แถลงการณ์ ก.ศป. :วิวาทะกรณี จม.น้อยไม่ได้มีฉบับเดียว
"ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อศาลปกครองเป็นอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ... และเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงแทนการแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเพียงคนเดียวเป็นผู้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง"
หมายเหตุ : เป็นคำชี้แจงของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิกรณีที่สำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวในสื่อออนไลน์อ้างคำสัมภาษณ์ของนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ออกเผยแพร่ในวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีสาระสำคัญในการชี้แจงถึงการออกแถลงการณ์ฉบับแรกภายหลังการประชุม ก.ศป.เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และกรณีนายวรพจน์ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า จดหมายน้อยมีหลายใบ ไม่เฉพาะกรณีการทำจดหมายน้อยของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เท่านั้น
(อ่านประกอบ : คดีจม.น้อยฝาก"ตร."ไร้ข้อยุติ!องค์ประชุม ก.ศป.ล่ม-กก.ลาเพียบ"หัสวุฒิ"ด้วย )
ตามที่สำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าวฯ ในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เวลา 18.00 น. เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมการประชุม ก.ศป. ครั้งที่ 177 – 12/2557 เมื่อวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งชี้แจงให้ตุลาการศาลปกครองได้รับทราบว่า การประชุมดังกล่าวไม่อาจกระทำได้เนื่องจากมีกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมจำนวนหกคน ซึ่งน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการฯ ทั้งหมด จึงไม่ครบองค์ประชุม
ดังนั้น ก.ศป. จึงไม่อาจประชุมกันเพื่อพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม ซึ่งรวมถึงวาระการพิจารณารายงานผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่า เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้จัดทำหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ
โดยอ้างว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนนายตำรวจผู้หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกับหลานชายให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการ ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ ก.ศป. ได้แต่งตั้งขึ้น ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังมิได้มีการนำรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอต่อที่ประชุม ก.ศป. ซึ่ง ก.ศป. ได้หารือกันในการประชุมครั้งที่ 172 – 7/2557 เมื่อวันพุธที่ 6 สิงหาคม 2557 แล้วได้มีมติไว้ว่า ให้ชะลอการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกและจากตุลาการศาลปกครองให้ครบองค์ประกอบเสียก่อน แต่จะต้องมีการนำเสนอรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ เข้าสู่การพิจารณาของ ก.ศป. อย่างช้าที่สุดภายในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557
ซึ่งต่อมาสำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าวฯ ในวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2557 จำนวน 2 ชิ้นข่าว โดยข่าวชิ้นที่หนึ่ง ลงเผยแพร่ในเวลา 10.30 น. ตั้งหัวข้อข่าวว่า ““วรพจน์” แจงเหตุลาประชุม ก.ศป. ทำวาระลงมติคดีจม.น้อยล่ม – กลัวไม่สง่างาม” โดยข่าวดังกล่าวอ้างคำสัมภาษณ์ของนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวอิศราถึงการประชุม ก.ศป. ดังกล่าว พอสรุปได้ว่า การที่นายวรพจน์ ไม่เข้าร่วมการประชุม ก.ศป. ดังกล่าว เป็นเพราะได้แสดงจุดยืนและให้เหตุผลไว้ชัดเจนแล้วในการประชุม ก.ศป. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 ว่า ไม่อยากให้ ก.ศป. 7 คนพิจารณาเรื่องนี้เพราะ “ไม่สง่างาม” ควรรอให้มี ก.ศป. ครบองค์ประกอบเสียก่อน โดยเฉพาะในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกเพื่อที่ท่านเหล่านั้นจะได้ประกันความโปร่งใสของ ก.ศป. ส่วนข่าวชิ้นที่สอง ลงเผยแพร่ในเวลา 12.47 น. โดยตั้งหัวข้อข่าวว่า “คำต่อคำ “วรพจน์” แจงเหตุลาประชุม ก.ศป. ล่ม – รู้ไหม “จม.น้อย” ในศาล ปค. ไม่ได้มีแค่ใบเดียว” ซึ่งข่าวชิ้นที่สองนี้เขียนโดยรพีพรรณ สายัณห์ตระกูล โดยผู้เขียนข่าวดังกล่าวรายงานว่า นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจต่อสำนักข่าวอิศราถึงสาเหตุในการไม่เข้าร่วมประชุม ก.ศป. ดังกล่าว
พอสรุปสาระสำคัญได้เป็น 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง นายวรพจน์ เอือมระอากับความขัดแย้งภายในศาลปกครองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความขัดแย้งที่นายวรพจน์ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงอยากจะดึงตัวเองออกมาเสียที งานในหน้าที่ก็เครียดมากพออยู่แล้ว ยังต้องมาเครียดกับเรื่องความขัดแย้งไร้สาระ
ประเด็นที่สอง การที่ ก.ศป. จำนวน 7 คน จะพิจารณารายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยที่ยังไม่เต็มองค์ประกอบของ ก.ศป. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะ “ไม่สง่างาม” ควรรอให้ ก.ศป. เต็มองค์ประกอบเสียก่อน เพื่อที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกจะได้เป็นหลักประกันความโปร่งใสของ ก.ศป. และจะได้เป็นพยานได้ว่า ก.ศป. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน “ไม่มุบมิบ รวมหัวกัน เล่นงานประธานฯ แต่ว่ากันไปตามเนื้อผ้าจริงๆ” ถ้า ก.ศป. พิจารณาเรื่องดังกล่าวในขณะนี้ จะเป็นเหมือน “ทีใคร ทีมัน” เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว เมื่อไหร่ปัญหาความขัดแย้งจะหมด
ประเด็นที่สาม คำแถลงการณ์ของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมการประชุม ก.ศป. ครั้งที่ 177 – 12/2557 เมื่อวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ที่อ้างถึงมติของ ก.ศป. ในการประชุมครั้งที่ 172 – 7/2557 เมื่อวันพุธที่ 6 สิงหาคม 2557 มีใจความสำคัญแตกต่างไปจากมติที่ ก.ศป. ได้เคยตกลงกันไว้จริงๆ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557
ประเด็นที่สี่ “คนที่จะตำหนิติเตียนคนที่ทำจดหมายน้อย น่าจะไม่ใช่คนที่เคยทำจดหมายน้อยมาก่อน ถ้าคนเคยทำมาก่อน แล้วไปติเตียนเขา หมายความว่าคุณก็ติเตียนตัวเองสิ เพราะฉะนั้น ผมว่า ก่อนที่จะตำหนิคนอื่นเขา พิจารณาตัวเองซะก่อนดีไหมว่า ตัวเองดีพอหรือยัง มันไม่สง่างามหรอก ถ้าคุณเคยทำ แล้วก็ไปติเตียนเขา คุณต้องอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้คนที่เขาไม่เคยทำจดหมายน้อยเป็นคนติเตียน แบบนั้นจึงสวย คุณอยากรู้ไหมว่า ในศาลปกครอง มีจดหมายน้อยกี่ใบ
เรื่องจดหมายน้อยนี้เป็นเรื่องที่สมควรจะถูกติเตียนอย่างหนักด้วย ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำจดหมายน้อย จะต้องถูกติเตียนทั้งนั้น แต่ผู้ที่ติเตียน ไม่ควรจะเป็นผู้ที่เคยทำจดหมายน้อยมาก่อน เพราะมิฉะนั้น ก็เท่ากับติเตียนตัวเอง ควรปล่อยให้คนที่เขาไม่เคยทำเป็นผู้ติเตียน และผมบอกได้ว่า จดหมายน้อยในศาลปกครองมีหลายใบ” (ความละเอียดปรากฏตามข่าวดังกล่าวของสำนักข่าวอิศรา)
เมื่อตุลาการศาลปกครองและกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคำแถลงการณ์ดังกล่าวได้รับทราบการลงข่าวดังกล่าวข้างต้นของสำนักข่าวอิศราแล้ว ได้ปรึกษาหารือกันและได้รับทราบความไม่สบายใจของตุลาการศาลปกครองอีกจำนวนหนึ่งแล้ว
เห็นว่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าวข้างต้นของนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ที่สำนักข่าวอิศราได้นำออกเผยแพร่ เป็นความเข้าใจและมุมมองของนายวรพจน์ ซึ่งยังมีความคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงบางประการ แม้ว่ากรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคำแถลงการณ์ดังกล่าวไม่มีความประสงค์ที่จะให้มีการชี้แจงตอบโต้กันผ่านสื่อมวลชนก็ตาม แต่ถ้านิ่งเฉย ก็จะเท่ากับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำสัมภาษณ์ของนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของตุลาการศาลปกครองโดยรวม
กรณีจึงมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องทำคำชี้แจงต่อสำนักข่าวอิศราเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดต่อศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครอง และการดำเนินงานของ ก.ศป. ในเรื่องนี้ โดยขอชี้แจงดังต่อไปนี้
(1) ก.ศป. เป็นองค์กรการบริหารงานบุคคลของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการดำเนินการทางวินัยของตุลาการศาลปกครองให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกาศ ก.ศป. เรื่อง วินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครอง ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2544 จริยธรรมตุลาการศาลปกครอง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 และระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 โดยระเบียบ ก.ศป. ฉบับหลังนี้กำหนดวิธีการสอบสวนฯ ไว้เป็น 2 กรณี คือ (1) กรณีที่มีการกล่าวหาตุลาการศาลปกครองว่ามีกรณีที่ต้องถูกสอบสวนฯ ตามข้อ 3 ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อ 3 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
(2) กรณีที่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นมีกรณีตามข้อ 3 หรือกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดมีเหตุอันควรสงสัยว่าอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมีกรณีตามข้อ 3 ซึ่งจะต้องดำเนินการตามข้อ 3 วรรคสาม โดยระเบียบ ก.ศป. ฉบับนี้กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการไว้ในข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 ดังนี้
“ข้อ 3 ตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีกรณีดังต่อไปนี้ ต้องถูกสอบสวนและพิจารณาตามวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ (1) ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องอย่างร้ายแรงหรือประพฤติตนไม่สมควรตามที่กำหนดในวินัยแห่งการเป็นตุลาการศาลปกครองตามมาตรา 22 วรรคสอง (1) ฯลฯ
ข้อ 4 เมื่อตุลาการศาลปกครองผู้ใดถูกกล่าวหาตามข้อ 3 ให้ตุลาการศาลปกครองดังต่อไปนี้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นโดยมิชักช้า โดยจะให้ผู้กล่าวหาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องราวเป็นหนังสือหรือโดยบันทึกเรื่องราวและความเห็น หรือโดยตั้งคณะบุคคลขึ้นสอบข้อเท็จจริงก็ได้ ฯลฯ
(3) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคนใดคนหนึ่งที่ ก.ศป. แต่งตั้งในกรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด เมื่อ...ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ ก.ศป. แต่งตั้ง แล้วแต่กรณี ได้สอบข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าเห็นว่าไม่มีมูล ให้ยุติเรื่อง ถ้าเห็นว่ามีมูล ให้เสนอ ก.ศป. พิจารณา
ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับกับกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดมีเหตุอันควรสงสัยว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีกรณีตามข้อ 3 ด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 5 ในกรณีที่ ก.ศป. เห็นว่ามีมูลตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะให้ตุลาการ ศาลปกครองผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ให้ ก.ศป. มีมติให้ยุติเรื่อง และให้นำผลการพิจารณาของ ก.ศป. ไปประกอบการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองผู้นั้น ในการนี้ ก.ศป. อาจมีมติให้ว่ากล่าวตักเตือนตุลาการศาลปกครองผู้นั้นหรือให้ตุลาการศาลปกครองผู้นั้นทำทัณฑ์บนไว้เป็นหนังสือด้วยก็ได้ในกรณีที่ ก.ศป. เห็นว่ามีมูลตามที่ถูกกล่าวหาและถึงขั้นที่จะให้ตุลาการ ศาลปกครองผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ให้ ก.ศป.แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนเรื่องที่ตุลาการศาลปกครองถูกกล่าวหา”
(2) การดำเนินการของ ก.ศป. ในเรื่องนี้มิได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง ก.ศป. หรือ
ตุลาการศาลปกครองส่วนหนึ่ง กับประธานศาลปกครองสูงสุด แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้จัดทำหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ โดยอ้างว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนนายตำรวจผู้หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกับหลานชายให้ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับการ โดยมีการเรียกร้องจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยฯ ที่รัฐบาลชุดก่อนได้แต่งตั้งขึ้น ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ซึ่งตุลาการศาลปกครองจำนวนมากได้หารือกันแล้ว เห็นว่า ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อศาลปกครอง จึงได้เข้าชื่อกันร้องขอให้ ก.ศป. ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของตุลาการศาลปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ที่จะพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ได้โดยตรง ได้นัดประชุมกันเป็นการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่ง ก.ศป. ในขณะนั้นนอกจากประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน ก.ศป. โดยตำแหน่งแล้ว ประกอบด้วยกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการศาลปกครองจำนวน 9 คนเท่านั้น ส่วนกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และจากคณะรัฐมนตรี 1 คน ได้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดำรงตำแหน่งครบวาระไปก่อนแล้ว โดยยังมิได้มีการดำเนินการเลือกกรรมการฯ ใหม่เข้ามาแทน
เมื่อได้รับการร้องขอจากตุลาการศาลปกครองที่เข้าชื่อกันแล้ว กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการศาลปกครองจำนวนหนึ่งจึงได้เข้าชื่อกันเพื่อขอให้เลขานุการ ก.ศป. ออกหนังสือนัดประชุม ก.ศป. เป็นนัดพิเศษ เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวข้างต้นโดยเฉพาะ ซึ่งในการประชุม ก.ศป. ครั้งที่ 170 – 5/2557 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากตุลาการศาลปกครองทั้ง 9 คน คือ นายเกษม คมสัตย์ธรรม นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นายนพดล เฮงเจริญ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ นายสมชาย งามวงศ์ชน นายพัลลภ รัตนจันทรา นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ และนายเกียรติภูมิ แสงศศิธร ได้หารือกันแล้ว
มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อศาลปกครองเป็นอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏ จึงเห็นควรดำเนินการตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 และเพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงแทนการแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเพียงคนเดียวเป็นผู้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 วรรคหนึ่ง (3) โดย ก.ศป. ได้พิจารณาแล้วเห็นควรแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งมิได้เป็นตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดที่มีอาวุโสสูงสุดจำนวน 3 คน คือ นายนพดล เฮงเจริญ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม และนายวราวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา ให้เป็นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
(3) หลังจากที่ ก.ศป. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว คสช. ได้ยึดอำนาจการปกครองและได้มีการออกประกาศ คสช. ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง จนเป็นเหตุให้ประธานศาลปกครองสูงสุดและกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิส่วนหนึ่ง (นายเกษม คมสัตย์ธรรม และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ) มีความเห็นว่า โดยที่ ก.ศป. ได้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อรัฐธรรมดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว ก.ศป. จึงสิ้นสภาพไปด้วย เป็นเหตุให้ประธานศาลปกครองสูงสุดไม่เข้าร่วมการประชุม ก.ศป.
นับตั้งแต่นั้นมา และกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสองท่านดังกล่าวข้างต้นก็ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการฯ ด้วย ส่วนกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออยู่อีก 7 คน มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ก.ศป. ยังคงมีอยู่และได้เข้าร่วมประชุม ก.ศป. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ศป. มาโดยตลอด
อีกทั้งยังได้มีมติเร่งรัดให้สำนักงานศาลปกครองเสนอต่อประธานศาลปกครองสูงสุดให้เร่งรัดดำเนินการให้มีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจากตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้มีหนังสือขอให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา พิจารณาดำเนินการเลือกกรรมการฯ ในส่วนของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามลำดับ แต่ก็ไม่บังเกิดผล
(4) แม้ว่าประธานศาลปกครองสูงสุดจะมีความเห็นว่า ก.ศป. ได้สิ้นสภาพไปโดยผลของประกาศ คสช.แล้วก็ตาม แต่ประธานศาลปกครองสูงสุดก็ได้ยืนยันในที่ประชุมตุลาการศาลปกครองหลายครั้งว่า ท่านเป็นสุภาพบุรุษ ท่านยอมรับการตรวจสอบ ท่านจึงขอให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ ก.ศป. ได้แต่งตั้งขึ้นได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงต่อไป หากมีการตรวจสอบแล้ว พบว่าท่านได้กระทำความผิดจริง ท่านก็พร้อมที่จะพิจารณาตนเอง และท่านก็ได้ให้ความร่วมมือโดยได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสามารถดำเนินการได้จนเสร็จสิ้นและได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ ต่อรองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง (นายเกษม คมสัตย์ธรรม) ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธาน ก.ศป. และเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้ได้รับทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2557แต่ยังมิได้มีการนำรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอต่อ ก.ศป. ซึ่งตุลาการศาลปกครองที่ได้เข้าชื่อกันขอให้ ก.ศป. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้และสื่อมวลชนก็ได้ติดตามผลการสอบข้อเท็จจริงฯ มาโดยตลอด
ดังนั้น ในการประชุม ก.ศป. ครั้งที่ 172 – 7/2557 วันพุธที่ 6 สิงหาคม 2557 (โดยปกติ ก.ศป. ประชุมกันเดือนละครั้ง) ก.ศป. จึงได้หารือกันเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการในเรื่องนี้ว่าควรจะดำเนินการเช่นไร จึงจะเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ที่ประชุม ก.ศป. มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นหลายฝ่าย
โดยฝ่ายที่หนึ่งเห็นว่า ก.ศป. ที่เหลืออยู่ 7 คน ยังไม่สมควรพิจารณาเรื่องนี้เพราะไม่สง่างาม ควรรอให้มี ก.ศป. ครบองค์ประกอบเสียก่อน
ฝ่ายที่สองเห็นว่า ควรดำเนินการไปตามปกติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ของระเบียบ ก.ศป. ฯ
ฝ่ายที่สามเห็นว่า เมื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ก็ควรจะรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ ให้ ก.ศป. ได้รับทราบเสียก่อน โดยยังไม่ต้องมีการลงมติว่ากรณีมีมูลหรือไม่มีมูลซึ่งในที่สุด ที่ประชุม ก.ศป. ก็ได้มีการประนีประนอมกันโดยเห็นสมควรชะลอการพิจารณารายงานผลการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าจะมีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีมาเป็นองค์ประกอบของ ก.ศป. และมีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจากตุลาการศาลปกครองเสียก่อน แต่โดยที่ตุลาการ
ศาลปกครองที่ได้เข้าชื่อกันฯ และสื่อมวลชนได้ติดตามผลการสอบข้อเท็จจริงฯ มาโดยตลอด อีกทั้งในขณะนั้น ยังไม่มีความแน่นอนชัดเจนว่าจะมีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกและจากตุลาการศาลปกครองเมื่อใด หากรอไปเรื่อยๆ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออยู่อีก 7 คน ก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเมษายน 2558 ไปเสียก่อน
ดังนั้น ที่ประชุม ก.ศป. จึงมีการประนีประนอมกันระหว่างความเห็นทั้งสามฝ่าย โดยมีมติให้ชะลอการดำเนินการในเรื่องนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะมีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกและจากตุลาการศาลปกครองให้ครบองค์คณะเสียก่อน แต่จะต้องมีการนำเสนอรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของการประชุม ก.ศป. อย่างช้าที่สุดภายในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเมื่อฝ่ายเลขานุการ ก.ศป. ได้จัดทำรายงานการประชุมและได้ยกร่างมติ ก.ศป. ดังกล่าวขึ้นมาเสนอ ที่ประชุม ก.ศป. ก็ได้ร่วมกันตรวจแก้และได้ให้การรับรองรายงานการประชุมและมติดังกล่าวของ ก.ศป. แล้ว
ดังนั้น จึงขอยืนยันว่าคำแถลงการณ์ของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่อ้างถึงมติดังกล่าวของ ก.ศป. ตรงตามมติของ ก.ศป. ที่ ก.ศป. ได้ให้การรับรองแล้ว
(5) ก่อนการประชุม ก.ศป. ครั้งที่ 177 – 12/2557 วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เลขานุการ ก.ศป. ได้ออกหนังสือนัดประชุมโดยกำหนดระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับ ก.ศป. ว่าด้วยการประชุมและการลงมติของ ก.ศป. พ.ศ. 2544 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า
“ข้อ 13 การจัดระเบียบวาระการประชุม ให้จัดลำดับดังนี้
(1) เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
(2) เรื่องรับรองรายงานการประชุม
(3) เรื่องแจ้งเพื่อทราบ
(4) เรื่องค้างพิจารณา
(5) เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา
(6) เรื่องอื่นๆ
ฯลฯ ฯลฯ”
โดยเลขานุการ ก.ศป. ได้ดำเนินการตามมติดังกล่าวข้างต้นของ ก.ศป. โดยกำหนดเรื่อง รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงฯ ไว้ในเรื่องเสนอเพื่อพิจารณา ซึ่งเมื่อมีการกำหนดระเบียบวาระการประชุมไว้ในหนังสือนัดประชุมแล้ว ก็ต้องมีการดำเนินการตามข้อบังคับ ก.ศป. ว่าด้วยการประชุมและการลงมติของ ก.ศป. พ.ศ. 2544 ข้อ 19 ซึ่งกำหนดว่า“ข้อ 19 ให้ที่ประชุมดำเนินการประชุมตามลำดับระเบียบวาระการประชุมที่จัดไว้การเปลี่ยนลำดับระเบียบวาระการประชุม การเลื่อนการประชุม หรือการปิดประชุมหรือเลิกประชุมก่อนพิจารณาระเบียบวาระการประชุมเสร็จ ให้กระทำโดยความเห็นชอบของที่ประชุมเท่านั้นประธานในที่ประชุมมีอำนาจปรึกษาที่ประชุมในปัญหาใดๆ หรือสั่งให้พักการประชุมได้ตามที่เห็นสมควร”
จากข้อบังคับ ก.ศป. ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า เมื่อ ก.ศป. ได้มีมติไว้อย่างไรแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงมติให้แตกต่างไปจากเดิมหรือการจะเลื่อนการพิจารณาระเบียบวาระการประชุมในเรื่องหนึ่งเรื่องใดออกไป จะต้องกระทำโดยที่ประชุม ก.ศป. และก่อนที่จะถึงกำหนดเวลานัดประชุม ก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นประธาน ก.ศป. จะเข้าประชุมหรือไม่ และยังไม่อาจทราบได้ว่ารองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุดในฐานะประธาน ก.ศป. จะเข้าประชุมหรือไม่
ดังนั้น ก่อนที่จะมีการประชุม จึงยังไม่มีการเลือกกรรมการฯ คนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงกำหนดเวลานัดประชุมแล้ว มีกรรมการฯ มาประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง การประชุมก็ไม่อาจกระทำได้ เมื่อไม่อาจประชุมกันได้ ก็ไม่สามารถปรึกษาหารือกันได้ว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงมติให้แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่
(6) ในที่ประชุม ก.ศป. ในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2557 กรรมการฯ ที่ได้เข้าร่วมประชุมได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการ ก.ศป. บันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่า ได้มีกรรมการฯ มาเข้าร่วมประชุมหกคน แต่ไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่อาจประชุมได้ และได้สอบถามฝ่ายเลขานุการ ก.ศป. ว่าจะจัดทำบันทึกดังกล่าวได้แล้วเสร็จเมื่อใด เพื่อที่กรรมการฯ ที่ได้เข้าร่วมประชุม จะได้ชี้แจงต่อตุลาการศาลปกครองที่ได้ติดตามผลการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ซึ่งฝ่ายเลขานุการ ก.ศป. ได้ชี้แจงว่าขอเวลาในการดำเนินการ 1 สัปดาห์
ดังนั้น กรรมการฯ ที่ได้เข้าร่วมประชุมจึงได้ประชุมกันเองเป็นการภายในแล้ว เห็นควรจัดทำคำแถลงการณ์เพื่อชี้แจงให้ตุลาการศาลปกครองได้รับทราบว่าการประชุม ก.ศป. ในวันดังกล่าวไม่อาจกระทำได้เนื่องจากมีกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม โดยได้ร่วมกันจัดทำคำแถลงการณ์ แล้วจัดส่งให้ตุลาการศาลปกครองผ่านทาง Line ของตุลาการศาลปกครองกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ตุลาการศาลปกครองได้รับทราบโดยทั่วกัน โดยกรรมการฯ มิได้ส่งคำแถลงการณ์ดังกล่าวให้สำนักข่าวอิศรานำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด
(7) จากคำชี้แจงตาม (1) – (5) จะเห็นได้ว่า การดำเนินการของ ก.ศป. ในเรื่องนี้มิได้เป็นเพราะ ก.ศป. มีความขัดแย้งหรือเป็น “คู่กรณี” กับท่านประธานศาลปกครองสูงสุดที่จะ “รวมหัวกัน เล่นงานประธานฯ” โดยจะเป็นเหมือน “ทีใคร ทีมัน” แต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อมีกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับจริยธรรมของตุลาการศาลปกครองบางท่าน หรือมีกรณีที่มีการร้องเรียนตุลาการศาลปกครองไปยังหน่วยงานอื่นๆ แล้วมีการส่งเรื่องมาให้ ก.ศป. พิจารณาหรือมีการร้องเรียนต่อ ก.ศป.โดยตรง ก.ศป. ก็ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่และตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าตุลาการศาลปกครองที่ปรากฏเป็นข่าวหรือที่ถูกร้องเรียนจะเป็นตุลาการศาลปกครองในระดับใดหรือตำแหน่งใดก็ตาม
(8) สำหรับคำสัมภาษณ์ของนายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ที่ปรากฏตามข่าวของสำนักข่าวอิศราที่ว่า มี “จดหมายน้อย” ในศาลปกครองหลายใบนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงต่อตุลาการศาลปกครองและอาจทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าตุลาการศาลปกครองที่เข้าชื่อกันฯ หรือกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออยู่ในปัจจุบันก็เคยทำ “จดหมายน้อย” ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนนายตำรวจให้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ดีขึ้นในทางที่ไม่ชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าหากมีกรณีเช่นนั้นจริง นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิด้วย ก็สามารถแจ้งให้ที่ประชุม ก.ศป. ทราบได้อยู่แล้ว เพื่อที่ ก.ศป. จะได้พิจารณาดำเนินการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไปได้
(9) สำหรับคำแถลงการณ์ฯ ที่ว่า ฝ่ายเลขานุการ ก.ศป. ได้เตรียมการที่จะเสนอเรื่องการเลื่อนและการย้ายตุลาการศาลปกครองเพื่อรองรับการเปิดทำการศาลปกครองเพชรบุรีนั้น เลขานุการ ก.ศป. ได้เคยแจ้งให้ที่ประชุม ก.ศป. ทราบด้วยวาจามาตั้งแต่ในการประชุม ก.ศป. ครั้งที่แล้วแล้วว่า ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นช่วยประธานศาลปกครองสูงสุดพิจารณาในการเสนอรายชื่อการพิจารณาย้ายและเลื่อนตำแหน่งของตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นให้ ก.ศป. พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยจะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ก.ศป. ต่อไป ดังนั้น ก.ศป. จึงได้รับทราบเป็นการภายในแล้วว่า ฝ่ายเลขานุการ ก.ศป. อาจเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ ก.ศป. ในการประชุมดังกล่าว
(10) เพื่อให้การดำเนินงานของ ก.ศป. สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่เสียหายต่อราชการของศาลปกครอง กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน จึงได้เข้าชื่อกันขอให้เลขานุการ ก.ศป. ออกหนังสือนัดประชุม ก.ศป. เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยเร็วที่สุดแล้วซึ่งเลขานุการ ก.ศป. ได้ออกหนังสือนัดประชุม ก.ศป. ครั้งต่อไปในวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2557 เวลา 10.00 น.
กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคำแถลงการณ์ในคราวที่แล้ว (ซึ่งอยู่ในส่วนกลาง) จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นมาให้สำนักข่าวอิศราได้รับทราบด้วย
27 พฤศจิกายน 2557
อ่านประกอบ : “วรพจน์” แจงเหตุลาประชุม ก.ศป. ทำวาระลงมติคดี จม.น้อย ล่ม-กลัวไม่สง่างาม