เปิดบทสมภาษณ์ “ดร.สมเกียรติ” ความท้าทายของทีดีอาร์ไอและสังคมไทย
“การสร้างโอกาสให้กับคนไทยในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าการศึกษามีคุณภาพดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ก็จะช่วยให้คนได้รับค่าจ้างสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะลดลง”
ในวาระครบรอบ 30 ปี นอกจากงานสัมมนาวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) “ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า:สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ” แล้ว
ปีนี้ ทีดีอาร์ไอ ยังออกหนังสือ “30ปี ทีดีอาร์ไอ 30ปี การพัฒนาเศรษฐกิจไทย” มี “ปกป้อง จันวิทย์” เป็นบรรณาธิการ และ “กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์” เป็นบรรณาธิการเล่ม
หนังสือเล่มนี้ กองบรรณาธิการได้สัมภาษณ์ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี,เสนาะ อูนากูล อดีตรองนายกรัฐมนตรี , อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) , ไพจิตร เอื้อทวีกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ,โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) , วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ,
ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ,ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ,นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ และ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ
“สำนักข่าวอิศรา” เปิดบทสัมภาษณ์บางส่วนของ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ในฐานะประธานทีดีอาร์ไอคนปัจจุบัน มานำเสนอคุณผู้อ่านในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ดังนี้
……………
@30 ปีข้างหน้า อะไรคือความท้าทายของระบบเศรษฐกิจไทย
สำหรับความท้าทายจากภายนอก ในปัจจุบันมีกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economy) ซึ่งความจริงเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งมีบทบาทในเวทีโลก กลุ่มประเทศเหล่านี้มีจำนวนมาก และแต่ละประเทศก็พัฒนาไปได้เร็ว โดยเฉพาะประเทศที่มีขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และบราซิล ซึ่งมีปัจจัยพร้อม คือมีตลาดภายในขนาดใหญ่
ในปัจจุบัน เราต้องแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ แต่ในอนาคตประเทศในกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มโลกที่สี่ คือกลุ่มประเทศที่ยังมีกฎระเบียบที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างประเทศเขาไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้ว่าเขาไปลงทุนด้วยแล้วปลอดภัย ยังเป็นโลกที่ต้องพึ่งการรู้จักกับผู้คน ซึ่งมีอยู่มากมายในทุกทวีป เช่น ศรีลังกา ไนจีเรีย เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ แต่ภายใน 10-15 ปี
ประเทศเหล่านี้จะเริ่มปฏิรูประบบบริหารจัดการภาครัฐ กฎกติกามีความชัดเจนมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น และเขาก็จะไล่ตามประเทศไทย
โลกทุกวันนี้ เงินทุนไปได้ในทุกที่ในโลก เงินมันไหลเวียนเสรีพอสมควร เทคโนโลยีไหลเวียนเสรีพอสมควร สิ่งจะบ่งชี้ว่าประเทศใดเหนือกว่าประเทศใด มันก็เหลือเพียงคนในประเทศนั้นว่ามีคุณภาพสูงแค่ไหน บวกกับกฎ กติกา สังคม สถาบันของภาครัฐ และสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจที่มันแตกต่างกัน พวกถนน สะพาน โครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ไล่ตามกันได้ไม่ยาก ถึงแม้ไม่ง่ายนัก แต่ถ้ามีเงิน มีปัจจัยพื้นฐานดี เดี๋ยวก็มีถนน เดี๋ยวก็มีสนามบิน เดี๋ยวก็มีระบบไฟฟ้าที่สมบูรณ์
อย่างกัมพูชาตอนนี้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้ เพราะไฟฟ้าราคาแพง ต้องซื้อไฟจากไทย ทำให้ค่าไฟแพง ผลิตสบู่ ผลิตยาสีฟัน ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สู้ไทยไม่ได้ แต่อีกไม่นาน เขาก็จะสร้างเขื่อนเสร็จ 5-6 เขื่อน เขื่อนพลังน้ำที่จะปั่นไฟ และหลังจากนั้นอีกไม่นาน เขาก็จะมีไฟฟ้าราคาถูก ของพวกนี้จะเกิดขึ้นภายในสิบปีนี้แน่นอน
ถนนหนทางของเขาที่ยังมีปัญหา ตอนนี้จากสองเลนก็จะกลายเป็นสี่เลน รางรถไฟของเขาซึ่งมีปัญหา เขาก็มีจะมีแผนที่จะปรับปรุงพัฒนา บางส่วนก็จะกลายเป็นรถไฟรางคู่ คล้ายๆกับที่ประเทศไทยกำลังจะทำท่าเรือสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่ไม่มีความพร้อมในการทำธุรกิจ
ทุกวันนี้ธุรกิจในกัมพูชา ถ้าไม่ใช่ท่าเรือแหลมฉบังก็ใช้ท่าเรือโฮจิมินห์ซิตี้ แต่อีกไม่นาน เขาก็จะสามารถพัฒนาท่าเรืองสีหนุวิลล์พม่าก็เหมือนกัน ต่อไปเขาก็จะมีท่าเรือที่ติดลาวาและทวาย สิ่งต่างๆ มันจะเกิดขึ้นมา ต่อไปพม่าจะมีไฟฟ้าและมีถนนหนทางที่ดี
ภายใน 10-15 ปี โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เหล่านี้จะไล่ทันกัน แต่สิ่งที่ไล่ทันกันยากกว่า ก็คือการทำให้ประเทศมีนิติรัฐ มีกฎระเบียบที่มีความชัดเจน แต่ถ้าให้เวลาอีก 10-15 ปี ประเทศเหล่านี้ก็จะสามารถจัดการกฎ จัดการกติกาต่างๆ ในประเทศให้ดีขึ้นได้ แล้วความง่ายในการทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้ก็จะไม่ต่างจากประเทศไทยมากนัก เมื่อถึงเวลานั้น ถ้าประเทศไทยยังหยุดอยู่กับที่ ความแตกต่างระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศโลกที่สี่ก็จะน้อยลงทุกที
@ในด้านหนึ่ง มีประเทศที่กำลังไล่ตามเรา ขณะเดียวกัน เราก็กำลังไล่ตามประเทศที่อยู่ข้างหน้า อาจารย์คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราทำสำเร็จ ทั้งการวิ่งหนีประเทศที่ไล่ตามมา และการวิ่งตามประเทศที่อยู่ข้างหน้า
ผมคิดว่าเราต้องไม่มองประเทศไทยแค่ 76 จังหวัด แต่ต้องมองไปถึงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือประเทศในอินโดจีนบวกกับจีนตอนใต้ ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบ เพราะขนาดของตลาดที่ใหญ่พอ และไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ขนาดตลาดที่ใหญ่พอจะทำให้เราลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีและพัฒนาต่อยอดไปได้ นี่คือ ปัจจัยภายนอก
สำหรับปัจจัยภายใน สิ่งสำคัญก็คือ การที่ประเทศไทยใช้เวลานานเหลือเกินที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ในช่วงหลังที่เราเสียโอกาสไปสิบกว่าปี เพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรไม่ค่อยมีเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ
อย่างอินโดนีเซียก็กำลังจะกลายเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยงอกงาม และเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น การเลือกตั้งไม่สะดุด รัฐประหารเป็นสิ่งที่แทบจะไม่เกิดขึ้น หรือฟิลิปปินส์ซึ่งแต่ก่อนมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น คำว่าปฏิวัติรัฐประหารก็ได้ยินน้อยลงทุกทีเพราะฉะนั้น ถ้าประเทศไทยยังไม่สามารถหลุดออกวงจรความขัดแย้งได้ สิ่งนี้ก็จะเป็นตัวฉุด เป็นสัมภาระของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถวิ่งไปได้อย่างเต็มกำลัง
ขณะเดียวกัน เสถียรภาพเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ จะต้องมีภาครัฐเข้ามามีส่วนด้วย เนื่องจากโลกใน 30 ปีข้างหน้า จะเป็นโลกที่มีความสลับซับซ้อน มีความเสี่ยงต่างๆมากมาย เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการของภาครัฐก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก เราต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากพอสมควร และต้องมีประสิทธิภาพในการส่งมอบสินค้าสาธารณะที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องการ นี่คือปัจจัยภายใน ซึ่งต้องอาศัยการปฏิรูปภาครัฐครั้งใหญ่
มีคนคิดหวังว่าการปฎิรูปรอบนี้จะทำให้รัฐที่มีทั้งเสถียรภาพและประสิทธิภาพ แต่ผมยังไม่กล้ามองไกลขนาดนั้น ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ วิสัยทัศน์ของเรามองไปได้ไม่ไกล เพราะเราเห็นแต่ท้ายรถคันหน้า เพราะฉะนั้นจะให้มีวิสัยทัศน์ไกลๆ มันเป็นเรื่องที่มองยาก ในทางการเมืองก็เหมือนกัน เนื่องจากเราติดอยู่ในความขัดแย้งมาสิบกว่าปี จะให้มองไปถึงรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลที่ขาวสะอาด และสามารถส่งมอบสินค้าสาธารณะได้ มันเป็นเรื่องที่อยู่ไกล
ขั้นต้นต้องเอาเรื่องเสถียรภาพให้อยู่ แปลว่าต้องปฏิรูปการเมืองให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารในรูปแบบต่างๆ แล้วทำให้ประชาธิปไตยพัฒนาต่อไปได้
ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลเสียงข้างมาก ไม่ให้เกิดทรราชเสียงข้างมากที่เอาเปรียบคนส่วนน้อย หรือไม่ก็เอาเปรียบคนในอนาคต จากการมีนโยบายขอยืมเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน นี่เป็นโจทย์ที่การปฏิรูปการเมืองในรอบ 2-3 ปีนี้ควรทำให้สำเร็จ
@ในด้านความเป็นธรรม อะไรเป็นความท้าทายที่รอเราอยุ่ และเราจะตอบโจทย์เรื่องการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทยได้อย่างไร
เรื่องความเป็นธรรมตอบโจทย์ได้สองแบบ แบบหนึ่งก็คือใช้มาตรการด้านต่างๆ ของรัฐในการสนับสนุนคนที่ด้อยโอกาสให้มีโอกาสให้มีรายได้ทัดเทียมกันมากขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นด้านนี้ฝ่ายที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าก็อยากจะเห็นภาษีอัตราก้าวหน้า อยากจะเห็นการปฏิรูปที่ดิน อยากจะกระจายการถือครองทรัพยากร
ในขณะที่นักการเมืองก็ทำอีกแบบหนึ่ง คือใช้นโยบายเฉพาะหน้า หรือที่เรียกว่านโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ โดยเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด เช่น แทรกแซงราคาข้าว แทรกแซงราคาน้ำมัน แทรกแซงราคาสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ทำให้ประเทศไทยเจริญเติบโต และไม่สามรถแก้ไขความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นวิธีการที่ไม่ได้สร้างผลิตภาพ
สำหรับผม ผมคิดว่ามาตรการภาษีและสวัสดิการที่กล่าวมาข้างต้นก็ต้องทำ แต่ผมให้น้ำหนักกับมาตรการแบบที่สอง คือมาตรการในการสร้างโอกาสให้กับผู้คน ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดก็คือ การสร้างโอกาสให้กับคนไทยในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าการศึกษามีคุณภาพดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ก็จะช่วยให้คนได้รับค่าจ้างสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะลดลง มาตรการแบบนี้เป็นมาตรการที่ยั่งยืนกว่า และเป็นมาตรการที่ขยายเค้กให้ใหญ่ขึ้นและมีเค้กพอสำหรับทุกคน ไม่ใช่มาตรการที่บอกว่าเรามีเค้กน้อย เราต้องเอาเค้กของคนอื่นมาเป็นของเรา
@เราพูดถึงการปฏิรูปประเทศไทยและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับเมือกับวิกฤตหรือความท้าทายใน 30 ปีข้างหน้า เรื่องเหล่านี้ต้องการนโยบายสาธารณะที่ดี ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันที่วิจัยเรื่องนโยบายสาธารณะมาตลอด อาจารย์มองเห็นวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงอะไรในกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะที่ดีตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
ผมเกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะในประเทศไทยไม่ถึง 30 ปี มากที่สุดก็คงมองได้แค่ 20 ปี ตั้งแต่เรียนจบจากต่างประเทศและกลับมาทำงานที่ทีดีอาร์ไอ
20 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่ฝ่ายบริหารมีขีดความสามารถและความเข้มแข็งที่แตกต่างกัน ยุคของเทคโนแครตหมดไปตั้งแต่ก่อนที่ผมจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ ขณะที่ในช่วงที่ผมทำงานเป็นยุคที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง โดยอาจจะแบ่งได้เป็นยุคก่อนทักษิณ กับยุคหลังทักษิณ
ยุคก่อนทักษิณ เป็นยุคที่แม้เทคโนแครตหรือคนที่มีความรู้จะไม่ได้กำหนดนโยบาย แต่ก็มีปากมีเสียงมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นซึ่งสามารถขายความคิดได้ไม่ยาก เพรามีคนที่ต้องการขายความคิดด้วยอยู่ในวงที่ไม่ใหญ่เกินไป ก็คือสื่อมวลชนและชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ
แต่ในยุคหลังทักษิณ คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะมีจำนวนมากขึ้น เพราะประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นทำให้การกำหนดนโยบายสาธารณะใดๆ ไม่ว่าโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจมากหรือน้อยแค่ไหน ต่อให้มีอำนาจแทบจะเรียกได้ว่าเบ็ดเสร็จอย่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สุดท้ายก็เป็นคณะรัฐประหารที่ต้องฟังประชาชน เช่น ยังต้องตรึงราคาอาหาร ยังต้องให้มีรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เป็นต้น เพราะคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายสาธารณะนั้นมีทุกหัวระแหง
เพราะฉะนั้น กระบวนการ และบทบาทของสถาบันวินิจฉัยด้านนโยบายที่จะต้องเป็นคลังสมองของประเทศ ถ้าจะทำงานอย่างได้ผลก็ต้องสื่อสาร ต้องทำความรู้ให้สอดคล้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายแบบใหม่ ต้องสื่อสารไปถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น มากกว่าการสื่อสารเฉพาะกับคนกำหนดนโยบายกลุ่มเล็กๆ ในแบบเดิม
@ทีดีอารืไอต้องปรับตัวอย่างไร
ผมคิดว่าทีดีอาร์ไอก็ปรับตัวมาพอสมควร สิ่งที่จะต้องปรับตัวในระยะต่อไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ในเชิงขององค์กรก็คือจะต้องดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูง และมีความสนใจในการศึกษาเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งน่าเสียดายว่าทุกวันนี้หาได้ยากขึ้นทุกที
เพราะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาในด้านนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ มักจะไปทำงานในสถาบันการเงินหรือธนาคาร ความสนใจในการทำงานด้านนโยบายสาธารณะมีไม่มากอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งถ้าเราไม่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจ ในการวิเคราะห์ ในการทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ก็จะตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม
อีกเรื่องหนึ่งก็คือความเข้าใจและความสามารถในการสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ ในสังคม การสร้างความเชื่อถือกับฝ่ายต่างๆ ในสังคมอย่างที่เคยทำมาในอดีต เราต้องทำให้มากขึ้น โดยสร้างความเชื่อถือขององค์กรต่อประชาชน ต่อสาธารณะ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จาก หนึ่ง การที่ประชาชนเชื่อว่าเราเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งวิพากษ์ วิจารณ์ได้อย่างถูกต้อง และสามารถเสนอข้อเสนอที่ปฏิบัติได้จริง
สอง เชื่อว่าองค์กรมีความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ด้านธุรกิจ หรือผลประโยชน์ด้านการเมือง ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอนั้นแฝงไว้ด้วยวาระซ่อนเร้น จะต้องทำให้สาธารณะเกิดความเชื่อถือ เกิดความศรัทธาว่าเราเป็นกลางทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
สาม เราต้องมีความสามารถในการพูดคุยกับคนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ ซึ่งก็คือประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน ในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และในลักษณะที่เชื้อเชิญให้เกิดการสนทนาในประเด็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ซึ่งแปลว่าเราต้องปรับการสื่อสารของเราให้เป็นการสื่อสารของเราให้เป็นการสื่อสารที่เชื้อเชิญให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาถกอภิปรายให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะคนในเมือง แต่ต้องไปให้ถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งไปถึงกลุ่มรุ่นคนรุ่นใหม่ซึ่งมีพฤติกรรมในการบริโภคสื่อไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่า
@ถ้าจะให้อาจารย์ประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวของทีดีอาร์ไอตลอด 30 ปีที่ผ่านมา อะไรที่ทีดีอาร์ไอทำสำเร็จ และอะไรที่ทีดีอาร์ไอต้องทำงานหนักขึ้น
ประเด็นเหล่านี้ผมไม่อยากเป็นคนประเมิน ผมคิดว่าควรให้สาธารณะเป็นคนประเมินมากกว่า ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรทำก็คือ การเปิดใจฟังว่าสังคมคิดกับเราอย่างไร เราทำตัวมีประโยชน์หรือเปล่า เราได้เสนอแนะสิ่งที่สร้างสรรค์ เราได้เสนอแนะสิ่งที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ เราได้แสดงความเห็นคัดค้านนโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่หรือเปล่า ประเด็นเหล่านี้ผมอยากหลีกเหลี่ยงที่จะประเมินตัวเอง
@อะไรเป็นความท้าทายของทีดีอาร์ไอในอีก 30 ปีข้างหน้า
เราคุยกันเรื่องความท้าทายในอนาคตทั้งของสถาบันและสังคมไทยมาระยะหนึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งข้อสรุปที่ได้ก็คือ เราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ครบวงจรและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น
จากการระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เรามีแผนการทำงานวิจัยเรื่องที่มีความสำคัญกับประเทศห้าเรื่อง หรือที่เรียกว่าโครงการ Priority Research ซึ่งประกอบด้วยเรื่องโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เรื่องการเพิ่มผลผลิตภาพและการสร้างนวัตกรรม เรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมนโยบายที่เรียกกันว่าประชานิยม
ในแง่ของสถาบัน ที่ผ่านมา เรื่องใหญ่ที่สุดก็คือ การหานักวิจัยที่มีความสามารถทางวิชาการ มีความสนใจในด้านนโยบายสาธารณะ และมีจิตใจสาธารณะ สำหรับทางด้านนโยบาย เรื่องที่ใหญ่มาก และเรายังมีทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะศึกษาอย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีหน่วยงานอื่นในประเทศไทยที่ศึกษาอย่างลึกซึ้งและได้รับความเชื่อถือจากสังคม ก็คือนโยบายด้านพลังงานและนโยบายด้านท้องถิ่น
อีกเรื่องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้กัน ก็คือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทย และจะมีผลทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจหรือประเทศขนาดใหญ่ รวมถึงแนวโน้มในระดับโลกเรื่องพลังงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องกฎกติกาสากล เรื่องบริษัทข้ามชาติ เหล่านี้คือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญมากๆ แต่เรายังมีความรู้น้อย ก็คือ เรื่องการคลังท้องถิ่น การกระจายอำนาจ การส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในประเทศมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้น รวมถึงเรื่องการพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เรายังไม่ได้ศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งเราจำเป็นต้องพัฒนาบุคคลากรทางด้านนี้
@ทั้งที่มีทางเลือกมากมาย ทำไมอาจารย์จึงเลือกทำงานกับทีดีอาร์ไอ
ผมจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ แล้วไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น วันหนึ่งผมกลับมาเมืองไทย ก็ไปกินเต้าฮวยแถวจุฬาฯ คนที่เรียนจุฬาฯ หรือโรงเรียนเตรียมอุดมฯ จะรู้จักร้านเต้าฮวยร้านนี้ แต่ตอนนี้ปิดไปแล้ว
ตอนนั้นนั่งกินเต้าฮวยอยู่ดีๆ ก็เหมือนมีอะไรมาบอกว่า ประเทศจะดีขึ้นได้ มันต้องมีนโยบายที่ดีขึ้น ผมก็เลยอยากมีส่วนร่วมช่วยทำให้นโยบายของประเทศดีขึ้น ไม่รู้ว่าเต้าฮวยเป็นพิษหรือว่าอะไร อยู่ๆ ก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา
หลังจากนั้น พอจบการศึกษาจากญี่ปุ่น ตอนนั้นเป็นวิศวกร ก็ไปทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น แล้วบริษัทนั้นก็เชิญนักวิชาการของทีดีอาร์ไอไปสัมมนาร่วมกันทุกปี ที่ผมเจอคนแรก คือ อาจารย์วิศาล บุปผเวส ก็ได้คุยกับอาจารย์วิศาล คุยกันอยู่หลายชั่วโมง อาจารย์ก็สอนเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นและเล่าประสบการณ์การทำงานให้ฟัง
ปีต่อมา อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร ก็ไป ผมก็ได้คุยกับอาจารย์นิพนธ์ คุยกันก็ถูกคอกันดี ผมก็ถามอาจารย์นิพนธ์ว่า ถ้าจะมาทำงานที่ทีดีอาร์ไอ ผมจะมีโอกาสบ้างไหม อาจารย์นิพนธ์ก็แนะนำให้ไปคุยกับ อาจารย์ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ซึ่งเป็นประธานสถาบันในเวลานั้น ผมก็เลยกลับจากญี่ปุ่นมาคุยกับอาจารย์ฉลองภพ
หลังจากนั้น อาจารย์ฉลองภพก็ไปญี่ปุ่น ก็ได้นั่งคุยกันยาวก็ต้องขอบคุณที่อาจารย์ฉลองภพยอมรับผมซึ่งไม่มีพื้นฐานด้านการวิจัยด้านนโยบาย ด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่องวิชาการต่างๆ ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นที่มองแบบอนุรักษ์นิยมก็คงคิดว่าเอาวิศวกรคนหนึ่งมาทำอะไร ก็อาจจะไม่รับผมเข้ามาทำงาน
@อะไรคือความประทับใจหรือความภาคภูมิใจ สำหรับการทำงานที่ทีดีอาร์ไอ
คือการได้เรียนรู้กับเพื่อนร่วมงานที่มีความสามารถมากกว่า โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานอาวุโสอย่างอาจารย์อัมมาร สยามวาลา
ที่ทีดีอาร์ไอ คนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมตลอดเวลา และทำให้รู้สึกว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เรายังทำน้อยเกินไป ก็คือ อาจารย์อัมมารกับอาจารย์เสนาะ อูนากูล ทุกครั้งที่เจออาจารย์อัมมาร อาจารย์จะมีคำถามดีๆและหลายครั้งอาจารย์จะชวนคุยในเรื่องที่ผมควรจะมีความรู้ดีกว่าอาจารย์อัมมาร
แต่ผมก็ตอบไม่ได้ อย่างเรื่องเกี่ยวกับวิศวกรรม เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าอาจารย์อัมมารเป็นคนที่มีความสนใจกว้างขวาง ไมใช่รู้เฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่รู้ประวัติศาสตร์ สนใจวัฒนธรรม สนใจหลายๆเรื่อง ซึ่งผมประทับใจมาก และอาจารย์อัมมารก็เป็นต้นแบบในเรื่องวิชาการ
อีกคนหนึ่งที่รู้สึกตกอกตกใจ และบางครั้งก็กลัวที่จะไปเจอ ก็คืออาจารย์เสนาะ อูนากูล เพราะทั้งๆที่อาจารย์เกษียณมาหลายปี แต่อาจารย์ก็ยังติดตามเหตุการณ์บ้านเมือง สถานการณ์ของโลกภายนอก รวมถึงเรื่องเทคโนโลยี บางครั้งมากกว่าผมซึ่งยังเป็นคนทำงาน และทุกๆครั้ง อาจารย์จะฝากโจทย์กลับมาให้คิด ผมไม่เคยไปเจออาจารย์เสนาะครั้งไหนเลยที่กลับบ้านมือเปล่า ทุกครั้งที่ไปเจอก็จะมีการบ้านติดมือกลับมา หลายครั้งที่กลัวที่จะไปเจออาจารย์ก็เพราะยังทำการบ้านครั้งที่แล้วไม่เสร็จ ไปเจออีก ก็จะมีการบ้านติดมาอีก นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานที่ทีดีอาร์ไอ
@อะไรคือวัฒนธรรมทางวิชาการ วัฒนธรรมการวิจัย หรือวัฒนธรรมการหาความรู้แบบทีดีอาร์ไอ
จะบอกว่าเป็นแบบทีดีอาร์ไอ หรือเป็นเฉพาะของคนทีดีอาร์ไอก็คงไม่ใช่ แต่ผมคิดว่าเป็นของประชาคมวิชาการด้วย ก็คือการถกเถียงกันไม่ได้ใช้ความเชื่อเป็นตัวตั้ง ความเชื่ออาจจะเป็นจุดตั้งต้นในการที่เราอยากจะศึกษาเรื่องอะไร แต่สุดท้ายต้องดูข้อมูลเชิงประจักษ์ ดูของจริงว่าข้อเท็จจริงบอกอะไร ความเข้าใจของเราอาจจะผิดก็ได้
ประสบการณ์ที่ดีสำหรับที่นี่มีสองเรื่อง คือการใช้ข้อมูลเป็นตัวตัดสินตลอดเวลา และมีความเป็นอิสระทางวิชาการ แม้จะรับงานจากหน่วยงานต่างๆ แต่เราไม่มีหน้าที่ต้องตอบสนองหน่วยงานที่ว่าจ้าง หากการตอบสนองนั้นไม่สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะ เราเอาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง
ช่วงปีที่ผ่านมา เราช่วยกันระดมสมองเพื่อกำหนด core values ที่คนในสถาบันยึดถือร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน รวมถึงเป็นการระบุจุดยืนของทีดีอาร์ไอ ในฐานะสถาบันวิจัยที่เป็นคลังสมองของประเทศ
Core values ของทีดีอาร์ไอ ก็คือ “เรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง มุ่งวิจัยอิงหลักฐาน เคารพคนและทีมงาน อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม”
@อาจารย์ทำวิจัยมาเยอะ ประทับใจหรือภูมิใจกับงานชิ้นไหนที่สุด
คงไม่มีชิ้นงานไหนที่ดีพอที่จะเอาไปอวดประชาชนทั่วไปได้ งานที่มีผลต่อสังคมอาจจะไม่ใช่งานที่มีคุณภาพทางวิชาการสูงก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ส่วนงานที่มีคุณภาพทางวิชาการก็อาจจะไม่ใช่งานที่มีผลต่อสังคมมากก็ได้
แต่งานที่รู้สึกว่าเป็นวิชาการมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ซึ่งอาจจะสะท้อนว่าผมไม่ค่อยได้ทำงานวิชาการแบบบริสุทธิ์มากนัก แต่ทำงานวิชาการเชิงประยุกต์เสียมาก ก็คือเรื่องนิติเศรษฐศาสตร์ ผมรู้สึกสนุกกับเรื่องนี้ และรู้สึกว่าสามารถเอาศาสตร์สาขาหนึ่ง ซึ่งตัวเองไม่เคยเรียน คือ เอาเศรษฐศาสตร์ไปประยุกต์กับนิติศาสตร์ และก็ได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควรจากคนทั้งในวงการนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แล้วก็ทำให้เกิดมุมมองน่าสนใจ แม้ว่าผลกระทบของงานยังไม่ได้ทำให้มีนโยบายจริงๆจังๆออกมา แต่ความสนใจมีเยอะหลังจากทำเสร็จไปนานแล้ว ก็ยังคนมาสอบถามอยู่เรื่อยๆ
@การทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจารย์สรุปบทเรียนอะไรได้บ้าง ทั้งในแง่การทำวิจัย รวมถึงในแง่การผลักดันองค์ความรู้จากงานวิจัย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
คงไม่ใช่บทเรียนของผมโดยสมบูรณ์ เพราะเป็นการต่อยอกจากบทเรียนของคนอื่น ก็คือแนวคิดเรื่องสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีมาก นั่นก็คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายนั้น ควรจะเริ่มจากการสร้างความรู้ที่ถูกต้อง และต้องเป็นความรู้ที่มีความละเอียด มีความนุ่มลึก มีข้อเท็จจริงสนับสนุน ซึ่งจะทำให้ข้อโต้แย้งต่างๆ เหลือน้อยที่สุด และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากพอที่จะบอกคนที่กำหนดนโยบายได้
แม้ว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทุกวันนี้ การกำหนดนโยบายต่างๆ มีความสลับซับซ้อน แต่ผมก็ยังชอบอธิบายให้คนอื่นฟังว่า ถ้าเราอยากรู้ว่าความรู้ที่เราศึกษามานั้นดีพอที่จะนำไปใช้ปฏิบัติในเชิงนโยบายหรือไม่ ให้สมมติว่ามีผู้มีอำนาจสูงสุดในเวลานั้นมานั่งต่อหน้าเรา และพร้อมให้เราแนะนำ โดยที่เขาจะเอาไปปฏิบัติในทันที เราจะแนะนำเขาว่าอย่างไร สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายแต่ละเรื่อง เราต้องถามตัวเองว่า เราตอบตัวเองได้หรือยังว่าเราจะแนะนำเขาว่าอย่างไร ที่ต้องละเอียดพอ ชัดเจนพอ และสามารถปฏิบัติได้จริง
คนในสังคมจำนวนมาก แม้กระทั่งนักวิชาการ หลายครั้งจะมีอคติต่อการทำงานวิชาการให้ลึกซึ่งโดยบอกว่ารู้อยู่แล้วนั้นเอาปฏิบัติได้เลย แต่หลายเรื่องก็พบว่า ที่บอกว่ารู้อยู่แล้วนั้นพอไล่ไปไล่มา ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็แปลว่าสิ่งที่คนเข้าใจว่ารู้อยู่แล้วนั้น เกือบทุกกรณี ยังไม่ได้รู้ลึกซึ้ง ละเอียด ถื่ถ้วน และก็ไม่สามารถเอาไปปฏิบัติได้จริง
ที่กล่าวมาคือขั้นแรก ซึ่งก็คือการสร้างความรู้ ต่อมา ขั้นที่สองก็คือ การสื่อสารกับสังคมให้มีประสิทธิภาพ ให้สื่อสารได้ไกล ได้มาก และทำให้เกิดการถกเถียงในสังคม ซึ่งการถกเถียงนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง โดยฝ่ายการเมืองหรือผู้ที่มีอำนาจในเวลานั้น
ซึ่งช่วงที่ผมเป็นประธานสถาบัน ผมก็มีโอกาสมีทีมงานที่มีความสามารถ และได้ทดลองการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเว็บไซต์ การปรับปรุงงานเอกสารตีพิมพ์ การจัดรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ การทำอินโฟกราฟฟิกส์ การจัดงานสัมมนาประจำปี โดยเฉพาะงานสัมมนาเมื่อปีที่แล้ว (2556) ซึ่งแหวกแนวที่สุดงานหนึ่งที่เคยทำกันมา ก็เป็นการทดลองที่ผมยังสนุกกับสิ่งเหล่านี้แต่ก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จว่าอย่างไรจะสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากจะสื่อสารได้จริงๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทุกครั้งที่แถลงข่าว ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ ก็ยังมีความรู้สึกว่ายังตกตรงนั้น ยังหล่นตรงนี้ แม้จะทำได้ดีพอสมควร แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรต้องทำอีกเยอะ เพราะฉะนั้นก็เป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่ผมยังรู้สึกสนุก
ส่วนสุดท้ายก็คือ การนำไปสู่การกำหนดนโยบาย โดยฝ่ายการเมือง ซึ่งก็แปลว่าความรู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากศึกษามาเป็นอย่างดีในวิชาการ ต้องเป็นความรู้ที่เป็นไปได้จริงทางการเมืองด้วย ซึ่งเราก็ต้องสมมติสถานการณ์กลับกันจากในกรณีแรก กรณีแรก เราสมมติว่าถ้าผู้มีอำนาจสูงสุดมาฟังเรา เราจะเสนออะไร ส่วนการสมมติในกรณีที่สาม คือ สมมติว่าถ้าเราเป็นผู้กำหนดนโยบาย และมีข้อเสนอแนะอย่างที่เราอยากจะเสนอ เรากล้าทำหรือเปล่า ส่วนในกรณีที่สองคือสมมติว่าถ้าเราเป็นผู้รับสาร เราอยากรู้อะไร
สำหรับนโยบายที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบกับคนบางกลุ่มแม้จะทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ถ้าเราเป็นผู้กำหนดนโยบาย เรากล้าทำหรือเปล่า เราไม่ควรเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงอย่างเดียว ถ้าข้อเสนอของเราสร้างปัญหาตามมาหลายเรื่อง เพราะฉะนั้นเราต้องละเอียด เราต้องรอบคอบกับข้อเสนอของเรา เช่น ถ้าเรามีข้อเสนอในอุดมคติ แต่ในภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันมีช่องว่างอยู่เยอะ เราจะมีวิธีเปลี่ยนผ่านจากปัจจุบันไปสู่จุดที่ควรจะเป็นอย่างไร ให้ราบรื่น
ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้กันน้อย เพราะในโลกวิชาการโดยเฉพาะในโลกเศรษฐศาสตร์ มักจะสมมติว่ามันมีจุดดุลยภาพ และเรากระโดดจากดุลยภาพหนึ่งไปอีกดุลยภาพหนึ่งได้โดยอัตโนมัติ ทั้งที่ในโลกความจริงหรือในโลกการเมือง การเปลี่ยนผ่านจากดุลยภาพหนึ่งไปสู่อีกดุลยภาพหนึ่ง เส้นทางมันสลับซับซ้อน ต้องทำ ก หรือ ข ก่อน ในตำราไม่เคยสอน
นี่เป็นสิ่งที่โลกวิชาการยังพัฒนาองค์ความรู้น้อยมาก เมื่อเทียบกับโลกของการกำหนดนโยบายสาธารณะที่แท้จริง เช่น เรื่องการปฏิรูปการศึกษา เราศึกษากันมา เรารู้ว่าจะต้องมีการจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนเอกชน ให้ทัดเทียมกับโรงเรียนรัฐ ต้องมีการจัดสอบที่ได้มาตรฐาน ต้องมีการปฏิรูปหลักสูตร แต่ถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ มันต้องเรียงลำดับว่าต้องทำอะไรเป็นลำดับที่หนึ่ง ลำดับที่สอง ลำดับที่สาม การเปลี่ยนแปลงจึงจะเกิดขึ้นได้จริง ของพวกนี้เป็นความรู้ที่มีการพัฒนาน้อย และผมคิดว่าสถาบันวิจัยนโยบายอย่างทีดีอาร์ไอ ซึ่งทำเรื่องพวกนี้มากที่สุดองค์กรหนึ่งของประเทศไทย ควรจะมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์ความรู้ด้านนี้
ในสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คำถามสามข้อที่สำคัญก็คือ คำถามแรก ถ้าผู้กำหนดนโยบายนั่งอยู่ต่อหน้าเรา เราจะเสนออะไร ความรู้ของเราดีพอหรือไม่ ละเอียดพอหรือเปล่า ถ้าเขียนกฎกระทรวงจะเขียนอย่างไร ถ้าเขียนพระราชบัญญัติเขียนอย่างไร ถ้าเขียนแล้วปฏิบัติได้จริงแปลว่า สอบผ่าน
คำถามที่สอง เราอยากสื่ออะไรกับสังคม และสังคมอยากรู้หรือสงสัยเรื่องอะไร และ คำถามที่สาม ถ้าเราเป็นผู้กำหนดนโยบาย เราจะทำสิ่งที่อยากทำได้หรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ในสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เหลี่ยมแรก คือ นักวิชาการที่นำเสนอข้อเสนอแนะ เหลี่ยมที่สองคือคนฟังและคนที่สื่อสารและเหลี่ยมที่สามคือผู้กำหนดนโยบาย
การกำหนดบทบาทแบบนี้ ผมคิดว่าจะทำให้เราตีโจทย์แตกมากขึ้น
ขอบคุณภาพจาก:www.tdri.or.th
หมายเหตุ: อ่านบทสัมภาษณ์ดร.สมเกียรติ และผู้ให้สัมภาษณ์ท่านอื่นๆ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://tdri.or.th/publications/30yrsbook/