คนอุดรฯ ถกแผนแม่บทพัฒนาพลังงาน “ไม่เป็นธรรม-ขัดแย้งกันเอง”
เครือข่าย “ไม่เอานิวเคลียร์” เปิดเวทีให้ข้อมูลคนอุดรฯ ชี้แผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย เอื้ออุตสาหกรรม-ทำชาวบ้านแบกผลกระทบ เสนอพลังงานทางเลือกยั่งยืน-เป็นมิตรชุมชน-สิ่งแวดล้อม
วันที่ 7 ก.ย.54 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพภาคอีสาน และ ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมืองสถาบันพระปกเกล้า จ.อุดรธานี ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศแม่น้ำโขง เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และ เครือข่ายทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมอีสาน จัดเสวนา “สถานการณ์ปัญหาพลังงานนิวเคลียร์และทางออกสู่การพัฒนาพลังงานทางเลือกในสังคมไทย”
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวว่าแผนพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไทยมีความไม่เป็นธรรม และขัดแย้งกันเองคือด้านหนึ่งเป็นแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งภาครัฐโดยเฉพาะ กฟผ.ยังแสดงท่าทีเป็นผู้ค้าขายไฟฟ้า โดยมีแผนซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน สร้างภาระให้ประชาชนแบกรับต้นทุนที่ไม่จำเป็น
“พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กัน ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชนคนส่วนใหญ่ แต่อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 47.33 รองลงมาคือภาคธุรกิจร้อยละ 25.69 ส่วนภาคครัวเรือนใช้ไฟเพียงร้อยละ 21.17” นายสันติกล่าว
นายสันติ กล่าวอีกว่า ไฟฟ้าที่ซื้อเข้ามารองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศทั้งสิ้น จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีการผลักดันสร้าง ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเพื่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในการผลิตสูง
“โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตสที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.อุดรธานี และมีแนวโน้มว่าเหมืองแร่โปแตสนี้ จะเป็นแหล่งกักเก็บกากนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเช่นกัน”
นายสันติ กล่าวถึงบทเรียนการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะ ญี่ปุ่น และจากกากนิวเคลียร์ที่เก็บไว้ ใต้เหมืองแร่โปแตสอัซเซ เยอรมันนี ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมีรัศมีแพร่กระจายกว้างขวาง ทั้งๆที่เป็นประเทศเจริญแล้ว และมีมาตรการเตรียมรับมือปัญหาอย่างเป็นระบบ ผู้คนมีวินัย กฎหมายมีธรรมาภิบาล แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้ และยังมีการปกปิดข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นนหากเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยก็ไม่ต้องพูดถึงผลกระทบว่าร้ายแรงกว่า
ด้านนายบุญเลี้ยง โยทะกา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงน้ำพอง2-อุดรธานี 3 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านไม่ต้องการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน เหมืองแร่ หรือแม้แต่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งหมดต่างเอื้อประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรม แต่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
“รัฐควรส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ที่มีความยั่งยืน สะอาดปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศก็มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง และเห็นผลแล้ว” นายบุญเลี้ยงกล่าว .