ตัวแทนภาคประชาสังคม หนุนธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมบรรจุไว้ในรธน.ฉบับใหม่
ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ-นักอนุรักษ์เห็นพ้องประชาชนต้องเข้าถึงการตรวจสอบ หวั่นรบ.มุ่งพัฒนาเชิงเศรษฐกิจจนลืมสมดุลธรรมชาติ ไม่มั่นใจกลไกรัฐจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ชี้ประชาชนทุกคนต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วม
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดสัมมนา "ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญใหม่ หัวใจของการพัฒนาสู่ความผาสุกและยั่งยืน" เนื่องในวันสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ที่ผ่านมา มักจะเป็นการนั่งประชุมกัน 5- 10 คนแล้วจบ ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม หรือแม้แต่แผนการสร้างโรงงานขยะ สร้างโรงไฟฟ้า ในระเบียบสำนักนายกฯ บอกประชาชนต้องมีส่วนร่วมจะให้มีการจัดการขยะอย่างไรแบบไหน หากไม่สามารถทำอะไรได้จริงๆค่อยไปสู่การเผาขยะ แต่ผลสุดท้ายแผนนโยบายออกมากลายเป็นต้องเผาอย่างเดียว แถมพ่วงท้ายว่าเป็นการเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับการอนุมัติ ฉะนั้นที่ผ่านมาที่มีการฟ้องร้องคดีไม่ใช่แค่เรื่องโลกร้อนอย่างเดียว แต่เนื่องจากปัญหาเหล่านี้จะสร้างผลกระทบกับคนที่อาศัยใกล้บริเวณนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งไม่เคยมีการพูดถึงไม่เคยมีการให้ข้อมูลข่าวสาร ประชาชนไม่เคยรับรู้ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะเอาปัญหาเหล่านี้ให้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ
“สิทธิของการพัฒนาไม่ใช่สิทธิของรัฐบาลแต่เป็นสิทธิของแต่ละพื้นที่ที่จะเสนอ แนะนำ ร่วมตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ สิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการของรัฐ”
นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงการจัดรับฟังความเห็นของหน่วยงานภาครัฐ โดยยกตัวอย่างกระบวนการรับฟังที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีคนพูดให้ข้อมูลไม่ถึง 5 นาที หลังจากนั้นเปิดให้มีการแจกข้าว ชาวบ้านเดินไปรับข้าวแล้วกลับไปเลย แบบนี้เรียกอามิสสินจ้าง และเป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน หากแก้ไขไม่ได้ต้องไล่เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ออก
“หากทุกคนไม่ช่วยกันเรื่องการตรวจสอบประเทศก็จะล่ม บางคนบอกผมชอบเอาเท้าราน้ำ ขี้ฟ้อง จริงๆอยากจะบอกว่า ถ้าไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเลยป่านนี้ประเทศอาจจะเข้ารกเข้าพงไปนานแล้ว และสิทธิการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของรัฐมนตรีแต่เป็นของทุกคนในประเทศ" นายศรีสุวรรณ กล่าว และว่า ดังนั้นข้อนี้จะต้องเขียนให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญและต้องเอามาบังคับใช้ให้ได้ เราจะไม่ปล่อยให้นักการเมืองกำหนดการพัฒนาเพียงฝ่ายเดียว อยากทำอะไรก็ทำได้ตามอำเภอใจ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องมีสิทธิร้องขอขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิด การร่วมตัดสินใจส่งผลให้นโยบายสาธารณะหลายโครงการเกิดความขัดแย้ง เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานภาครัฐได้แล้วว่า จะคิดโมเดลอะไรอย่าคิดโดยไม่มีการปรึกษาประชาชน มิฉะนั้นจะจบด้วยความสิ้นหวังและขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้
ด้านดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) กล่าวถึงธรรมาภิบาลกับสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องมีตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) การเข้าถึงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ซึ่งนโยบายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะได้มีการแก้ไขลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายย่อยที่จะต้องนำมาประกอบกับรัฐธรรมนูญจำเป็นที่ต้องปฏิรูปให้เสร็จพร้อมกันเพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการของรัฐ มีการตรวจสอบ รายงานผล ทั้งในส่วนของการฟ้องร้องคดีหรือไม่สั่งฟ้องคดีต้องมีรายงานเปิดเผย
ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ตามกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะร่างนั้นจะต้องมีส่วนที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงการแสดงความเห็น โดยเป็นเพียงพื้นฐานต่ำสุดของการมีส่วนร่วม แต่ความจริงแล้วการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจะต้องร่วมในการปรึกษาหารือ ร่วมตัดสินใจ ตรวจสอบ ริเริ่มนโยบายและกฎหมาย
ขณะที่นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้ฐานทรัพยากรทางธรรมชาติมุ่งแต่พัฒนาทางเศรษฐกิจ อีก 50 ปี 100 ปีข้างหน้าฐานทรัพยากรที่มีขณะนี้จะหมดไป จึงเกิดคำถามว่า ทิศทางการพัฒนาประเทศวันนี้ตอบโจทย์เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ มีแต่มิติในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ หากเป็นเช่นนี้นี่ไม่ใช่การพัฒนาที่แท้จริง เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม ขบวนการตัดสินใจทางการเมือง ธรรมาภิบาล ทิศทางของการพัฒนาที่ต้องมาบรรจบกัน
“30 ปีที่ผ่านมา มุ่งแต่เอาทรัพยากรมาใช้ และผลจากการพัฒนาคือ คนรวยก็รวย คนในประเทศเข้าถึงทรัพยากรไม่ถึง 30% กลายเป็นการสร้างปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อผู้คนในสังคม” ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าว และว่า ว่า ปัญหาของการไม่มีธรรมาภิบาลเกิดจากการที่ประชาชนไม่ลุกขึ้นมาจัดการ ไม่มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางกฎหมาย ความจริงก็ไม่ได้หวังว่ากลไกได้มากแต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นมาตรการที่เข้ามาช่วยได้บ้าง ดังนั้นวันนี้จะต้องช่วยกันจับตาดูสาระทางกฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กลไกในการตรวจสอบต้องเอื้อประโยชน์กับประชาชน พร้อมกับหวังว่า จะเห็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนาหรือมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมช่วยกันคิดว่าจะต่อเชื่อมการพัฒนาทรัพยากรอย่างไรให้เกิดความสมดุล