แจกชาวนาไร่ละพันกระตุ้นจีดีพี - คนลพบุรีนำเงินใช้หนี้ถึง 17%
สศก.เผยชดเชยรายได้ชาวนาไร่ละพัน คาดช่วยกระตุ้นจีดีพี 9 หมื่นล้านบาท ลดภาระภาคเกษตรทั้งระบบ 1.7 พันล้านบาท ยกผลสำรวจ จ.ลพบุรี ส่วนใหญ่นำไปลงทุนปัจจัยการผลิต 68% อีก 17% ใช้หนี้ ชงรัฐเร่งส่งเสริมลดหนี้อนาคต หวังอยู่ดีกินดี
วันที่ 2 ธันวาคม 2557 ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จัดแถลงข่าว ‘มาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท’ ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร บางเขน
ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยถึงมาตรการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวปีผลิต 2557/58 จำนวน 14,311 ราย ใน 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ลพบุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม พิจิตร กำแพงเพชร และพิษณุโลก วงเงิน 176.1 ล้านบาท จากเป้าหมาย 40,000 ล้านบาท
“ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 สามารถโอนเงินให้เกษตรกร จำนวน 1,296,408 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ทำนาทั้งหมด 15.30 ล้านไร่ วงเงิน 15,301 ล้านบาท” ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าว และว่า วงเงินดังกล่าวสามารถกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้น มูลค่ารวม 34,947 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นภายในและนอกภาคเกษตร 2,570 ล้านบาท และ 32,377 ล้านบาท ตามลำดับ
หากมีการใช้จ่ายงบประมาณครบ 40,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ถึง 91,357 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.28 เท่า ของจำนวนเงินชดเชย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นภายในและนอกภาคเกษตร 6,718 ล้านบาท และ 84,639 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากมีการเร่งรัดให้มีการใช้จ่ายผ่านมาตรการชดเชยรายได้มากขึ้น จะช่วยลดภาระหนี้สินในภาคการเกษตร 500 บาท/ครัวเรือน หรือลดภาระหนี้ในภาคเกษตรทั้งระบบ 1,745 ล้านบาท
ผศ.ดร.กัมปนาท กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ได้เก็บข้อมูลเกษตรกร 40 ราย ในพื้นที่อ.ท่าวุ้ง และอ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี พบเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจเมื่อได้รับการช่วยเหลือ โดยนำเงินที่ได้รับไปลงทุนในการซื้อปัจจัยการผลิตต่าง ๆ 68% เงินไปใช้หนี้สูงถึง 17% ที่เหลือใช้อุปโภคบริโภค และมีเงินเหลือเก็บ 650 บาท/คน
สิ่งที่น่ากังวล คือ เกษตรกรนำเงินไปชำระหนี้แก่นายทุน และกู้นำกลับมาหมุนเงินต่อ ฉะนั้นจึงมีต้องส่งเสริมการลดหนี้ในอนาคต เพื่อจะมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น
ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวก็ทำให้ราคาปัจจัยการผลิตปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น 20-25 บาท สารเคมี 10-20 บาท ฉะนั้นเงินที่เข้าไปสู่ระบบจึงมีผลต่อการปรับตัวของสินค้ารองรับ จึงไม่ถึงมือเกษตรกรเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดมาจาก จ.ลพบุรี ไม่แน่พื้นที่อื่นอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ก็สามารถทำให้เห็นภาพเบื้องต้นได้
ผอ.ศูนย์วิจัยฯ ยังพบว่า ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ.ลพบุรี ยังเป็นปี 2552/53 ซึ่งไม่เป็นปัจจุบัน ดังนั้น จึงควรดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อจะช่วยให้การดำเนินโครงการเป็นธรรมมากที่สุด นอกจากนี้ การให้เงินควรพิจารณาลำดับก่อนหลัง โดยให้เกษตรกรรายย่อยที่มีความจำเป็นก่อนรายใหญ่
ด้านดร.ภูมิศักดิ์ ราศี ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า การให้เงินแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพบปัญหาไม่เกิน 5% เพราะการดำเนินงานเป็นไปอย่างเคร่งครัด มีการตรวจสอบ และรับรองกันเองภายในชุมชน ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าราคาข้าวจะยังไม่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องช่วยพยุงในระดับหนึ่งผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่ออกแบบไว้
ส่วนระยะยาวจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือไม่ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฯ ระบุว่า ต้องรอดูสถานการณ์ตลาดโลก หากเติบโต 3% ตามที่คาดการณ์ไว้ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ต่อ เพราะจะเป็นปัญหาในการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐ แต่สำหรับชาวนาต่างต้องการให้รัฐดำเนินการต่อไป .