ดร.นิพนธ์ ย้ำชัดสูตรเดียวท่องไว้ เกษตรกรไทยรุ่งเรืองได้ต้องมี “นวัตกรรม”
'พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล' ชี้กม.ไทย ไม่ได้เป็นอุปสรรคปฏิรูปภาคเกษตร ปัญหาอยู่ที่ทำอย่างไรให้ต้นทุนลด นักวิชาการทีดีอาร์ไอ แนะภาครัฐมองไกล เปลี่ยนวิธีคิดเงินอุดหนุนภาคเกษตร เน้นงานวิจัย ดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่ประยงค์ ดอกลำใย หนุนกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม-ยั่งยืน
วันที่ 27 พ.ย 57 นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "ปฏิรูปอย่างไร เกษตรไทยไปโลด" ณ ห้อง EC 5205 อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปฏิรูปภาคการเกษตรนั้น ต้องมองโลกควบคู่ไปด้วย เช่น ประเทศในภูมิภาคนี้กำลังมีการเจรจาอะไรบ้าง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังเจรจาต่อรองผลักดันให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้า เรื่องการผ่านแดนสินค้า เรื่องศุลกากร ดังนั้นทำให้การส่งสินค้าเกษตรมีต้นทุน รวมถึงไปถึงกฎระเบียบของโลก โจทย์เหล่านี้หากมองไม่เห็นก็จะปฏิรูปทางด้านการเกษตรเป็นไปด้วยความยากลำบาก
"ขณะนี้โลกมีเรื่องการค้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อม การลดคาร์บอน การไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง มีเรื่องปัญหาค้ามนุษย์ ( Tier 3) สวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) ขณะที่นโยบายภาคการเกษตรจะใช้มาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรนั้นจะสนับสนุนอย่างไรให้หลายหลากมากกว่าปัจจุบัน ไม่ใช่ดูแลเรื่องราคาอย่างเดียว" นายพรศิลป์ กล่าว และว่า กฎหมายไทย ไม่ได้เป็นอุปสรรคด้านภาคเกษตรของไทย แต่ภาคเกษตรของไทยต้องทำต้นทุนต่อหน่วยให้ลดลงให้ได้ เช่น ดูเรื่องพันธุ์พืช ระบบการผลิตการจัดการภาคเกษตร และลดการสูญเสียจากการผลิต
ขณะที่นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวถึงการปฏิรูปภาคเกษตรไทย ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยเฉพาะออกกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนไทยเท่ากัน พร้อมมองภาคเกษตร เหมือนรถยนต์มี 4 ล้อ ที่ตอนนี้ติดหล่มอยู่ ล้อแรกเป็นเรื่องที่ดิน ล้อสอง ปัจจัยการผลิต ล้องสาม เรื่องการตลาด และล้อที่สี่ ทรัพยากรและเทคโนโลยี
"ตอนนี้อยู่ในหล่มทั้ง 4 ล้อ บางล้อระเบิดไม่มีลมแล้วก็มี ดังนั้น การปฏิรูปต้องไปทั้ง 4 ล้อ โดยเฉพาะปัญหาที่ดิน ไม่ให้มีการกระจุกตัวในมือของคนส่วนน้อยของประเทศ โดยคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าไม่ถึง"
ด้านรศ.ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงการจัดการทรัพยากรกับด้านการเกษตร รวมถึงการใช้น้ำ ที่ปัจจุบันน้ำขาดแคลน แต่ยังมีการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยอยู่
"การดำเนินนโยบายน้ำและเกษตร แยกส่วนกัน นโยบายน้ำไม่นึกถึงเกษตร นโยบายเกษตรไม่คำนึงถึงน้ำ การบริหารจัดน้ำ เป็นเรื่องซับซ้อนยิ่งให้นักการเมืองมาบริหาร ยิ่งวินาศสันตะโร"
รศ.ดร. นิพนธ์ กล่าวถึงความท้าทายของภาคเกษตร นอกจากเรื่องสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะกระทบความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวแล้ว โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติเกษตรรอบ 2 ซึ่งมาจาก จีโนมิกส์ (Genomics) ทำแผนที่ยีนส์พืชต่างๆ สัตว์ต่างๆ สำเร็จ แปลว่า งานวิจัยมนุษย์สามารถปรับปรุงพันธุ์พืชทนแล้ง ทนน้ำท่วม ทนศัตรูพืช ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้เร็วขึ้น
"รัฐบาลต่างประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านลงทุนอย่างมโหฬารด้านนวัตกรรม บริษัทเอกชนข้ามชาติไม่ได้ลงทุนเดี่ยวๆ เพราะไบโอเทคโนโลยี ใช้ความรู้จำเพาะ และใช้เงินลงทุนมากมาย จึงมีการรวมตัวกันแบบ CropLife ร่วมมือกัน" นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า ไทยกลับลดการลงทุน นั่งกินบุญเก่า แถมเงินวิจัยก็ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
รศ.ดร. นิพนธ์ กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาภาคการเกษตรไทยด้วยว่า ต้องทำให้รายได้ต่อหัวเกษตรกร กับคนที่อยู่นอกภาคเกษตรใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เหลื่อมล้ำกัน 4 เท่าตัวเหมือนปัจจุบัน รวมไปถึงขนาดฟาร์มของเกษตรกรไทยต้องใหญ่ขึ้นเหมือนในยุโรป
"หากเราอยากเป็นประเทศเกษตรกรต่อไป เงินอุดหนุนเกษตรกรต้องเปลี่ยนแปลงไปอุดหนุนงานวิจัย อนุรักษ์ทรัพยากร เราต้องมองให้ไกล อนาคตความไม่แน่นอนจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกษตรกรไทยปรับตัวยากลำบาก หากไม่มีนวัตรกรรม ขอให้ท่องสูตร เกษตรกรไทยรุ่งเรืองได้ ต้องมีนวัตกรรม"
สุดท้ายว่าที่ร้อยเอก นันทพร บัวเอี่ยม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นำเสนอกรอบแนวคิดปฏิรูปภาคเกษตร ทั้งในมิติการพัฒนาเกษตรกร การเพิ่มบทบาทสหกรณ์ การขยายพื้นที่ชลประทาน การฟื้นฟูคุณภาพดิน การใช้สารเคมี รวมถึงกระจายอำนาจเรื่องการส่งเสริมภาคเกษตรให้ท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น