"ทหาร-องค์กรสิทธิ"ฮือประณามฆ่านักเรียน
เหตุการณ์คนร้ายประกบยิงนักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี เสียชีวิต 1 ราย และอาการโคม่าอีก 1 ราย ดูจะไม่มีใครหรือฝ่ายใดยอมรับได้กับเหตุรุนแรงลักษณะนี้
เด็กนักเรียนที่เสียชีวิต คือ นายสุทธิพงษ์ ทองสุวรรณ อายุ 17 ปี ลูกชายของ ด.ต.สุริยัน ทองสุวรรณ ตำรวจ สภ.มายอ จ.ปัตตานี ภูมิลำเนาอยู่หมู่ 2 ต.ลุโบะยิโร อ.มายอ ส่วนที่ยังอาการน่าเป็นห่วง คือ นายปรีชาพัฒน์ แววจันทร์ชยากร อายุ 17 ปีเช่นกัน ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 37/3 ต.ดอน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ทั้งฝ่ายความมั่นคงและองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรพร้อมใจกันออกมาประณามผู้ก่อเหตุ
ทหารชี้โหดร้าย-ป่าเถื่อน-ไร้มนุษยธรรม
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวและญาติของผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ราย จากการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม เป็นพฤติกรรมที่สุดโต่ง ทำร้ายต่อผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนและเป็นอนาคตของชาติ
พฤติกรรมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา คือ การสร้างสถานการณ์ความรุนแรง บิดเบือน กลับกลอก โดยใช้ชีวิตผู้บริสุทธิ์ให้ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ เป็นการกระทำของพวกนอกศาสนา เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอย่างร้ายแรง จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรที่มักเรียกร้องหาความเป็นธรรมในพื้นที่ ได้ร่วมกันประณามการกระทำดังกล่าวและร่วมกันปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบด้วย
"อังคณา"สงสัยโยงคดีประหารกลุ่มฆ่าทหาร?
ด้านมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โดย นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิฯ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า มูลนิธิฯตระหนักว่าการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน นอกจากจะส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียแล้ว ยังก่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างมากต่อสังคม อีกทั้งยังสร้างความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนต่างศาสนาและเชื้อชาติที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในสังคมพหุวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
มูลนิธิฯขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อเด็ก เยาวชน ผู้หญิง รวมถึงผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยวิธีทารุณ โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงหลักคำสอนของทุกศาสนา
"การทำร้ายเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดยอมรับได้ การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพิธีสารเลือกรับว่าด้วยเด็กในพื้นที่ขัดแย้งทางอาวุธที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งยังขัดต่อหลักศาสนาอิสลามและทุกศาสนาอย่างชัดเจน"
"การใช้ความรุนแรงไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายต้องเคารพสิทธิเด็ก เยาวชน และผู้บริสุทธิ์ ต้องยอมรับว่าสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก เป็นสิทธิที่ไม่อาจมีผู้ใดพรากไปได้" นางอังคณากล่าว
และว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุลอบยิงเด็กนักเรียนชายทั้งสองคนเกิดขึ้นเพียง 1 วันภายหลังศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลย 5 คนในคดียิงทหาร 4 นายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2555 ซึ่งเหตุเกิดในพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี อีกทั้ง นายสุทธิพงษ์ ทองสุวรรณ ยังเป็นบุตรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.มายอ อีกด้วย
จากข้อสังเกตุดังกล่าว มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีกังวลว่าเหตุการณ์ลอบทำร้ายเด็กนักเรียนทั้งสองในครั้งนี้อาจถูกมองว่าเป็นการคุกคามบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมจะทำให้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และความเป็นอิสระของศาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
จี้รัฐเร่งออกมาตรการคุ้มครองกลุ่มเสี่ยง
มูลนิธิฯมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1.รัฐต้องเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์นี้ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย และต้องไม่ด่วนสรุปจนกว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนจะเสร็จสิ้น รวมถึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมา
2.รัฐบาลต้องมีนโยบายในการให้ความคุ้มครองกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และผู้หญิง โดยต้องสร้างมาตรการที่จำเป็นในการทำให้เกิดการปกป้อง คุ้มครองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ควรรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกภาคส่วน
3.เร่งรัดให้มีการฟื้นฟู เยียวยาสภาพจิตใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมถึงนักเรียน และบุคลากรของโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล รวมถึงโรงเรียนทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องให้มีจิตแพทย์ที่พอเพียงในการฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทุกคน
4.รัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงต้องทบทวนนโยบายการเพิ่มอาวุธในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของอาวุธมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพิ่มความรุนแรง
5.รัฐบาลและประชาชน รวมถึงผู้นำทางศาสนาต้องร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อยุติความรุนแรง และป้องกันการสร้างความเกลียดชัง การแก้แค้น และควรให้มีการหารืออย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานของความอดทน อดกลั้น ความจริงใจ และการยอมรับในความแตกต่างเพื่อให้สังคมกลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด
มูลนิธิฯเชื่อมั่นว่าปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติได้ด้วยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย บนพื้นฐานของการเคารพกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนสากล หลักการศาสนา และเคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
เด็กต้องได้รับการปกป้องเป็นกรณีพิเศษ
ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การสังหารเด็กนักเรียนในสถานการณ์ความขัดแย้ง ระบุว่าเหตุการณ์นี้และเหตุการณ์ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ ผู้หญิง และต่อเด็ก เยาวชนในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างให้เกิดความหวาดกลัวและความสูญเสียอันใหญ่หลวงต่อครอบครัว ครู เพื่อนนักเรียน ชุมชนทุกเชื้อชาติ ศาสนา และไม่แต่เพียงเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่หมายรวมถึงสังคมไทย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และกลุ่มด้วยใจขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อกรณีความสูญเสียของครอบครัวผู้บริสุทธิ์จากเหตุการณ์ความไม่สงบ มูลนิธิฯขอยืนยันว่าการสังหารเด็ก เยาวชน ผู้บริสุทธิ์ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธเป็นการกระทำไร้มนุษยธรรม เป็นการกระทำต้องห้ามไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม การสังหารต่อพลเรือนที่ไม่ใช่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธเป็นการกระทำที่ขัดหลักศีลธรรม หลักกฎหมายภายในและหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ มิอาจยอมรับได้
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่ยืดเยื้อยาวนานต้องนำหลักการกฎหมายมนุษยธรรมมาบังคับใช้ด้วย คือ หลักการคุ้มครองเด็กในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งระบุว่าเด็กต้องได้รับการปกป้องเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรา 4 (Geneva Convention ฉบับที่สาม) เด็กต้องได้รับการเคารพและต้องไม่ได้รับการปฏิบัติใดๆ ที่จะเป็นการทำร้ายร่างกาย คู่สงครามจะต้องดูแลและให้ความช่วยเหลือเด็กตามความต้องการของเขา
อีกทั้งในมาตรา 77 (art. 77- พิธีสารเลือกรับฉบับที่ 1) ห้ามไม่ให้มีการใช้ทหารเด็กและให้มีส่วนร่วมในการโจมตี ทหารเด็กต้องได้รับการปฏิบัติอย่างดี เป็นต้น
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ ขอเรียกร้องทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่ยั่วยุและอาจเสริมส่งให้มีการใช้ความรุนแรงโต้ตอบกันในกลุ่มฝ่ายต่างๆ ที่มีกองกำลังติดอาวุธ โดยอาศัยสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เข้าใจว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกำลังโต้ตอบอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งสร้างให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มและทำลายความน่าเชื่อถือในความพยายามแก้ไขปัญหาทั้งจากหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานรัฐ และภาคประชาสังคมที่ต้องการสร้างบรรยากาศการเจรจาสันติภาพ (สันติสุข) ให้บังเกิดขึ้น
การดำเนินการสืบสวนสอบสวนที่โปร่งใส มีความเป็นมืออาชีพ นำความจริงให้ปรากฏ และนำคนกระทำความผิดมาลงโทษอย่างทันท่วงทีเพื่อให้ข่าวสารที่ถูกต้องว่าผู้กระทำความผิดจะไม่ลอยนวล ด้วยการยึดมั่นต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นต่อประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายและสังคมไทยในภาพรวม
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เพื่อนๆ นักเรียนโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี ไปช่วยงานศพ สุทธิพงษ์ ทองสุวรรณ นักเรียนชั้น ม.5/10 ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต
ขอบคุณ : คุณอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เอื้อเฟื้อภาพ