“วิษณุ”ลั่นรบ.ปราบหมดปัญหาทุจริต ไม่สนใครหน้าไหน-ชี้เวลาพิสูจน์เอง
“วิษณุ” ลั่น รบ.ปราบหมดทุกปัญหาคอร์รัปชั่น ไม่สนใครเป็นใคร-มีอิทธิพลแค่ไหน ยันเป็นเรื่องสำคัญชงเข้าเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่วาทกรรมพูดเล่น ดันเข้าแผนปฏิรูปประเทศ-ร่าง รธน.ใหม่ ชี้มีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยได้ แต่กาลเวลาจะพิสูจน์เอง
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ” ในงานสัมมนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ความคิดเรื่องป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั้น เป็นสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดเป็นโร้ดแม็พตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ จนกระทั่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และกำหนดไว้ในอาณัติในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรด้วย ซึ่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายหลายครั้งว่า การป้องกันการทุจริตเปรียบเสมือนยาดำที่แทรกอยู่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องการเมือง การปกครองท้องถิ่น เศรษฐกิจ เป็นต้น
“แม้จะให้ความสำคัญถึงปานนั้น อาจจะมีท่านผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยว่า สักแต่ว่าเป็นวาทกรรม เป็นคำพูดไพเราะ และที่จริงมีความตั้งใจอย่างนั้นหรือไม่ แต่ละท่านก็มีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัย แต่ที่สุดก็ต้องพูดว่าระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน สิ่งใดพูดว่าต้องทำให้สำเร็จจนได้ ตามหลักที่ว่า เมื่อได้กล่าวสิ่งใดก็ต้องทำให้ได้ในสิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่ต้องพิสูจน์ และจับตา ซึ่งรัฐบาลท้าทาย และเปิดโอกาสให้มีการจับตาดูและเฝ้าระวัง” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กรณีที่นายกฯแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งหมด 11 ด้าน โดยเน้นการป้องกันการทุจริตไปที่ด้าน 10 และด้านที่ 11 ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย ระบบราชการ และกระบวนการยุติธรรม โดยทุกวันนี้ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ดูจะระคนปนกับอยู่กับ 3 ด้านเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง ให้เงินใต้โต๊ะบนโต๊ะ ทำให้เกิดภาระและทำให้ประเทศชาติเสียหน้า
รองนายกฯ กล่าวว่า ผลการสำรวจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการจัดลำดับการทุจริตและให้คะแนนประเทศต่าง ๆ ปรากฏว่าเมื่อปี 2556 ประเทศไทยได้คะแนนทุจริต 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 และได้อันดับ 102 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้อาจไม่แสดงอะไรมาก แต่คนที่คร่ำหวดเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความตกต่ำแค่ไหนของประเทศ และชี้ชัดว่ายังมีการทุจริตในระบบราชการ ระบบการเมือง ฉะนั้นนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อ สนช. จึงได้ยกเอาเรื่องการป้องกันการทุจริตเป็นเรื่องใหญ่
“ถ้าบริหารแผ่นดินต้องทำให้น่าเชื่อถือ ทุจริตลดลง และศักยภาพลดลง ดังนั้นต้องให้ได้รับการกล่าวขานให้จงได้ และนั่นคือต้องขับเคลื่อนอย่างหนัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ตรงกับภารกิจและเจตนารมณ์ของ ป.ป.ช. ซึ่งต้องเป็นตัวขับเคลื่อน” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลมีเรื่องต้องทำเยอะมาก แต่เรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องสลักสำคัญ จำเป็นต้องทำเร่งด่วน ฉับไว้ รอช้าแม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้ ประการหนึ่ง เรื่องใดก็ตามไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ต้องระดมผู้คน ไม่ว่าภาคีเครือข่ายพันธมิตรอะไรก็ตาม ต้องระดมสติปัญญาความรู้ ต้องระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออะไรก็ตามเข้ามาร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อน ประการหนึ่ง และต้องมีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน กำหนดแนวทางร่วมกัน เพื่อจะเดินทางเข้าไปโจมตีต่อต้านภยันตรายนั้นโดยพร้อมเพรียงกันให้จงได้ อีกประการหนึ่ง ถ้ามี 3 เรื่องนี้ จะต้องยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ
“คำว่าวาระแห่งชาติอาจเป็นคำพูดกันบ่อย บางครั้งบางเรื่องไม่อาจเป็นได้ แต่พูดให้มีความสำคัญเหมือนกับสมัยนี้ มันต้องเติมอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลเพื่อให้ใหญ่โต แต่การป้องกันทุจริตไม่ใช่วาระแห่งชาติที่พูดเล่น ๆ มันเป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ เพราะเป็นภยันตรายที่กัดกร่อน ทำลายชื่อเสียงของประเทศ ทำลายความสะดวกสบายของคนในประเทศ ทำลายขวัญและกำลังใจของคนในประเทศ ตั้งแต่โบราณ-ปัจจุบัน-อนาคต เรียกว่าเป็นปัญหาแห่งชาติอันยั่งยืนก็ว่าได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ลำพังการป้องกันของ ป.ป.ช. เองก็อาจไม่เพียงพอ ต้องนำสรรพกำลังอีกเยอะตามมา ต้องสอดประสานเป็น 4P คือ Prime Mover คือ ป.ป.ช.Power คืออำนาจรัฐ หรือรัฐบาล Public คือสาธารณชน และ Private คือภาคเอกชน ซึ่ง 4P นี้ ต้องจับมือร่วมกัน ซึ่งท้ายสุดนี้รัฐบาลขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร มีอิทธิพลเพียงใด หากทำการทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างไม่ละเว้น