แจกที่ดิน 5.3 หมื่นไร่ หวั่นเหลว ‘ประยงค์ ดอกลำไย’ แนะจัดสรรโฉนดชุมชน 35แห่งนำร่อง
‘ประยงค์ ดอกลำไย’ หวั่นแจกที่ดิน 5.3 หมื่นไร่ รูปสหกรณ์ ล้มเหลว เหตุชาวบ้านไม่มีความรู้บริหารจัดการร่วม แนะมอบให้พื้นที่มีความพร้อม 35 เตรียมนำร่องโฉนดชุมชน เชื่อโอกาสสำเร็จสูงกว่า
ภายหลังพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงแผนเตรียมจัดสรรที่ดินทำกินในรูปแบบสหกรณ์ระยะแรก 5.3 หมื่นไร่ แก่ผู้มีฐานะยากจน 10,000 คน ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ มุกดาหาร นครพนม และชุมพร ภายในระยะเวลา 3 เดือน (ธันวาคม 2557-กุมภาพันธ์ 2558)
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดินมาถูกทางแล้ว เพียงแต่การส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวในกลุ่มสหกรณ์อย่างรีบเร่งนั้น ชาวบ้านจะไม่เข้าใจในอุดมการณ์บริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างดีพอ จึงจำเป็นต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น และทดสอบด้วยว่าพื้นที่นำมาจัดสรรนั้นทำเกษตรกรรมได้หรือไม่
“รัฐต้องไม่จัดสรรที่ดินให้เฉย ๆ แต่ต้องสร้างระบบติดตามตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินภายหลังด้วย” ที่ปรึกษา สกน. กล่าว และว่า การดำเนินนโยบายภายใน 3 เดือน เหมือนเป็นการทำแบบ ‘สุกเอาเผากิน’ เพราะทักษะของชาวบ้านยังมีไม่เพียงพอในกระบวนการนี้
ทั้งนี้ การยึดที่ดินทำกินจากชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิมาจัดสรรใหม่นั้น รัฐต้องหาวิธีบริหารจัดการชาวบ้านที่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ด้วย รวมถึงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าก็ต้องทำเกษตรกรรมได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนกับนโยบายในอดีตที่ให้ผู้ทำกินในป่าลงมาอยู่ในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือมีคนอาศัยอยู่แล้ว จนเกิดความขัดแย้งเข้าไม่ถึงที่ดินทำกิน
นายประยงค์ ยังระบุว่า รัฐควรจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชน 35 แห่ง ซึ่งเตรียมส่งมอบในรัฐบาลที่แล้ว เพราะมีความพร้อมในการบริหารจัดการและมีกฎระเบียบที่ชัดเจน จากทั้งหมด 450 แห่งที่ได้รับการอนุมัติเข้าโครงการ การขับเคลื่อนก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่ามิใช่เป็นการเหวี่ยงแห
“นโยบายดังกล่าวมีแนวคิดคล้ายคลึงกับการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ในปี 2547 ที่จัดสรรที่ดินให้แก่คนยากจนถือครอง 5 ปี สัญญาปีต่อปี แต่สัญญามีเงื่อนไขมากมาย อาทิ ห้ามปลูกไม้ยืนต้น ห้ามขุดบ่อ ห้ามปลูกสิ่งก่อสร้าง ชาวบ้านจึงไม่ต่อสัญญาจนที่ดินถูกทิ้งร้าง โครงการจึงล้มเหลว เพราะไม่เกิดแรงจูงใจในการใช้ประโยชน์ที่ดิน กลุ่มทุนจึงใช้โอกาสนี้ขอเช่าพื้นที่จากรัฐระยะยาว ไม่จำกัดขนาด สุดท้าย โครงการแก้ปัญหาความยากจนจึงกลายเป็นการฟอกที่ดินรัฐ” ที่ปรึกษา สกน. กล่าว
ภาพประกอบ:เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์