ภาคปชช.ยื่นหนังสือ ‘กฤษฎีกา’ ขอตั้งคณะทำงานร่วมฯ ถกร่างกม.แร่
เครือข่ายภาคประชาชน 19 องค์กร ยื่นหนังสือถึง ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา’ นำความคิดเห็นปชช.ประกอบการพิจารณา ชงตั้งคณะทำงานร่วม 5 ฝ่าย ชำแหละร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ หวั่นเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ขาดการมีส่วนร่วม กระทบทรัพยากรธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม
วันที่ 4 ธันวาคม 2557 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย และองค์กรเครือข่าย 19 องค์กร จัดแถลงข่าว ‘ข้อเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ...’ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้ประสานงานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ มีรายละเอียดเอื้อประโยชน์ต่ออำนาจรัฐและผู้ประกอบการมากเกินไป ยกตัวอย่าง กรณีการให้รัฐมีสิทธิออกกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงจำนวนมาก จนอาจกีดกันประชาชนไม่ได้เข้าไปติดตามตรวจสอบการดำเนินงานได้ หรือการกำหนดมาตรการผลกระทบต่อสาธารณสมบัติ กลับมีข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม หากได้รับอนุญาตจากพนักงานผู้รับผิดชอบเรื่องนั้น
ส่วนขั้นตอนการขอและต่ออายุประทานบัตร รายละเอียดกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญไว้เฉพาะขนาดของเหมืองแร่ มิได้ลงลึกถึงประเภท ชนิด ของตัวแร่ ก่อให้เกิดผลกระทบหรือไม่ แม้สามารถกำหนดเพิ่มเติมได้ แต่เรายังกังวลอาจนำไปสู่ช่องโหว่ให้เกิดการขออนุญาตของรายย่อย เพราะในกรณีที่ผู้ถือประทานบัตรมีประทานบัตรหลายฉบับที่มีเขตติดต่อกัน ให้ถือว่าเป็นเขตเหมืองแร่เดียวกัน เพื่อง่ายต่อการขออนุญาต ตลอดจนถึงการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) จะรัดกุมเพียงใด
ยื่นกฤษฎีกาตั้งคณะทำงานร่วม ชำเเหละร่าง พ.ร.บ.เเร่
ผู้ประสานงานมูลนิธินิติธรรมฯ กล่าวต่อว่า ภาคประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุงร่างพ.ร.บ.แร่ให้ดีขึ้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมารัฐบาลปัจจุบันกลับไม่ให้โอกาสทราบรายละเอียดล่วงหน้าก่อนนำเสนอเข้าสู่ ครม. เพื่อจะได้ท้วงติงและเสนอข้อคิดเห็นในบางประเด็น เหมือนกับในสมัยรัฐบาลปกติที่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมมากกว่านี้
ประชาชนจึงต้องยื่นหนังสือขอเสนอความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.แร่ ต่อเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ และเรียกร้องให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมในการพิจารณา ประกอบด้วย คณะกรรมการกฤษฎีกา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และภาคประชาชน ทบทวนเนื้อหาอย่างละเอียดอีกครั้ง
“รัฐบาลต้องชะลอการผลักดันร่างพ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ต่อสนช. หรือจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาและตรวจสอบมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ยิ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่มากขึ้น”
ไม่ควรรีบฟื้นเเร่โปเเตช รออีก 10 ปี เกลือก็ไม่เน่า
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพราะความจริงเหมืองแร่เป็นกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบหมดไป การจะฟื้นคืนมาเหมือนเดิมยาก ดังนั้นกระบวนการขออนุญาตให้บริษัทเข้ามาดำเนินการควรมีการกลั่นกรอง และประเมินมูลค่าทรัพยากรที่ต้องสูญเสีย ตลอดจนวิถีชีวิต ความยั่งยืนของชุมชน นำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ รัฐต้องกำหนดยุทธศาสตร์การใช้ทรัพยากรแร่และอื่น ๆ สร้างมาตรการคุ้มครอง ป้องกัน สงวน หวงห้าม มากกว่าการคำนึงถึงการนำมาใช้ แต่กลับร่างรายละเอียดในร่างพ.ร.บ.แร่ มาตรา 99 ว่า เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของครม. มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตแหล่งแร่ทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวน หวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น ซึ่งหลักการยังขัดกันอยู่
เมื่อสอบถามถึงโครงการพัฒนาเหมืองแร่โปแตชในไทย ผู้ประสานงานมูลนิธินิติธรรมฯ กล่าวว่า ประชาชนกังวลการนำเกลือจากใต้ดินขึ้นมากองเป็นภูเขาด้านบนนั้น เมื่อโดนอากาศในประเทศจะละลายและส่งผลกระทบทำให้ดินเค็มได้ อีกทั้งน้ำบาดาลจะหายไปและดินทรุด ดังนั้นเก็บไว้ก่อนได้หรือไม่ แล้วรอจนกว่าจะมั่นใจในมาตรการที่ดีขึ้น เพราะเก็บไว้อีก 10 ปี เกลือก็คงไม่เน่าหรือสูญหายไป
สำหรับเหมืองแร่โปแตชอาเซียน นำร่อง อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ก่อนขยายไปพื้นที่อื่น ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการ ที่สำคัญ ควรให้มีการศึกษาวิจัยและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน หากสุดท้ายทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจก็สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ แต่ถ้าดำเนินโครงการโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมก็ไม่ได้
จี้คุ้มครองพื้นที่ประวัติศาสตร์จากอุตฯ เเร่
ด้านนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ถูกเขียนขึ้นเหมือนเป็นทาสรับใช้กลุ่มทุนข้ามชาติ จึงวิงวอนให้รัฐบาลสั่งชะลอการผลักดันออกไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประเทศไทยจะเสียเปรียบ
“ทรัพยากรแร่เป็นของประชาชน ไม่ใช่ของรัฐ ดังนั้น หากปล่อยให้มีการบังคับใช้กฎหมายจะถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน การกระทำเช่นนี้ยิ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อไปอีก มิใช่การคืนความสุขให้ประเทศเลย” แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าว
ขณะที่นายกฤษดา ขุนณรงค์ เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.แร่มิได้มีบทบัญญัติคุ้มครองพื้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ดังเช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่ง เครือข่ายจึงเห็นว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่สมควรให้มีการสำรวจหรือทำเหมืองเด็ดขาด หรือกรณีอ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งให้สัมปทานแล้ว แต่ภายหลังพบแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีมีอายุราว 5,000 ปี ก็ยังไม่ได้รับการยกเลิกจากกพร.แต่อย่างใด แม้จะมีหนังสือยืนยันจากกรมศิลปากรก็ตาม .