอย่างรุนแรง จนดูเสมือนว่าประเทศของเราอาจจะถึงการแบ่งแยก แต่เราก็ก้าวผ่านมาได้
ฉะนั้นวันนี้เราก็ต้องก้าวผ่านให้ได้ ซึ่งควรจะใช้เวลาปีกว่าหลังจากนี้สร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้กับประเทศ สร้างฐานใหม่ให้ประเทศ อัพเกรดเป็นประเทศชั้นนำของเอเชีย ไม่ใช่เป็นประเทศที่จมปลักอยู่กับปมความขัดแย้ง ความล้าหลังยากจน