“วิษณุ”ให้โยนหินถามทางดันนิรโทษกรรม เขียนให้ชัดเพื่อใคร-เมื่อไหร่
“วิษณุ” ให้ทุกฝ่ายโยนหินถามทางดันนิรโทษกรรม เลือกกระบวนการปฏิรูป-ยกร่างรธน. ยันรัฐบาลยังไม่ได้พิจารณา เผยเลือกตั้งแบบเยอรมันมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ชี้ทำให้พรรคเล็กได้เปรียบ แต่ขั้นตอนยุ่งยาก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังบรรยายที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงกรณีที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า เรื่องดังกล่าวสภาก็ดำเนินการเองได้ เพราะไม่ใช่กฎหมายการเงิน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้มาจากรัฐบาลแต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกัน สภาอาจจะดำเนินการยากขึ้น ต้องให้ถึงจุดนั้นก่อนแล้วค่อยมาคิดกันอีกครั้ง โดยวันนี้เป็นเพียงแค่อนุกรรมการชุดหนึ่งเสนอเข้ามา รัฐบาลยังไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเลย และนายกรัฐมนตรีได้พูดไว้แล้วว่าเรื่องนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คิดก็ให้ดำเนินการไป แต่บังเอิญว่าคนที่เสนอเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ใช่ สนช.
“ตอนนี้ยังฟังไม่ได้ศัพท์ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอในการปฏิรูปหรือเป็นข้อเสนอในการยกร่างรัฐธรรมนูญก็โยนหินมาหนึ่งก้อนถามทาง ช่วยโยนหินมาหลายๆ ก้อนหน่อย จะได้เข้าใจ ตอนนี้คงตอบไม่ได้ว่าการนิรโทษกรรมควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือออกเป็นกฎหมาย ต้องไปถามผู้เสนอมา และต้องเสนอมาให้สุดกระบวนการว่าจะนิรโทษใคร ทำเรื่องนี้เมือใด พร้อมทั้งเหตุผลในการเสนออย่างไร ถ้าเสนออย่างเป็นระบบก็อาจจะฟังขึ้นก็ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หนึ่งในกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้การเลือกตั้งในประเทศไทยให้เหมือนระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันว่า ได้ศึกษาระบบการเลือกตั้งของเยอรมันซึ่งมีข้อดี และข้อเสีย โดยข้อดีทุกคะแนนจะมีความหมาย แต่ระบบเลือกตั้งของบ้านเราคะแนนบางส่วนไม่มีความหมาย และทุกภาคส่วนมีโอกาสที่จะรับเลือก ส่วนข้อเสียจะมีความยุ่งยาก เราชินกับการเลือกตั้งที่คนได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จะได้รับเลือกตั้ง แต่ระบบขอเยอรมันคนที่ได้ลำดับที่ 2 อาจจะได้รับเลือก ซึ่งทำความเข้าใจเรื่องนี้ยากมาก ทั้งนี้ จุดอ่อนอีกเรื่องคือการทำให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะมีโอกาสได้รับเลือก
ผู้สื่อข่าวถามว่าระบบของเยอรมันจะทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เสียเปรียบ แต่ว่าต้องมันต้องแบ่งเปรียบให้แก่พรรคเล็ก ถ้าคิดว่าเราสามารถทนความยุ่งยากตรงนี้ได้ ระบบเยอรมันถือว่าน่าสนใจ เพราะคล้ายกับระบบการเลือกตั้งของออสเตรเลีย ส่วนหากมีการว่าจะมีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ก็จะยังมีเวลาอีก 1 ปีที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ อาจจะทดลองใช้ 1-2 พื้นที่ก่อนก็ได้ ส่วนต้องทำประชาพิจารณ์ก่อนหรือไม่นั้น การทำประชาพิจารณ์ไม่เหมือนกับการทำประชามติ ก็สามารถทำได้ ไม่ยากอะไร สามารถลองกับกลุ่มไหนก็ได้
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายวิษณุ จาก fpritraining