‘อานันท์’ มอบรางวัลสิทธิเด็ก ปี 57 หวังสังคมไม่ปิดกั้นเสรีภาพสื่อเกินไป
‘อานันท์’ มอบรางวัลสิทธิเด็ก ปี 57 หวังสื่อนำเสนอข่าวด้วยความรับผิดชอบ สังคมไม่ปิดกั้นเสรีภาพมากเกินไป แนะเร่งหาจุดยืนร่วมกัน วิจัยชี้ ‘ข่าวสด-ช่อง 7’ ทำข่าวเด็กมากสุด พบการละเมิดด้านภาษามากกว่าภาพ โดยเฉพาะเปิดชื่อ-ภาพ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ที่โรงแรม เซ็นจูรี ปาร์ค กรุงเทพฯ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก ประจำปี 2557 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และทูตพิเศษยูนิเซฟ ประเทศไทย เป็นประธาน
นายอานันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ขณะเดียวกันการนำเสนอข่าวสิทธิเด็กเชิงสร้างสรรค์ก็มีมากขึ้น ซึ่งการที่สถาบันอิศราฯ จัดประกวดหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติจึงนับเป็นการขยายการตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวไปยังนักศึกษาและนักเรียน ในฐานะกลุ่มเป้าหมายโดยตรงให้กว้างขวางมากขึ้น
“ผมเชื่อมั่นว่าหากให้กิจกรรมนี้มีดำเนินต่อไปจะทำให้การนำเสนอข่าวสิทธิเด็กในสื่อมวลชนไทยมีความถูกต้อง เที่ยงตรง และช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในประเทศน้อยลงได้”
ทูตพิเศษยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวต่อว่า สิทธิมนุษยชนเป็นการนำสังคมไปสู่สันติภาพ สงบ สร้างสรรค์ และมีความสุข ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอต้องรับผิดชอบ ส่วนการให้สิทธิจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบและกฎหมาย ขณะเดียวกันไม่ควรมีสังคมที่กีดกันสิทธิเสรีภาพมากเกินไปหรือเกินขอบเขต ฉะนั้นต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย ในการพยายามหาจุดยืนและเป้าหมายใกล้เคียงหรือรวมกัน
ทั้งนี้ ในเวทีมีนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและการละเมิดสิทธิเด็กในสื่อมวลชนไทย และปัญหาการร้องเรียนสื่อละเมิดสิทธิเด็ก
ผศ.ดร.ธาตรี ใต้ฟ้าพูล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการวิจัยการนำเสนอข่าวและการละเมิดสิทธิเด็กในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ไทย ปี 2555 ว่า ได้เก็บตัวอย่างจากหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ มติชน ข่าวสด และจากรายการข่าวโทรทัศน์ ช่อง 3, 7 และ NBT รวม 230 วัน
โดยผลวิจัย พบหนังสือพิมพ์มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก 1,513 ข่าว โทรทัศน์ 287 ข่าว ซึ่งหนังสือพิมพ์ข่าวสด และช่อง 7 มีการนำเสนอมากที่สุด ส่วนรูปแบบนำเสนอมากที่สุด คือ ข่าว ขณะที่เนื้อหา คือ การกระทำผิดของเด็ก ความรุนแรง ถูกกระทำ หรือทอดทิ้ง
“สำหรับหมวดหมู่การละเมิดด้านภาษาหรือข้อความมากที่สุด คือ อาชญากรรม รองลงมา หน้า 1/ไฮไลท์/โปรยข่าว และต่างประเทศ” นักวิชาการนิเทศศาสตร์ กล่าว และว่าขณะที่หมวดหมู่การละเมิดด้านภาพมากที่สุด คือ หน้า 1/ไฮไลท์/โปรยข่าว รองลงมา อาชญากรรม และต่างประเทศ
ผศ.ดร.ธาตรี กล่าวต่อว่า ด้านการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กที่มีการละเมิดสิทธิเด็กในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มากที่สุด คือ เด็กถูกกระทำ ความรุนแรงในครอบครัว และนอกครอบครัว การกระทำผิดของเด็ก สุขภาพ และอุบัติเหตุ ตามลำดับ ขณะที่กรณีไม่พบการละเมิดสิทธิเด็ก ส่วนใหญ่ คือ เด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ การจดทะเบียนเกิด การพัฒนาการเด็กปฐมวัย และการศึกษา
นอกจากนี้ยังพบการละเมิดสิทธิเด็กในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ด้านภาษามากกว่าภาพ ซึ่งมากที่สุดคล้ายคลึงกัน คือ การละเมิดกรณีเปิดเผยเอกลักษณ์บุคคล การละเมิดความเป็นส่วนตัว และใช้ภาษาเร้าอารมณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเปิดเผยชื่อและภาพเด็ก
“เราต้องสร้างความรู้สึก หากต้องกลายเป็นบุคคลในข่าวไม่อยากโดนสื่อนำเสนออะไร เราก็ไม่ต้องนำเสนอแบบนั้น โดยเฉพาะการเปิดเผยเอกลักษณ์บุคคล ซึ่งเชื่อว่าจะลดปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กให้น้อยลงได้” นักวิชาการนิเทศศาสตร์ ทิ้งท้าย
ด้านผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องร้องเรียนต่อองค์กรวิชาชีพในการกำกับดูแลกันเอง โดยระบุถึงข้อมูลของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่มีการเก็บข้อมูลและดำเนินการลงโทษชัดเจนที่สุดมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จึงตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มเรื่องร้องเรียนที่ลดลงนั้น อาจเกิดจากสภาการฯ ไม่มีความโดดเด่นและเป็นที่รู้จักของสาธารณะ
ทั้งนี้ เรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอข่าวไม่ตรงความจริง พาดหัวข่าวทำให้ผู้อื่นเสียหาย และไม่มีการปกปิดเอกลักษณ์ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มีการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ เมื่อใดที่เจอข่าวกระทบต่อสิทธิจำเป็นต้องรู้ช่องทางในการแก้ไข นั่นคือ องค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อจะเกิดกระบวนการกำกับดูแลกันเองมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน กล่าวว่า สิทธิถือเป็นเรื่องขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันเส้นแบ่งกั้นระหว่างนักข่าวพลเมืองกับนักข่าวอาชีพเริ่มจางลงเรื่อย ๆ สังเกตได้จากเว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก ฉะนั้นนักข่าวอาชีพต้องพิสูจน์การทำงานตามหลักการวารสารศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาให้ได้
อ่านประกอบ:สถาบันอิศราจับมือยูนิเซฟส่งเสริมสิทธิเด็กปีที่9 มอบรางวัลประกวดข่าว-สารคดีเชิงข่าว
ภาพประกอบ:Pathompong Mongkolpornpiroj