ไทยรั้งอันดับ 3 โลก สธ.ตั้งเป้าหยุดความสูญเสียอุบัติเหตุทางถนน
ไทยติดอันดับ 3 ของโลกอุบัติเหตุทางถนนมากสุด นพ.รัชตะ สั่งรณรงค์เข้มข้นลดพฤติกรรมเสี่ยง สวมหมวกกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด รวมถึงเมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ
วันที่ 1 ธันวาคม ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานการประชุมหารือกับภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยทางถนน ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคาร 1 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแลงานด้านจราจรทั่วประเทศ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และประธาน คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด(สอจร. ) และนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เข้าร่วม ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการสรุปรายงานการประชุมที่ประเทศบราซิล และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน
ภายหลังการประชุมหารือ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่า ประเทศไทยมีสถิติความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน อันดับ 3 ของโลก โดยเฉพาะเกิดกับประชากรวัยทำงานคนหนุ่มสาว จึงเป็นเรื่องที่เราต้องหยุดยั้ง และช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ได้
"งานความปลอดภัยทางถนน ไปเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำเป็นต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน แต่ข้อดีงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ยังมีมีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความสนใจร่วมแก้ปัญหานี้"
รมว.สธ. กล่าวถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังใกล้เข้ามาที่มีประชาชนออกเดินทางไปต่างจังหวัดจำนวนมากนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องการรักษาและป้องกันอุบัติเหตุก็จะมีการสื่อสาร ให้ความรู้ และรณรงค์อย่างเข้มข้นถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งเรื่องการสวมหมวกกันน็อค การคาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด รวมถึงเมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เป็นต้น
ส่วนแผนระยะยาว ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงฯ จะทำงานขับเคลื่อนลงไปให้ถึงเขตสุขภาพระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมถึงการจัดเก็บข้อมูล บริหารจัดการกับข้อมูลที่ยังแยกส่วนกันทั้งของ ตำรวจ ประกันภัย สาธารณสุข บูรณาการให้สมบูรณ์ถูกต้อง เพื่อนำมาวิเคราะห์ และใช้ป้องกันการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในอนาคต
ด้านนพ.วิทยา กล่าวถึงรายงานผลการประชุมเตรียมงานขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 14 พย.ที่ผ่านมา เป็นการเตรียมการประชุม The 2nd Global ministerial Meeting for Road Safety 2015 ที่จะมีการประชุม ณ กรุงบราซิลเลียในปีหน้า หลังจากที่มีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2011 ที่กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย โดยครั้งนั้นมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 180 ประเทศ มีผลออกมาให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องมีนโยบายด้านความปลอดัยทางถนน เพราะมีอัตราการสุ่มเสี่ยงและสูญเสียมากมายทั่วโลกปีละกว่า 1.3 ล้านคน ไม่นับคนพิการจำนวนมหาศาล
"องค์การอนามัยโลกมีการประเมินผลการดำเนินงานในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (2011-2020) ประเทศที่มีรายได้ระดับสูงสามารถลดได้มากกว่า 50% ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ระดับกลางลดลง 40 % ประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำลดเพียง 10% ด้านการบริหารจัดการเสาหลัก 5 ด้าน องค์การอนามัยโลกประเมินว่า มีปัญหาทุกเสาหลัก ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ ด้านยานพาหนะปลอดภัย ด้านถนนปลอดภัย ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งประเทศไทยได้รับการยกให้การแพทย์ฉุกเฉินมีการดำเนินงานที่ดีที่สุด"
ขณะที่นพ.ธนะพงศ์ กล่าวถึงปัญหาการเก็บข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูลของไทย เป็นเรื่องสำคัญมาก ปัจจุบันนี้ข้อมูลยังแยกกันอยู่ ยิ่งเมื่อนำข้อมูลมารวมกันฐานตัวเลขของผู้เสียชีวิตจะสูงมากกว่าที่มีการรายงานว่า เสียชีวิตปีละ 13,000 คน แต่ที่พบคือ 23,000 คน ใกล้เคียงกับข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกรายงานไว้ถึง 26,000 คน ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลทางวิชาการที่ลงลึกไปถึงระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ