กฤษฎีกาไฟเขียวสนช.เบิกเบี้ยประชุม-เดินทางย้อนหลังนับแต่เข้าตำแหน่ง
กฤษฎีกาตีความ ไฟเขียวเบิกจ่ายเบี้ยประชุม-ค่าเดินทาง-ค่าใช้จ่าย-ค่าพาหนะ-ค่ารักษาพยาบาล ย้อนหลังนับแต่ ปธ.-รองปธ.-สนช. นั่งเก้าอี้ ตาม พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งฯ-มาตรา 40 รธน.ชั่วคราว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบคำถามสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เรื่อง การเบิกเงินตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ.2557
โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สอบถามว่า กรณีมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานสภาและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานสภาและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิก สนช. สมาชิก สปช. และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามกำหนดในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.)
ต่อมาได้มีการตรา พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ.2557 มีผลบังคับใช้วันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 โดยมาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว บัญญัติให้การเบิกเงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม เบี้ยประชุม ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าพาหนะ และค่ารักษาพยาบาลของผู้ดำรงตำแหน่งใน สนช. เบิกจ่ายจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจึงขอหารือว่า จะสามารถเบิกเงินและสิทธิประโยชน์อื่นดังกล่าวของผู้ดำรงตำแหน่งใน สนช. ซึ่งได้มีการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระยะเวลาก่อนวันที่ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ โดยขอหารือ 5 ประเด็นคือ การเบิกค่าเบี้ยประชุม การเบิกค่าพาหนะในการเดินทาง การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ดำรงตำแหน่งใน สนช.
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงบประมาณ) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
เห็นว่า สิทธิของประธานสภาและรองประธาน สนช. และสมาชิก สนช. ในอันที่จะได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ย่อมเกิดขึ้นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นต้นไป พระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นที่ต้องออกตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)ฯ เป็นแต่เพียงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราที่จะได้รับตามที่รัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจไว้เท่านั้น มิใช่เป็นพระราชกฤษฎีกาที่ก่อตั้งสิทธิแต่อย่างใด
ดังนั้น ประธานสภาและรองประธาน สนช. สมาชิก สนช. และคณะกรรมาธิการของ สนช. ย่อมมีสิทธิเบิกค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ และค่ารักษาพยาบาลได้ นับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง ตามอัตราและภายใต้เงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนด
อย่างไรก็ตาม โดยที่ พ.ร.ก.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557 ได้ขยายความไปถึงกรรมาธิการของ สนช. ที่มิได้เป็นสมาชิก สนช. ผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมาธิการของ สนช. และอนุกรรมาธิการของ สนช. ด้วย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่มิได้ระบุไว้ในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)ฯ แต่เมื่อคณะกรรมาธิการของ สนช. โดยรวมมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมนับแต่วันมีการประชุมเป็นต้นไป บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการของ สนช. จึงย่อมต้องได้รับผลเช่นเดียวกัน
(นายดิสทัต โหตระกิตย์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พฤศจิกายน 2557