“วิชา”ปลุกจิตสำนึกสื่อ ยก “อิศรา”ต้นแบบเปิดโปงคอร์รัปชั่น
“วิชา” ชี้สื่อต้องปลุกจิตสำนึกประชาชนปราบทุจริต ระบุมีบางสำนักมัวเมา หลงผิด เห็นทุจริตเป็นชอบ ยันปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่องค์กร ยก “อิศรา-Thaipublica” สื่อแนวใหม่เปิดโปงคอร์รัปชั่น ลั่นแค่แสวงหาอำนาจ-ผลประโยชน์ก็โกงแล้ว ไม่จำเป็นต้องรับสินบน
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทสื่อมวลชนกับการสร้างสังคมโปร่งใส” ตอนหนึ่งว่า สิ่งแรกเราต้องปลูกและปลุกจิตสำนึก ใครจะทำได้ดีถ้าไม่ใช่สื่อมวลชนทั้งหลาย แต่ต้องยอมรับว่า สื่อมีทั้งที่ทำให้คนลุ่มหลง เมามัว ทำให้คนเข้าใจผิด หรือหลงผิด เช่น เห็นการว่าการทุจริตไม่เป็นไรขอให้ตัวเองได้ประโยชน์ นี่ไม่ใช่เป็นการปลูกจิตสำนึก แต่เป็นการทำให้จิตสำนึกเสื่อม ไร้ค่า ทำให้บ้านเมืองพินาศ ข้อนี้ขอเรียนว่า ประเทศที่เขาเยาะเย้ยหรือถากถางว่า จิตสำนึกเป็นไปทางโกงในโลกนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ชาติ หนึ่งในนั้นคือเม็กซิโก เช่น เรื่องของการจัดสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งพบว่านำเข้าจากบริษัทจากจีนเพียงแห่งเดียว ซึ่งต่อมามีสื่อไปคุ้ยเขี่ยว่า เหตุใดไม่เปิดการประมูล เป็นต้น นำไปสู่การเรียกร้องของประชาชน จนนำไปสู่การยกเลิกการประมูล แต่ก็ขว้างงูไม่พ้นคอ ถามว่ากระบวนการอย่างนี้ ประเทศไทยเรามีหรือไม่ ตอบได้ว่ามี และเราก็ตรวจสอบตลอดเวลาในเรื่องของการฮั้วก็ดี ตรวจสอบทุจริตก็ดี
นายวิชา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการตรวจสอบทุจริตนั้น เราได้รับความร่วมมือสำคัญจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็นคดีคลองด่าน ก็มีสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง เอเอสทีวีผู้จัดการ หรือคดีรถและเรือดับเพลิง ก็มีเดลินิวส์มาให้ถ้อยคำ หรืออีกหลาย ๆ คดีก็มาจากสำนักข่าวอิศรา ซึ่งถือว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อ เพราะไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นสื่อออนไลน์ กระบวนการทำสื่อขณะนี้ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผย หรือเปิดโปง สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน จึงไม่ใช่สื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์อีกต่อไป
“สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังมีความดีอยู่ แต่ที่มีกรณีที่จะขุดคุ้ยได้อย่างดียิ่งคือสื่อออนไลน์ หลายท่านอาจเคยได้ยินสำนักข่าว Thaipublica ซึ่งเป็นสื่อที่รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล เรื่องทุจริต โปร่งใส-ไม่โปร่งใส ในโครงการต่าง ๆ ป.ป.ช ต้องเปิดดูเป็นประจำ รวมไปถึงสำนักข่าวอิศราด้วย” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวว่า สื่อต้องทำให้คนตื่นตัวและต้องให้เขามีส่วนร่วมในการแก้ไขทุจริต ไม่ใช่ควรต้องหลบซ่อนเพราะว่าเราได้ประโยชน์ร่วมกัน มีคนพูดกันหลายหลากว่า สื่อเดี๋ยวนี้อาจเรียกได้ว่า ย่อหย่อน หรือว่าหมดกำลังไป แต่คิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องของระบบ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า เพราะว่าตัวบุคคลเหล่านี้อยู่ในกระบวนการของสื่อ ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ได้เชื่อมโยงกับองค์กรที่ปราบปรามการทุจริตโดยตรง เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่โดยตรง
“ป.ป.ช. แต่เดิมมาอะไรก็เป็นความลับ เราไม่ค่อยอยากเปิดเผยเท่าไหร่ เพราะเรารู้สึกว่ามันจะไปกระทบถึงสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือไม่ ครอบครัวเขาหรือไม่ จะไปทำให้เขาเดือดร้อนหรือไม่ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ เราเห็นตรงกันว่า จะซุกซ่อนปกปิดไม่บอกเรื่องราวต่าง ๆ ให้สื่อได้รับทราบและส่งต่อให้ประชาชนไม่ได้อีกแล้ว ไม่ได้อย่างเด็ดขาด” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวอีกว่า แนวโน้มของโลกนี้บอกไว้ว่า สิ่งที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันและปราบปรามการทุจริตคือต้องได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริง และข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นข้อมูลที่ลงลึกถึงกระบวนการในการโกง ไม่ว่าจะเป็นการโกงในระดับไหน ท้องถิ่นหรือระดับชาติ หรือในรูปแบบองค์กรของรัฐ ถ้าประชาชนไม่ได้รับการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ประชาชนก็จะร่ำลือกันไปเองว่าคนนั้นคนนี้ทุจริตจริงหรือไม่
นายวิชา กล่าวด้วยว่า การทุจริตนั้นแท้ที่จริงไม่ใช่แค่เรื่องรับสินบาทคาดสินบนอย่างเดียว ประชาชนมักมองเรื่องทุจริตว่า เป็นเรื่องของการฉ้อราษฎร์บังหลวง ให้และรับสินบน ฉะนั้นกระบวนการ ข้าราชการระดับผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองก็ดี ที่ได้กระทำลงไปในสมัยใหม่ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องของการรับสินบน แต่เป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ที่เป็นเรื่องของอำนาจ แสวงหาอำนาจ ซึ่งประชาชนจะไม่เข้าใจในจุดนี้ เช่น เอาเงินไปหว่านเอาคะแนนเสียงกลับคืนมา ซึ่งในสมัยใหม่ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต บอกว่า นี่คือการทุจริตโดยแท้ เพราะคุณได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น
“เช่น ขุดบ่อน้ำ ขุดคลอง เอาน้ำไปใช้ประโยชน์ในสนามกอล์ฟของตัวเอง อย่างนี้ถือว่าทุจริต โดยแบ่งส่วนหนึ่งเล็กน้อย หยดหนึ่งน้ำสังข์ที่ไหลหลั่งมาให้ชาวไร่นิด ๆ หน่อย ๆ บอกว่า ทำโครงการนี้ชาวนาได้ประโยชน์แล้ว แต่ที่ได้ประโยชน์จริงคือเจ้าของสนามกอล์ฟ” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวว่า ต้องทำให้ประชาชนเข้าไปใจก่อนเป็นอันดับแรกว่า การทุจริตนั้น ไม่ใช่เรื่องของการกินสินบาทคาดสินบนอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ และแสวงหาอำนาจ เช่น นักการเมือง ตั้งอธิบดี ปลัดกระทรวง เข้ามาเพื่อให้อนุมัติโครงการ เป็นผู้เซ็นโครงการ อย่างนี้ถือว่าทุจริต เพราะเป็นผู้วางแผนล่วงหน้า อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต บอกว่า เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด การระดมเอาทรัพยากรของชาติเข้ามาเป็นของตัวเอง อนุมัติให้บริษัทเข้าครอบครองอุทยานแห่งชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ออกโฉนดที่ดินให้ ซึ่งเป็นการออกโฉนดที่ดินที่ผิด อย่างนี้ถือว่าเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ไม่ได้เงินสักบาทเดียวก็ตาม
“คำว่าไม่ได้เงินสักบาทเดียว สมมติ เราไต่สวนไม่พบเลยว่า เขารับเงินรับทองที่ไหนอย่างไร แต่กระบวนการอย่างนี้ เขาถือว่าทุจริตแล้ว” นายวิชา กล่าว