คำต่อคำ“วิษณุ เครืองาม”ชำแหละไทย! ไฉนวนอยู่แต่ปัญหาคอร์รัปชั่น
“…คำว่าวาระแห่งชาติอาจเป็นคำพูดกันบ่อย บางครั้งบางเรื่องไม่อาจเป็นได้ แต่พูดให้มีความสำคัญเหมือนกับสมัยนี้ มันต้องเติมอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลเพื่อให้ใหญ่โต แต่การป้องกันทุจริตไม่ใช่วาระแห่งชาติที่พูดเล่น ๆ มันเป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ เพราะเป็นภยันตรายที่กัดกร่อน ทำลายชื่อเสียงของประเทศ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นปาฐกถาพิเศษของนายวิษณุ เครืองาม เรื่อง “นโยบายการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ” ในงามสัมมนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระยะที่ 2 จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
----
ความคิดในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั้น เป็นสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดเป็นวาระเบื้องต้น ตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทีผ่านมา จะถือว่าเป็นหัวใจของสิ่งที่เรียกว่า โร้ดแม็พ หรือขั้นตอนการทำงานขั้นที่ 1 ก็ว่าได้ จนกระทั่งส่งต่อขั้นที่ 2 นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งมีนโยบายในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตปรากฏอยู่ ดังเห็นได้จากการ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ใน รธน.ชั่วคราว หลายแห่ง และกำหนดไว้ในอาณัติว่า ในการยกร่าง รธน.ฉบับถาวร ต้องรักษาเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนี้ไว้ด้วย โดยกำหนดไว้ใน 1 ใน 11 หัวข้อที่ต้องบัญญัติไว้ใน รธน.ฉบับใหม่
แม้การตั้ง สปช ได้มีการกำหนดวาระงานต่าง ๆ 11 ด้าน ที่จะต้องปฏิรูป แต่มีคนไปดูวาระทั้ง 11 ด้าน แล้วทักท้วงว่าไม่มีด้านไหนพูดถึงการป้องกันการทุจริต มีแต่การปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา พลังงาน เป็นต้น
หัวหน้า คสช และนายกฯ ได้อธิบายหลายครั้งว่า การป้องกันการทุจริตนั้นจะแยกเป็นหัวข้อหนึ่งหัวข้อใด แยกจากหัวข้ออื่นไม่ได้ เพราะเหมือนยาดำทีแทรกอยู่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การปกครองท้องถิ่น พลังงาน เศรษฐกิจ สังคม สื่อมวลชน หรืออะไรก็ตาม จะต้องชำแรกแทรกอยู่ในเนื้อหาการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านให้จงได้ ฉะนั้นจะบอกว่าไม่มี ไม่ได้ทำ หรือไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้
แม้จะให้ความสำคัญถึงปานนั้น อาจจะมีท่านผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า สักแต่ว่าเป็นวาทกรรม เป็นคำพูดไพเราะ และที่จริงมีความตั้งใจอย่างนั้นหรือไม่ แต่ละท่านก็มีสิทธิตั้งข้อสงสัย แต่ที่สุดก็ต้องพูดว่าระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน สิ่งใดพูดว่าต้องทำให้สำเร็จจนได้ ตามหลักที่ว่าเมื่อได้กล่าวสิ่งใดก็ต้องทำให้ได้ในสิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่ต้องพิสูจน์ และจับตา ซึ่งรัฐบาลท้าทาย และเปิดโอกาสให้มีการจับตาดูและเฝ้าระวัง
แม้แต่การยกร่างนโยบาย ที่ต้องแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกฯ นั่งเป็นหัวโต๊ะเวลายกร่างนโยบาย ท่านถามหาว่า ได้กำหนดนโยบายเรื่องการป้องกันการทุจริตไว้หรือไม่ คณะทำงานยกร่างฯ ต้องและชี้แจงว่า ได้กำหนดนโยบายที่รัฐบาลต้องแถลง 11 ด้าน ทุกอย่างอยู่บนเลข 11 ทั้งนั้น และได้แทรกการป้องกันการทุจริตไว้ในทุกด้านของนโยบาย ที่อาจเด่นชัดคือ ด้าน 10-11 ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย ระบบราชการ กระบวนการยุติธรรม
ทุกวันนี้ปัญหาฉ้อราษฎรังหลวง ดูจะระคนปนกันอยู่กับระบบข้าราชการ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เพราะการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง ให้เงินใต้โต๊ะบนโต๊ะ หรือทุจริตด้วยประการทั้งปวง ให้เกิดภาระกับชาติ ทำให้เสียหน้าไปหมด อยู่ในเรื่องของระบบราชการ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม
ผลของการสำรวจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการจัดลำดับการทุจริตของประเทศต่าง ๆ และก็ให้คะแนน ให้แต้ม ผลปรากฏว่าในปี 2556 ที่เพิ่งร่วงมา มีหน่วยงานระหว่างประเทศได้ให้คะแนนประเทศไทย ในเรื่องของการทุจริต 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 และจัดลำดับอยู่ในลำดับที่ 102
ตัวเลขเหล่านี้อาจไม่แสดงอะไรมาก แต่คนที่คร่ำหวอดในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความตกต่ำแค่ไหนของประเทศไทย เพราะคะแนนที่ได้แสดงให้เห็นถึงดัชนีชี้วัดว่ายังมีทุจริต และมีการทุจริตในส่วนราชการ ส่วนการเมือง มีการซื้อขายตำแหน่ง แม้กระทั่งภาคเอกชนมาติดต่อเพื่อทำธุรกิจ จะต้องเสียใต้โต๊ะ บนโต๊ะ ใต้ดิน บนดิน โดยปราศจากมูลที่ควรจะต้องจ่าย คะแนนที่ได้นั้น ได้น้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เสียอีก
สิ่งเหล่านี้คือปัญหา ฉะนั้นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อ สนช. จึงได้ยกเอาเรื่องป้องกันทุจริตมาเป็นเรื่องใหญ่ โดยแทรกและกล่าวถึงในหมวดของการพัฒนาระบบข้าราชการ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ถ้าจะกล่าวต่อก็กล่าวได้ว่า นอกจากหน่วยงานมาจัดลำดับแล้ว ธนาคารโลก ที่จัดลำดับเชื่อถือในการลงทุน ระบุว่า สองปีก่อน ไทย อยู่อันดับ 28 ล่าสุดขยับเป็น 26 ดีหน่อย แต่กี่ปีกี่ปี ก็วนเวียนฉวัดเฉวียนอยู่แถวนี้ ขณะที่สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ที่ควรลงทุนมากที่สุด
ผลอย่างนี้เกิดมาทุกปี รัฐบาลทุกชุดก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่คะแนนออกมา ในที่สุดก็สอบถามว่าติดใจอะไรหรือ ทำไมขึ้นเป็นที่ 2 ไม่ได้ สำรวจแล้ว เวลาใครก็ตามที่มาทำธุรกิจในไทย มีปัญหาในการขออนุญาตตั้งโรงงาน น้ำ ไฟ โทรศัพท์ ซื้อขาย โอนที่ดิน หรือการจะขออนุมัติอะไรก็ตามมันล่าช้า มันติดที่ขั้นตอนเยอะ และมีการทุจริตเรียกสินบาท คาดสินบนเกิดขึ้น หลังจากสำรวจแล้ว ก็ได้คะแนนสิริรวมแค่นี้ และจัดคะแนนได้ลำดับนี้แหละ นี่เป็นแค่เรื่องตัวเลข
ถ้าบริหารแผ่นดินต้องทำให้น่าเชื่อถือ ทุจริตลดลง และศักยภาพในทางประเทศต้องได้รับการกล่าวขานให้จงได้ และนั่นคือต้องขับเคลื่อนอย่างหนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ตรงกับภารกิจและเจตนารมณ์ของ ป.ป.ช. ซึ่งต้องเป็นตัวขับเคลื่อน
ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลมีเรื่องต้องทำเยอะมาก แต่เรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องสลักสำคัญ จำเป็นต้องทำเร่งด่วน ฉับไว้ รอช้าแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ ประการหนึ่ง เรื่องใดก็ตามไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ต้องระดมผู้คน ไม่ว่าภาคีเครือข่ายพันธมิตรอะไรก็ตาม ต้องระดมสติปัญญาความรู้ ต้องระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออะไรก็ตามเข้าร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อน ประการหนึ่ง และต้องมีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน กำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อจะเดินทางเข้าไปโจมตีต่อต้านภยันตรายนั้นโดยพร้อมเพรียงกันให้จงได้ อีกประการหนึ่ง ถ้ามี 3 เรื่องนี้ รัฐบาลต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ
คำว่าวาระแห่งชาติอาจเป็นคำพูดกันบ่อย บางครั้งบางเรื่องไม่อาจเป็นได้ แต่พูดให้มีความสำคัญเหมือนกับสมัยนี้ มันต้องเติมอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลเพื่อให้ใหญ่โต แต่การป้องกันทุจริตไม่ใช่วาระแห่งชาติที่พูดเล่น ๆ มันเป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ
เพราะเป็นภยันตรายที่กัดกร่อน ทำลายชื่อเสียงของประเทศ ทำลายความสะดวกสบายของคนในประเทศ ทำลายขวัญและกำลังใจของคนในประเทศ ตั้งแต่โบราณ-ปัจจุบัน-อนาคต เรียกว่าเป็นปัญหาแห่งชาติอันยั่งยืนก็ว่าได้
ฉะนั้นมันจึงเป็นวาระแห่งชาติที่แท้จริง ความจริงถ้าไปถามวงการต่างประเทศว่า ปัจจุบันนี้อะไรคือวาระแห่งชาติ กระนั้นได้รับทราบจาก นายกฯ และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ 2 ท่านนี้ออกไปต่างประเทศบ่อย ได้บอกเล่าว่า วันนี้วงการต่างประเทศถือว่าวาระแห่งชาติอันเป็นสากลมีอยู่ 4 วาระ ซึ่งทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไขและจัดการ 1.การเปลี่ยนแปลงอากาศ ภยันตรายจากธรรมชาติ 2.ภัยจากโรคระบาด 3.ภยันตรายจากการก่อการร้าย และ 4.ภยันตรายจากการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน
คำว่าพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน หมายความว่า มีการพัฒนา ที่มุ่งจะแก้ผลอย่างหนึ่ง กลับให้เกิดผลอีกอย่างหนึ่ง เช่น จะแก้ปัญหายากจน แต่กลับเป็นเลือกลำเอียงปฏิบัติ หรือทุจริต ทำทีประหนึ่งจะแก้เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการละเมิดต่อกฎหมาย เหล่านี้คือไม่ยั่งยืน แต่ทั้งหมดที่ว่าเป็นวาระแห่งชาติแบบสากล
ถ้าย้อนมาพูดวาระแห่งชาติแบบไทย ๆ คือสิ่งที่เกิดในประเทศเรา จะเกิดอะไรถ้าเราจะแก้ปัญหาดินฟ้าอากาศ แต่กลับมีการทุจิตมหาศาล เช่น จะคิดโครงการแก้ปัญหาอุทกภัย แต่งบประมาณมีการทุจริตกว่าครึ่งหรือเกินครึ่ง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศจะได้รับการแก้ไขจริงหรือ ในที่สุดวาระแห่งชาติ ก็ไปพันกับวาระของโลกเข้าจนได้ ในที่สุดก็แก้อะไรไม่ได้เลย
หรือจะแก้ปัญหาโรคระบาด แต่ยังมีปัญหาจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือแพทย์ ในที่สุดโรคก็ยังเกิด คนก็ยังเจ็บ ยังล้มตาย และงบประมาณก็ยังเสียไป ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา แม้แต่ภยันตรายจากเรื่องก่อการร้าย จะมีประโยชน์อะไร หากเรามุ่งแก้ปัญหานั้น แต่เรามีปัญหาเรื่องทุจริตจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ทุจริตแม้แต่เบี้ยเลี้ยง สุดท้ายก็เสียขวัญกำลังใจ อาวุธดี ๆ ก็ไม่มี
จนกระทั้งการพัฒนาแบบยั่งยืน จะมีประโยชน์อะไรท่ามกลางการพัฒนามีการทุจริตถึงต้นและปลายทาง ในที่สุดการพัฒนาก็ไม่บังเกิดผลสำฤทธิ์ นี่คือความเชื่อมโยงของวาระแห่งชาติในประเทศ-ของโลก และเชื่อมต่อเป็นนิยายเรื่องเดียวกัน
เราจึงรู้อยู่แก่ใจว่าเรื่องทุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องระดมสรรพกำลังเข้ามาทำ ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน อย่างน้อยที่สุดที่ปรากฏในนโยบายที่แถลงต่อ สนช. 3 แนวทาง คือ การแก้กฎหมาย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานของสังคม และเป็นบ่อเกิดของการมีอำนาจ เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติอะไร ต้องเริ่มต้นที่ไม่มีอำนาจ และอำนาจนั้นมาจากกฎหมาย แนวทางจึงเน้นไปที่กฎหมาย ที่จะต้องมีการชำระสะสางและสังคายนากันเป็นการด่วน เพื่อให้เกิดอำนาจ กำราบให้คนมีความเข็ดขยาดหวาดกลัว
ท้ายสุด ลำพังการป้องกันของ ป.ป.ช. เองก็อาจไม่เพียงพอ ต้องนำสรรพกำลังอีกเยอะตามมา ต้องสอดประสานเป็น 4P คือ Prime Mover คือ ป.ป.ช.Power คืออำนาจรัฐ หรือรัฐบาล Public คือสาธารณชน และ Private คือภาคเอกชน ซึ่ง 4P นี้ ต้องจับมือร่วมกัน ซึ่งท้ายสุดนี้รัฐบาลขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร มีอิทธิพลเพียงใด หากทำการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างไม่ละเว้น
อ่านประกอบ : “วิษณุ”ลั่นรบ.ปราบหมดปัญหาทุจริต ไม่สนใครหน้าไหน-ชี้เวลาพิสูจน์เอง