นักวิชาการ ม.หอการค้าไทยแนะแก้ปัญหายางพาราเน้นผลิตใช้เองมากกว่าส่งออก
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ชี้จุดอ่อนสินค้าเกษตรไทย ข้าว ยางพารา เหตุสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้เพราะต้นทุนสูง ระบุคสช.แก้ปัญหาลดต้นทุนการผลิตสินค้าเดินมาถูกทางแล้ว ยันะแก้ปัญหายางพาราตกต่ำต้องเน้นผลิตใช้ในประเทศมากกว่าส่งออก
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดงานไทยกับการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ อาคาร10 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงศักยภาพการแข่งขันข้าวไทย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันไทยในอาเซียน ว่า หากวันนี้เทียบต้นทุนการผลิตกับประเทศคู่แข่งยังไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยค่อนข้างสูง ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องข้าวจึงเห็นว่า รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)พยายามที่จะแก้ปัญหาในด้านการลดต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นการเดินมาถูกทางแล้ว เพราะในปัจจุบันนี้ข้าวของเวียดนาม พม่า มีราคาถูก ในขณะที่คุณภาพก็ดีส่งผลกระทบต่อราคาข้าวไทยและการส่งออก
"กูรูเรื่องข้าวที่แท้จริงรู้จริงที่จะต้องมาคุยกันมี 3 กลุ่มที่จะต้องช่วยกันหาแนวทางในการส่งออก คือ ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก เพราะบุคคลเหล่านี้รู้ดีที่สุดเรื่องข้าว"
ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า เมื่อลองเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้า พบว่า การปลูกข้าวมีราคาต้นทุนสูงส่งผลให้กำไรต่อไร่ของไทยน้อยกว่าเวียดนาม โดยเวียดนามมีกำไรต่อไร่ประมาณ 1,700 บาท ขณะที่ไทยมีกำไร ไร่ละ 1,100 บาทเท่านั้น ดังนั้นจะต้องลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง
ส่วนปัญหายางพาราในประเทศไทยที่มีราคาตกต่ำ สาเหตุมาจากเราเน้นส่งออกยางพารามากกว่านำมาใช้ในประเทศ ซึ่งหากดูจากการผลิตยางพาราทั้งหมดที่ผลิตกันประมาณปีละ 4 ล้านตัน ปัจจุบันส่งออกยางพาราคิดเป็น 87% และ 13% ใช้ในประเทศ ในอดีตที่เราไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องยางพาราเนื่องจากมีการสั่งนำเข้าจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันนี้จีนได้ลดการนำเข้ายางพาราจากบ้านเราจึงส่งผลให้ตลาดยางพารามีราคาตกต่ำ
“ไทยควรที่จะปรับเปลี่ยนการส่งออกโดยการนำยางพารามาใช้ในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดผลผลิตยางพาราในตลาดโลก ส่วนเรื่องปาล์มจะต้องมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีความหลากหลาย”
ขอบคุณภาพจากwww.citsonline.utcc.ac.th