‘สุนี ไชยรส’ ชี้จ่ายเบี้ยยังชีพ ตามกม.ผู้สูงอายุใหม่ ใช้เงินไม่ถึง 4 แสนล./ปี
ปลัดพม. ห่วงหลายมาตรากม.คุ้มครองผู้สูงอายุฉบับใหม่ เพิ่มภาระงบประมาณ ทั้งขยายนิยาม เงินเบี้ยยังชีพ ค่าทำศพ 'สุนี ไชยรส' เชื่อจ่ายเบี้ยยังชีพ ใช้เงินไม่ถึง 4 แสนล./ปี เหตุตัดสินผู้สูงอายุรวยออกไปแล้ว
วันที่ 4 ธันวาคม คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ..... ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
สำหรับความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ....มีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยมีการเสนอให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ที่ยังมีข้อจำกัด และไม่มีผลในทางปฏิบัติในการคุ้มครอง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเท่าที่ควร
รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ..... ว่า มุ่งเน้นให้มาตรฐานต่างๆ สอดคล้องกับหลักการจัดสวัสดิการสังคม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุจะพึงได้รับ เช่น การได้รับบริการที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมไปถึงเน้นให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ในทุกระดับ
รศ.ดร.วิจิตรา กล่าวถึงกรณีของประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ ปี 2553 จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีถึงร้อยละ 13.18 และกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุ นอกจากเป็นหน้าที่ของภาครัฐแล้ว จำเป็นต้องเน้นการกระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบครัว ชุมชน และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมด้านนี้
หลักการทั่วไปการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ อาทิเช่น กำหนดนิยาม "ผู้สูงอายุ" คือบุคคลที่มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักร (บุคคลไร้สัญชาติที่รอการพิสูจน์สัญชาติ เป็นต้น)
มาตรา 7 เรื่องการได้รับสิทธิพิเศษการลดหย่อนภาษี โดยผู้มีสิทธิได้รับการลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีที่กฎหมายกำหนด มีดังนี้ 1.ผู้สูงอายุ 2.ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้ช่วยผู้สูงอายุ 3.นายจ้างที่รับผู้สูงอายุเข้าทำงาน 4.ผู้บริจาคเงินให้กับกองทุน
รวมถึงการได้รับการจัดการศพตามประเพณี กำหนดไว้ใน มาตรา 41 ระบุให้หน่วยงานของรัฐจ่ายเงินค่าทำศพผู้สูงอายุ ในอัตรารายละไม่น้อยกว่า 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน
ด้านนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุฯ มีหลายส่วนจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับสังคมไทยที่มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่ก็มีความเป็นห่วง ที่กฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะขยายนิยามผู้สูงอายุ กว้างออกไปจากฎหมายผู้สูงอายุปี 2546
"การใช้นิยาม " ผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักร" หวั่นว่า โรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบจากการขยายนิยามใหม่นี้ และหากนิยามไม่ชัดเจน อาจเกิดช่องโหว่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ในอนาคต" นายวิเชียร กล่าว และว่า ปัจจุบัน ภาครัฐจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้ากว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี หากตามกฎหมายใหม่ ตามมาตรา 34 กำหนด จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีเงินรายได้รายเดือนน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีสิทธิได้รับเงินส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น 10 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปี แต่ไม่ยังไม่ครบ 70 ปี,15 เท่า สำหรับผู้สูงอายุ 70 ปี แต่ไม่ยังไม่ครบ 80 ปี,20 เท่า สำหรับผู้สูงอายุ 80 ปี แต่ไม่ยังไม่ครบ 90 ปี และ 25 เท่า สำหรับผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไปนั้น คาดว่าจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 4.3 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ ในชั้นกระบวนการผ่านร่างกฎหมายต้องตอบให้ได้ว่า จะนำมาจากไหน
ส่วนค่าจัดการศพผู้สูงอายุที่ยากจน นายวิเชียร กล่าวว่า ปัจจุบันจ่ายรายละ 2 พันบาท คิดเป็นเงิน 105 ล้านบาทต่อปี หากตามกฎหมายใหม่ในมาตรา 41 ให้รายละไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน คาดว่า จะใช้ไม่ต่ำกว่า 9 พันล้านบาทต่อปี ฉะนั้น รวมเงินเฉพาะกรณีการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ ต้องมีคำตอบถึงที่มาของเงินให้ชัดเจนในการเสนอกฎหมายด้วย
ส่วนการกระจายอำนาจการดูแลและจัดการสวัสดิการผู้สูงอายุ ปลัดพม. แสดงความเห็นด้วย พร้อมมองว่า เป็นเรื่องดี ขณะนี้กฎหมายปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม อยู่ชั้นพิจารณาของสนช คาดว่าจะ ผ่านในช่วงปีใหม่ และหากกฎหมายดังกล่าวออกมาประกาศใช้ จะเกิด "กรมกิจการผู้สูงอายุ" ขึ้น เพื่อมาดูแลภารกิจตรงนี้
ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงเงินส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตามมาตรา 34 จากปัจจุบันผู้สูงอายุได้รับถ้วนหน้านั้น กฎหมายฉบับใหม่ ได้ตัดสิทธิผู้สูงอายุที่ได้รับการตรวจสอบเบื้องต้นว่า มีรายได้มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำออกไป ดังนั้น เชื่อว่า ทำให้ตัวเลขงบประมาณที่จะนำมาใช้ส่วนนี้ จะต่ำกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี
นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิ มส.ผส. กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่า โชคดีที่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีไม่กี่ประเทศ และจากการติดตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ฯ ก็พบว่า เป็นกฎหมายที่มีพัฒนาการ ดีกว่ากฎหมายผู้สูงอายุ ปี 2546 ที่ใช้มา 11 ปี โดยเฉพาะกำหนดไว้ชัดใน กฎหมายใหม่ว่า จะกระจายอำนาจไปส่วนภูมิภาค รวมถึงโครงสร้างหน่วยงานผู้ดูแลผู้สูงอายุ จะใหญ่โตมากขึ้น ยกระดับเป็นกรม เป็นต้น
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดีมีการขับเคลื่อนเรื่องผู้สูงอายุมานาน ตั้งแต่ปี 2525 และมีแผนการทำงานผู้สูงอายุระยะยาว 20 ปี ปัจจุบันมีการทำร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งเห็นข้อดีที่ระบุ ให้มีองค์กรดูแลผู้สูงอายุระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด เนื่องจากความเป็นจริงผู้สูงอายุกระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นจะเข้าถึงกองทุนผู้สูงอายุได้ จากแต่เดิมอยู่เฉพาะส่วนกลาง ซึ่งนี่คือมีข้อจำกัด
"กฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีกองทุนระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่นขึ้นมา กว่า 8 พันกองทุนเพื่อมาสนับสนุนการทำงานผู้สูงอายุวันนี้การดูแลจากส่วนกลางไม่พอแล้ว ต้องกระจายอำนาจลงสู่ระดับจังหวัด ท้องถิ่น ความพยายามปรับปรุงกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ และมีการศึกษามาอย่างรอบด้านแล้ว"
สุดท้ายนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.คุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พ.ศ..... ที่เน้นกระจายอำนาจ ถือว่า เดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว พร้อมแสดงความเห็นห่วง ไม่อยากให้เป็นแบบกฎหมายกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ออกมาเป็นกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่นำไปปฏิบัติ กลับไปใช้มาตรา 40 ในกฎหมายประกันสังคม และแบบ ลด แลก แจก แถม จนผิดกลุ่มเป้าหมาย