วัดใจ ก.ต.กรณี"วิรัช ชินวินิจกุล"กับพวก ชี้อนาคตศาลยุติธรรม
"..ถ้า ก.ต.ไม่เห็นชอบ เท่ากับ ครม.หน้าแตก คำถาม คือ ผู้เสนอเรื่องคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ที่ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้รอบคอบก่อน ที่สำคัญลักษณะงานและอำนาจหน้าที่ของ กพค. มีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอย่างชัดเจน.."
คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) มีวาระการพิจารณาในการประชุมวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่สำคัญและเป็นการชี้อนาคตศาลยุติธรรมว่า จะรักษาองค์กรให้ธำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง หรือจะเข้าไปพัวพันกับฝ่ายการเมืองอย่างเต็มตัว
วาระที่สำคัญดังกล่าวคือ การให้ข้าราชการตุลาการ 4 รายไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานอื่นของรัฐและเป็นข้าราชการการเมือง ซึ่งต้องให้ ก.ต.ให้ความเห็นชอบ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59
ข้าราชการตุลาการทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย
1. นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกาซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4พฤศจิกายน 2557 แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กพค.) ตามที่ กระทรวงยุติธรรม เสนอ พร้อมกับผู้ทรงคุณวุฒิอื่นรวม 9 คน
2.นายอดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 ให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา) ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535
3. นายธานี สิงหนาถ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.)ประจำนายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด (ยังดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส)
และ 4.นายสุริยันต์ หงษ์วิไล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เป็นผู้ชำนาญการประจำตัว สนช.นายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด
การเสนอเรื่องให้ ก.ต.พิจารณาเห็นชอบให้ข้าราชการตุลาการทั้ง 4 ราย ไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานอื่นของรัฐและข้าราชการเมือง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงตุลาการและวงนักกฎหมายอย่างมาก และยังก่อให้เกิดการแตกร้าวใน ก.ต.อีกด้วย
ก่อนหน้าที่ ครม.จะมีมติแต่งตั้งนายวิรัช ชินวินิจกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กพค. นั้น ได้มีการเสนอชื่อนายอดุลย์ ขันทอง นายธานี สิงหนาถ และนายสุรยันต์ พงษ์วิไล ให้ ก.ต.พิจารณาว่า จะเห็นชอบให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการประจำ สนช.หรือไม่
แต่มีการเลื่อนการพิจารณามาแล้วถึง 2 ครั้ง เพราะนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธาน ก.ต. เห็นว่า เสียงในที่ประชุม ก.ต.ค่อนข้างก่ำกึ่ง
ทั้งนี้ นายดิเรกนั้น มีจุดยืนชัดเจนที่ไม่ต้องการให้ผู้พิพากษาไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งใดๆในหน่วยงานอื่นของรัฐ เพราะอาจมีผลการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม และต้องการให้ศาลยุติธรรมปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองมากที่สุด
ขณะที่นายวิรัช ชินวินิจกุล ซึ่งเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิประเภทศาลฎีกาด้วย เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้พิพากษาทั้งสามคนซึ่งมีความใกล้ชิดกับตนเองไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีและในฝ่ายนิติบัญญัติ มีบารมีในแวดวงตุลาการค่อนข้างสูง เพราะเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่หลายปี
หลังจากที่นายวิรัชอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจนครบวาระ ต้องกลับไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้เสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต่อจากตนเอง
แต่นายดิเรกกลับเลือกนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อาจเป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย
ขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังประลองกำลังกันอยู่นั้น จู่ๆ ครม.ก็มีมติ ครม.แต่งตั้งนายวิรัช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน กพค. ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในศาลยุติธรรมว่า การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายอาจถึงขั้นแตกหัก
เพราะนายวิรัชย่อมรู้อยู่แล้ว การได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการ กพค.โดยไม่ได้รับความเห็นชอบ ก.ต.อาจขัดต่อ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59(3)ที่ระบุว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด
แต่การที่นายวิรัช ยินยอมให้เสนอชื่อเป็น กรรมการ กพค.ต่อ ครม.(ตามที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์)โดยที่ไม่เคยขอความเห็นชอบต่อประธานศาลฎีกาหรือให้ ก.ต.เห็นชอบก่อนเหมือนกับมั่นใจว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต.หรือต้องการประลองกำลังกับประธานศาลฎีกา
เพราะถ้า ก.ต.ไม่เห็นชอบ เท่ากับ ครม.หน้าแตก คำถามคือ ผู้เสนอเรื่องคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ที่ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้รอบคอบก่อน
ที่สำคัญลักษณะงานและอำนาจหน้าที่ของ กพค.มีลักษณะขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอย่างชัดเจน
ถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การดึงข้าราชการตุลาการเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองและฝ่ายบริหาร มีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557ซึ่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)ปี 2557 มาตรา 41 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ข้าราชการประจำรวมถึงข้าราชการตุลาการ สามารถเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
ปรากฏว่า นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโส ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากก.ต.ทั้งๆที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59 (6) ระบุชัดว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการแต่งตั้งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ขณะนั้นยังเป็นข้าราชการตุลาการ เป็น สนช.มาแล้ว
การที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวเปิดช่องเช่นนั้น ทำให้ฝ่ายที่ต้องการให้ข้าราชการตุลาการไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในหน่วยงานอื่นของรัฐอ้างเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ปกติและรัฐธรรมนูญยกเว้นข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
ดังนั้น การประชุม ก.ต.ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จึงเป็นการวัดใจ ก.ต.ครั้งสำคัญว่า จะรักษาศาลยุติธรรมให้เป็นอิสระไว้ได้หรือไม่
เพราะถ้า ก.ต.ให้ความเห็นชอบให้บุคคลทั้งสี่ไปไปดำรงตำแหน่งต่างๆในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ใครจะรับประกันได้ว่า จะไม่มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาตุลาการไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกเป็นพรวน
อนึ่ง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)ปัจจุบันประกอบด้วย
1. นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ประธาน ก.ต.
ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นฎีกา
1. นางสาวเพลินจิต ตั้งพูลสกุล รองประธานศาลฎีกา
2. นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา
3. นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา
4. นายชาติชาย อัครวิบูลย์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา
5. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
6. นายทวีศักดิ์ ทองภักดี ผู้พิพากษาศาลฎีกา
ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นอุทธรณ์
1. นายสู่บุญ วุฒิวงศ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8
2. นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1
3. นายวิบูลย์ แสงชมภู ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 7
4. นายเศกสิทธิ์ สุขใจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์
ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นต้น
1. นายเจริญ ดวงสุวรรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8
2. นายณรัช อิ่มสุขศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี
ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา
1. นายปรีชา ชวลิตธ ารง
2. ศาสตราจาย์เมธี ครองแก้ว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google