"สราวุธ"ยัน"วิรัช"ขอถอนเรื่องทำหน้าที่ กพค.จริง-แจงเหตุผลเพื่อไม่ให้มีปัญหา
"สราวุธ เบญจกุล" ยัน "วิรัช ชินวินิจกุล" ขอถอนเรื่องไปทำหน้าที่ กก.ผู้ทรงคุณวุฒิกพค.จริง รวมถึงกรณี 3 ผู้พิพากษา "อดุลย์-ธานี-สุริยันต์" ด้วย เผยให้เหตุผลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ชี้ในอนาคตจะไม่เกิดเรื่องซ้ำอีก หากทุกฝ่ายปฏิบัติตามกม.เคร่งครัด
จากกรณีปรากฎข่าว นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา ได้ขอถอนเรื่องการแต่งตั้งตนเองไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กพค.) รวมถึงกรณี นายอดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ถูกขอตัวไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ขณะที่ นายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด สนช. ก็ขอถอนเรื่องการขอตัวนายธานี สิงหนาถ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ไปดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติ และนายสุริยันต์ หงษ์วิไล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เป็นผู้ชำนาญการประจำตัว ของตนเองออกไปด้วย นั้น
(อ่านประกอบ : "วิรัช ชินวินิจกุล"พร้อมพวก ถอนเรื่องขอเป็น กพค.-ช่วยการเมืองจาก ก.ต.)
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในการประชุม ก.ต.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา ได้แถลงขอถอนเรื่องการแต่งตั้งตนเองไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กพค.) จากที่ประชุมจริง รวมถึงกรณีนายอดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
ส่วนกรณี นายธานี สิงหนาถ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และนายสุริยันต์ หงษ์วิไล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ที่ถูกขอตัวให้ไปดำรงตำแหน่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.)ประจำนายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด ก็มีการขอถอนเรื่องออกไปเช่นกัน โดยเจ้าตัวทั้งสองคนขอถอนเรื่องเอง รวมถึงในฝ่ายของนายมนตรี ก็ขอถอนเรื่องขอตัวออกไปเองด้วย
"ผลจากการที่ผู้พิพากษาทั้ง 4 ท่าน ได้ขอถอนเรื่องออกไปเอง ทำให้ที่ประชุม ก.ต.ไม่ได้มีการพิจารณาวาระเรื่องดังกล่าว จึงถือว่าผู้พิพากษาทั้ง 4 ท่าน ไม่ได้ดำรงตำแหน่งช่วยงานฝ่ายการเมืองอีกแล้ว และในมติ ครม.แต่งตั้งให้ดำรงที่ออกมา ก็ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า จะไปทำหน้าที่ได้ก็เมื่อผ่านความเห็นชอบที่ประชุม ก.ต.แล้ว"
(อ่านประกอบ : แพร่คำสั่งตั้ง กพค.ใหม่ 9 คน “วิรัช ชินวินิจกุล” มีเงื่อนไข ให้ ก.ต.อนุมัติก่อน)
ส่วนแนวทางการป้องกันปัญหาเรื่องนี้ ไม่ให้เกิดซ้ำรอยขึ้นมาอีกนั้น โดยเฉพาะในกรณีของนายวิรัช ชินวินิจกุล และนายอดุลย์ ขันทอง ที่ครม.มีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งไปก่อนที่จะได้รับการอนุญาตจากที่ประชุม ก.ต.นั้น นายสราวุธ กล่าวว่า ทางก.ต.คงไม่มีแนวทางอะไรออกมาในการป้องกันปัญหาเรื่องนี้ เพราะในข้อเท็จจริงการขอตัวผู้พิพากษาไปช่วยงาน มีกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว
"ตามข้อกฎหมายหากจะมีการขอตัวผู้พิพากษาไปช่วยงานจะต้องมีการนำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ตามพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59(3) ให้เรียบร้อยก่อน ถ้าหน่วยงานที่ขอตัว และผู้พิพากษาที่ถูกขอตัว ปฏิบัติตามกฎหมายนี้อย่างเคร่งครัด ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้นอีก " รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ