พระองค์คือ "ช่างของประชาชน"
"สถาปัตยกรรมที่ดีคือสถาปัตยกรรมที่เคารพธรรมชาติ เคารพมนุษย์ผู้ใช้สถาปัตยกรรมนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นตัวอย่างของผู้ที่คิดรอบด้านให้เกิดสถาปัตยกรรมที่ดี สถาปัตยกรรมที่เคารพทั้งธรรมชาติและมนุษย์"
อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขียนบทความสั้นๆ เล่าเรื่องน่ารู้ เกร็ดน่าจำ....เรื่องในหลวง กับการออกแบบ-ก่อสร้าง ที่เหล่า "ช่าง" ทั้งหลายน่าจะทราบไว้ และใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติวิชาชีพ
การออกแบบก่อสร้างที่ดีไม่ได้หมายความถึงการออกแบบหรูหราหรือทันสมัยอย่างเดียว แต่มีหลายเรื่องที่เราอาจจะมองข้ามความสำคัญไป ซึ่งความสำคัญเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เคยลืมเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
๑. การออกแบบที่คิดถึงผู้พิการและผู้ชรา....
มีบันทึก ในตอนที่สถาปนิกออกแบบพระเมรุมาศของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่ท้องสนามหลวง ในหลวงท่านทรงตรัสกับสถาปนิก (อ.ประเวศ ลิมปรังษี) ว่า...
"ฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนัก จะเป็นการลำบากกับผู้สูงอายุในการขึ้นไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ....."
พระองค์ทรงตรัสและเป็นห่วงอย่างนี้ ก่อนที่พวกเราจะเริ่มรณรงค์เรื่องอาคารสำหรับผู้พิการ อาคารสำหรับเด็กและผู้ชรา
และก่อนที่กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะออกมาหลายปีมาก
๒. การออกแบบที่ต้องเคารพสิ่งแวดล้อมและท้องถิ่น...
ปรากฎอยู่ในการออกแบบก่อสร้างพระมหาธาตุฯ ที่วัดไทยในกุสินาราเฉลิมราชย์ (พระมหาธาตุเฉลิมพระราชศรัทธา ซึ่งก่อสร้างในปี ๒๕๓๙ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ของในหลวง)
ซึ่งจะก่อสร้างไม่เกินกว่าความสูงของสิ่งแวดล้อมและกฎหมายท้องถิ่น หรือการสร้างวัดไทยที่ประเทศอังกฤษ ก็เช่นเดียวกัน (พระอุโบสถวัดพุทธประทีป London) แม้ถ้าพระองค์ท่านจะให้ก่อสร้างผิดกฎหมายไปบ้าง ก่อสร้างอย่างไม่ต้องเกรงใจสิ่งแวดล้อมไปบ้าง คงจะสามารถทำได้
หากแต่พระองค์ทรงไม่กระทำ และต้องการให้ทุกอย่างนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นมิตรต่อชุมชนโดยรอบ
๓. เรื่องการออกแบบอย่างประหยัด....
ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือพระอุโบสถ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก (ซึ่งถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาล) เป็นวัดที่สร้างตามพระราชดำริของในหลวง โดยท่านต้องการให้เป็นวัดตัวอย่างของชุมชน เป็นวัดขนาดเล็กของชุมชนที่จะใช้งบประมาณอย่างประหยัด เรียบง่าย เน้นประโยชน์สูงสุด จะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของชุมชนเล็กๆในเมือง อบรมศีลธรรมและเผยแพร่ศาสนา เป็นศูนย์รวมใจในการพัฒนาชุมชน ....
เริ่มแรกนั้นสถาปนิก (อาวุธ เงินชูกลิ่น) ได้ออกแบบร่างครั้งแรกถวาย เป็นพระอุโบสถที่บรรจุคนได้ประมาณ ๑๐๐ คน และใช้งบประมาณค่าก่อสร้างอย่างประหยัดที่ ๕๗ ล้านบาท ...
ซึ่งเมื่อท่านได้ทอดพระเนตแล้ว ด้วยไม่โปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตเกินความจำเป็น จึงให้ลดขนาดลงเหลือบรรจุคนได้ ๓๐-๔๐ คน เหมาะสมกับกิจกรรมชุมชน และลดงบประมาณลงเหลือเพียง ๓ ล้านบาท ทำให้วัดพระราม ๙ ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญ เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่ถ่อมเนื้อถ่อมตัว ประหยัด ใช้วัสดุในประเทศเป็นสำคัญ แต่คงรักษารูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยไว้ได้
๔. เรื่องประโยชน์ใช้สอยต้องเหมาะสมกับผู้ใช้และสภาพแวดล้อม....
ตัวอย่างเช่นพระมหาธาตุที่กุสินารา ซึ่งอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งอากาศร้อนมาก (40 C) ในแบบร่างครั้งแรก (อ.วนิดา พึ่งสุนทร) เป็นเจดีย์และมีระเบียงโดยรอบให้คนเดินเวียนเทียนหรือจงกรมได้โดยรอบ เหมือนกับเจดีย์โดยทั่วไปอย่างที่เราเห็นกัน
ในหลวงก็ทรงตรัสให้ทำหลังคาคลุมทางเดินเหล่านั้นให้หมด เพื่อให้คนที่เข้าไปสักการะไม่ร้อนเกินไป แม้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะประโยชน์ใช้สอยเป็นเรื่องที่สำคัญ
(และในที่สุด อ.วนิดา ก็สามารถออกแบบพระมหาธาตุองค์นี้ได้อย่างดีเยี่ยม ได้ทั้งประโยชน์ใช้สอย และความสง่างาม)
ความสนใจในเรื่องของประโยชน์ของพระองค์ท่านนั้นมีอยู่มากมาย พวกเราทุกคนสามารถติดตามและชื่นชมในทุกๆโครงการที่พระองค์ท่านทรงเกี่ยวข้อง
๕. เรื่องของการบำรุงรักษา....
ตัวอย่างเช่นการสร้างศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร
ซึ่งทรงตรัสต่อสถาปนิกว่า ต้องยึดความมั่นคงแข็งแรงและการบำรุงรักษาเป็นสำคัญ เพราะมีคนเข้ามาสักการระอยู่บ่อยๆ จะปิดทาสีบ่อยๆไม่ได้ การบำรุงรักษาต้องเหมาะสมกับทุกคนที่มาจากที่ต่างๆกันได้โดยง่าย
.
๖. เรื่องจิตใจของคนอยู่....
ยกตัวอย่างเช่น ศาลเทพารักษ์ในบริเวณศาลหลักเมือง เมื่อก่อสร้างตัวอาคารเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาต้องทำลวดลายรดน้ำที่บานประตู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสว่า ในศาลเทพารักษ์นั้น พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี ล้วนเป็นเทพารักษ์ที่ดุทั้งสิ้น ฉะนั้นลายที่จะใช้ตกแต่งบานประตูหน้าต่าง ให้เขียนลายมงคล ๘ ประการ เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาสักการะเทพารักษ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นมงคลแก่ตัว
นอกจากนี้ ในหลวงของเราได้ทรงให้แนะนำด้านการสัญจร ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมหลากหลายโครงการ อาทิเช่น
- ถนนสุทธาวาส ปี แล้วเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ.2536
- ถนนหยดน้ำ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2537
- โครงการขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2537
- โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ พ.ศ. 2537
- โครงการสะพานคู่ขนานบรมราชชนนี ปี พ.ศ. 2539-2541
- โครงการสะพานพระราม 8 ปี พ.ศ. 2541-2544
ทั้งหมด เป็นข้อมูลที่อาจจะไม่เคยทราบกัน พระองค์คือ "ช่างของประชาชน" ทรงเป็นตัวอย่างทางการใช้ข้อมูล และจิตวิญญานแห่งความเป็นช่างโดยแท้จริง
ที่มา:https://www.facebook.com/profile.php?id=841517375&fref=nf