"ครูยุทธ์"บางนรา สนองพระบัญชา... ครูใต้ไม่ทิ้งแผ่นดิน
ร้านไก่ย่าง ข้าวต้มครูยุทธ์ ที่เปิดขายตั้งแต่เช้าตรู่ในตัวเมืองนราธิวาสนั้น แม้หลายคนจะรู้จักดี และทราบว่าครูยุทธ์เป็นอดีตข้าราชการครูก็ตาม ทว่าน้อยคนนักที่จะทราบว่า "ครูยุทธ์" มีชื่อจริงเหมือนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ "ประยุทธ์" นามสกุล "หนูสันทัด"
ครูยุทธ์เป็นชาวนราธิวาสโดยกำเนิด เกิดที่ อ.ยี่งอ เมื่อ 16 มิ.ย.2498 หากยังรับราชการอยู่ก็จะครบเกษียณในปีหน้า
อย่างไรก็ดี พื้นเพเดิมของครอบครัวไม่ใช่คนบางนรา แต่เป็นชาว จ.สงขลา บิดามีอาชีพรับซื้อขี้ยาง (เศษน้ำยางพาราที่แห้งติดก้นถ้วย) ขี่รถจักรยานยนต์ตระเวนไปเรื่อย และมาลงหลักปักฐานที่ยี่งอ กระทั่งต่อมาบิดาสอบเข้ารับราชการตำรวจได้ จึงย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ตัวเมืองนราธิวาส
ชีวิตของครูยุทธ์ ก้าวสู่การเป็น "ครู" หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดยะลา รุ่น 2 เมื่อปี 2519 และเดินสายสอนหนังสือในโรงเรียนเอกชน หรือที่เรียกกันติดปากว่า "โรงเรียนราษฎร์" หลายแห่ง
"พอเรียนจบผมก็เที่ยวไปเรื่อย สอนหนังสือในโรงเรียนราษฎร์หลายโรง กระทั่ง พ.ศ.2525 ผมจึงกลับมานราธิวาสอีกครั้ง เพื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู แล้วผมก็สอบได้ ตอนนั้นบรรจุเป็นข้าราชการที่โรงเรียนนิคมพัฒนา 6 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส"
ครูยุทธ์ เล่าว่า ช่วงที่รับราชการอยู่นั้น เหตุการณ์บ้านเมืองที่ชายแดนใต้และที่นราธิวาสไม่ร้ายแรงเหมือนปัจจุบัน
"สมัยก่อนผมเป็นครูอยู่ อ.สุคิริน เดินทางไป-กลับนราธิวาสด้วยการขี่รถจักรยานยนต์ ระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร แต่ก็ปลอดภัย ไม่มีใครทำอันตรายเรา เพราะเราอยู่กันได้ตามอัตภาพ ไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าคนนั้นพุทธ คนนี้อิสลาม เพราะเราอยู่ร่วมกันมานานก่อนผมจะเกิดไม่รู้กี่ร้อยปีแล้ว"
"สถานการณ์ ณ ขณะนั้นแตกต่างจากปัจจุบันมาก ไม่ทราบว่าเป็นเพราะข้าราชการประจำ หรือนักการเมือง หรือเรื่องศาสนา หรืออีกหลายๆ ปัจจัยที่นักวิชาการเขาวิเคราะห์กัน ซึ่งผมก็ได้แต่นั่งมองและคิดในใจแต่เพียงว่าเมื่อไรหนอบ้านเราจะกลับมาสงบสุขเหมือนเดิม"
ขณะที่กำลังสนุกกับการสอนหนังสือ ชีวิตของครูยุทธ์ก็พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยังดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถึงได้มี "ครูยุทธ์" ในวันนี้
"ผมรับราชการอยู่ที่สุคิรินหลายปีก็ประสบอุบัติเหตุ ถูกรถจักรยานยนต์ชนขาขวาหัก กระดูกเข่าแตกละเอียด รักษาตัวอยู่อีกหลายปีจึงเดินได้ ช่วงที่ผมบาดเจ็บรักษาตัวอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯแปรพระราชฐานมายัง จ.นราธิวาส ผมได้เข้าเฝ้าฯรับเสด็จ และพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับผมไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์"
"ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมจึงได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช จนหายป่วยและเดินได้ ทั้งนี้ก็เพราะพระบารมีของทั้งสองพระองค์โดยแท้ ขอให้ทั้งสองพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน" ครูยุทธ์ กล่าวพร้อมน้ำตาคลอตา
อย่างไรก็ดี แม้จะโชคดีเรื่องสุขภาพ แต่ก็โชคร้ายเรื่องอาชีพ เพราะเขาต้องออกจากราชการ เนื่องจากป่วยนานเกินไป
"ผมก็ไม่ได้เสียใจอะไรมากนัก แม้ว่าจะไม่ได้เงินบำเหน็จบำนาญแม้แต่บาทเดียว ทั้งที่ผมประสบอุบัติเหตุขณะกลับจากทำงาน แต่ผมยังภูมิใจที่ผมรักษาตัวให้หายได้เพราะพระบารมีของทั้งสองพระองค์ จนได้ชื่อว่าเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์"
หลังออกจากราชการ ครูยุทธ์กับครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยภรรยา และลูกๆ ถึง 4 คน ก็กัดฟันสู้ชีวิตกันต่อ ด้วยการปิ้งไก่ทอดไก่ขายตามงานต่างๆ และเปิดร้านขายข้าวต้ม ขายโจ๊ก และอาหารตามสั่ง แต่ยังไม่ทิ้งไก่ย่างมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยอยู่กันอย่างสงบแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ก็เริ่มแยกเขาแยกเรา แม้แต่คนในชุมชนเดียวกันยังหวาดระแวงกันเอง
"ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2547 ขณะนั้นผมออกจากราชการมาหลายปีแล้ว ก็ได้แต่เฝ้าดู ยิ่งนานวันก็ยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชาวไทยพุทธและพี่น้องมุสลิม ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน โดนฆ่าล้างโคตร ฆ่าตัดคอ เผาบ้าน"
"เรื่องการประกอบอาชีพ ไทยพุทธจะหนักหน่อย ถูกบังคับให้ขายเรือกสวนไร่นาในราคาถูก ต้องอพยพออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด บางคนบางครอบครัวก่อร่างสร้างตัวมาหลายสิบปี ต้องทิ้งบ้านทิ้งช่อง เข้าไปอยู่ในเมืองทั้งที่ตัวเองสร้างเรือกสวนไร่นาไว้เยอะแยะเพื่ออาศัยทำกินและเป็นมรดกให้ลูกหลานยามแก่เฒ่า แต่ทุกอย่างมลายหายไปสิ้น เป็นตัวท่านจะรู้สึกอย่างไร"
"บางคนพ่อตาย บางคนแม่ตาย ลูกหลานพี่น้องตาย ต้องหนีกระเซอะกระเซิง ทั้งที่แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินไทย แผ่นดินบรรพบุรุษ คิดแล้วมันน่าน้อยใจและอนาถใจในชีวิตและวาสนาของคนสามจังหวัด"
ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไร แต่ ครูยุทธ์ ยืนยันว่าจะไม่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปไหน ทั้งๆ ที่เขาเองก็เป็นคนไทยพุทธ เป็นอดีตครู และเปิดร้านขายอาหาร ซึ่งเป็นเป้าหมายอ่อนแอที่อาจเจอภัยเงียบรุกรานจนสิ้นลมหายใจได้ทุกนาที
"พวกเราอย่าทิ้งแผ่นดินนะ อยู่เพื่อรักษาแผ่นดิน...ผมจำได้ เป็นตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสเอาไว้หลังเสด็จฯนราธิวาส ครั้งที่ร้านข้าวต้มอั้งม้อ กลางเมืองนราธิวาสถูกลอบวางระเบิด" ครูยุทธ์ เล่าถึงเหตุผลที่ยังยืนหยัดอาศัยอยู่ในเมืองนราฯ เมืองที่ใครๆ ก็ผวาเพราะมีแต่ข่าวคราวความรุนแรง
"ร้านข้าวต้มอั้งม้อถูกลอบวางระเบิดเมื่อปลายปี 2547 ผู้คนบาดเจ็บกันระนาว จนเจ้าของร้านถอดใจ คิดจะเลิกกิจการ แต่สุดท้ายก็สู้ต่อ หลังจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระราชดำรัสให้กำลังใจมิให้ท้อถอยหรือย้ายหนี"
"บอกตรงๆ น้ำตาผมไหลซึม อยากจะกอดพระบาทท่าน แล้วพูดว่า...ครับกระผม นายประยุทธ์ หนูสันทัด จะไม่ทิ้งบ้านเกิด ลูกผม 4 คนผมจะพยายามดึงให้กลับมาทำงานให้บ้านเกิดเมืองนอนของเราให้มากที่สุด ซึ่งวันนี้ก็สมดั่งใจปรารถนาด้วยพระบารมีของพระองค์ท่านแท้ๆ"
กับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้ากล่าวแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่าปัญหาเกิด เพราะมีคนก่อ แต่การจะแก้ปัญหาต้องหาสาเหตุที่ทำให้คนคิดก่อให้เจอ ซึ่ง ครูยุทธ์ ก็เล่าเรื่องราวที่ตนเองเคยประสบ เพื่อบอกความนัย
"ครั้งหนึ่งผมเคยโดนจับไปสอบสวนในข้อหาร่วมวางเพลิงเผาโรงเรียนใน จ.นราธิวาส นี่แหละ ซึ่งตอนนั้นมีเผาพร้อมๆ กัน 20 กว่าโรง จำได้ว่าเป็นสมัยของนายกรัฐมนตรีที่มีชื่อเหมือนภาคใต้บ้านผม ตอนนั้นผมโดนคนของท่านที่นั่ง ฮ.มาจากกรุงเทพฯพาผมไปสอบสวนที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส ตั้งแต่ 2 ทุ่มจน 6 โมงเช้า ทำประวัติผมบนโรงพักเมืองนราธิวาสในข้อหาร้ายแรง"
"โถ...คนระดับผม แค่ครูโดนออกจากราชการ หาเลี้ยงครอบครัวลูกเมียด้วยอาชีพขายไก่ทอดไก่ย่างตามงาน จะเอาปากเอาเอาอำนาจที่ไหนไปเรียกร้องความยุติธรรมจากใคร ประวัติผมเสีย ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลถึงจะไม่ใช่ตระกูลใหญ่โต แต่ผมก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมตระกูลอื่นๆ ในประเทศนี้ นี่แหละคือความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงในภาคใต้ก็เป็นได้"
"สิ่งที่ตัวผมโดนถือว่าเล็กน้อยมาก เพราะคนในพื้นที่บางคนบางครอบครัว พวกเขาโดนมากกว่าผมหลายเท่า และสะสมมาเป็นเวลานานจนเกิดความกดดัน เมื่อพวกเขามีความพร้อม ก็เกิดการรวมตัวแล้วมีปฏิกิริยาโต้ตอบ คล้ายภูเขาไฟรอวันระเบิด ซึ่งจุดนี้ขออย่าให้เกิดซ้ำเหมือนที่แล้วมาอีกเลย แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุนใหม่ ถ้าคลี่คลายความรู้สึกพวกนี้ได้ ทุกอย่างจะทุเลา"
ในห้วงที่กำลังจะมีการพูดคุยเจรจาเพื่อสร้างสันติสุข โดยให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น ครูยุทธ์ มองว่าปัญหานี้คนไทยน่าจะแก้กันเองได้ หากรู้เท่าทันรูปแบบและการสร้างสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
"เรื่องในประเทศเราแก้ได้ ไม่ต้องพึ่งชาวบ้าน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ผมรู้สึกเศร้าใจทุกครั้ง โดยเฉพาะที่มีข่าวครูถูกฆ่า เพราะครูบางท่านเป็นเพื่อน บางท่านผมก็รู้จัก บางท่านเป็นรุ่นน้อง เรื่องแบบนี้ในอดีตไม่เคยมี จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ"
"สมัยที่ผมเพิ่งออกจากราชการนั้น โจรใต้ที่มาจับครู ส่วนมากก็จับเพื่อเรียกค่าไถ่ เรียกค่าคุ้มครอง ขอที่ดินทำกิน หรือใช้เป็นข้อต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกเปลี่ยนตัวประกัน แต่ขณะนี้มันเป็นคนละแบบกันกับเมื่อก่อน ยิ่งนานวันยิ่งลุกลามใหญ่โต จนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ และยิ่งจะแก้ไขยากขึ้นทุกวัน"
ครูยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เขาตั้งความหวังกับนายกรัฐมนตรีชื่อเดียวกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างถูกทิศถูกทาง อย่าให้แผ่นดินไทยถูกแบ่งแยกเป็นครั้งที่ 15 อีกเลย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (3 ภาพล่าง) ครูยุทธ์สมัยเป็นข้าราชการ เป็นวัยรุ่น และปัจจุบันที่ไปร่วมแสดงความยินดีกับลูกสาวในวันรับปริญญา (ภาพบน) แม่น้ำบางนรา จ.นราธิวาส