อดีตนายก วสท. ชี้วิศวกรเป็นเหยื่อคอร์รัปชั่น แนะตัดวงจรนักการเมืองหาผลประโยชน์
อดีตนายกวสท. ชี้ระบบการประมูลแบบ e-auction บ่อเกิดการทุจริตในวงการวิศวกรรม แนะตัดวงจรการเมืองไม่ให้เข้าแทรกแซง หาผลประโยชน์ ด้านนักวิชาการจุฬาฯ แนะดำเนินการอย่างจริงจัง มีแผนปฏิบัติ ลงมือทำ ทั้งในเบื้องต้นและระยะยาว
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 วิศวกรสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดงาน “วิศวกรรม’57 วิศวกรรมสำหรับอนาคต” ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพ
ทั้งนี้ในห้องย่อยมีเวทีเสวนาให้หัวข้อ “วิศวกรไทยกับการป้องกันทุจริต คอร์รัปชั่น” รศ.ดร. ต่อตระกูล ยมนาด อดีตนายก วสท. กล่าวถึงการแก้ปัญหาของการคอร์รัปชั่นในวงการวิศวกรรมคือต้องตัดวงจรไม่ให้นักการเมืองมีโอกาสที่เข้ามาหาผลประโยชน์ในการประมูลต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ
"การทุจริตการก่อสร้างเป็นปัญหาที่นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงในระบบ และเข้ามาหารายได้พิเศษจากการประมูล จากผู้รับเหมา ซึ่งการตรวจสอบในลักษณะดังกล่าวเป็นไปได้ยาก คนนอกวงการวิศวกรที่ไม่ได้คลุกคลีและไม่มีความรู้ในด้านนี้โดยเฉพาะ" อดีตนายก วสท. กล่าว และว่า ดังนั้นการโกงจึงเกิดขึ้นและสามารถโกงราคาการประมูลมากถึง 3-4 เท่าของราคาจริง
รศ.ดร. ต่อตระกูล กล่าวอีกว่า วิศวกรเป็นเหยื่อในระบบคอร์รัปชั่น ในวงการก่อสร้างวิศวกรไม่ได้เป็นตัวริเริ่มเกิดขึ้น แต่มีข้าราชการ นักการเมือง ที่บีบบังคับ แต่ไม่มีใครอยากพูด โดยเฉพาะระบบประมูลของไทยที่เป็นวงจรการทุจริตอย่างมหาศาล
"ไทยใช้การประมูลการก่อสร้างในรูปแบบที่เรียกว่า อีอ๊อกชั่น (e-Auction) ซึ่งเป็นการประมูลที่หลายหน่วยงานนำไปใช้ อาทิ การประมูลน้ำดื่ม กระดาษ หรือการประมูลที่เกี่ยวกับสิ่งของเป็นแสนๆชิ้น แต่ในด้านวิศวกรนั้นเห็นว่า ไม่ควรนำระบบในการก่อสร้างดังกล่าวมาใช้ เหตุเพราะไม่เกิดการแข่งขันกันในตลาด แต่กลับกลายเป็นว่า จะเกิดการฮั๊วหรือร่วมมือกันในการโกง อย่างราคากลางในการเสนอก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง หรือการเสนอราคาไม่ต่างกันมากนัก ทั้งนี้ทำให้เกิดการทุจริตได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น"
พร้อมกันนี้ อดีตนายก วสท. เสนอให้เพิ่มเวลาเรียน “วิชาการคิดราคาก่อสร้าง” จากในปัจจุบันนักศึกษาวิศวกรรมเรียนเพียงแค่ 30 ชั่วโมง ของการเรียนทั้งหมด 4 ปี ซึ่งในความเป็นจริงๆวิชานี้มีความสำคัญต่อวิชาชีพวิศวกรอย่างยิ่ง ในประเทศอังกฤษมีการเรียนการสอนเช่นนี้ถึง 4 ปี นักศึกษาต้องได้เรียนและทำความเข้าใจให้มาก จึงเสนอให้มีการเรียนวิชาดังกล่าวมากขึ้น
ด้านศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่บั่นทอนความเจริญของชาติ อีกทั้งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนจำนวนไม่น้อยมีทัศนคติว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า มาตรการต้านคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะอยู่ในวงการใดผลที่ได้ต้องมาจากการกระทำ ไม่ใช่แค่แผนงานที่สวยหรู โดยเริ่มตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง การป้องกัน การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน รวมถึงสื่อมวลชนในการตรวจสอบการทุจริต
“ประเทศไทยขึ้นชื่อว่า หย่อนยาน ในเรื่องบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งผู้มีอิทธิพลเป็นผู้มีประโยชน์ เช่น รับส่วย รับสินบน เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย”
สำหรับการป้องกัน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ห้ามหน่วยงานราชการให้เอกชน "ชง" โครงการให้ ยกตัวอย่าง กรณีครั้งหนึ่งเคยมีการประมูลงานด้านวิศวกรรมราชการแห่งหนึ่ง บริษัท ก ชักชวน บริษัท ข ร่วมมือกันทำโครงการเพื่อจุดแข็งของแต่ละฝ่าย บริษัท ข ยินดี แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องกันเงินไว้ก้อนหนึ่ง เป็นเงินที่ตกลงไว้กับข้าราชการหน่วยงานนั้นไว้ล่วงหน้าแล้ว หากบริษัท ก ตกลงตามข้อเสนอก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิดติดสินบนเจ้าพนักงาน เป็นต้น ในขณะที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส เลิกเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งการเป็นผู้นำต่อต้านคอร์รัปชั่น
“อยากให้ วสท.ดำเนินการเรื่องการต่อต้านและการป้องกันเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างจริงๆจังๆ โดยควรมีการกำหนดแผนที่ชัดเจนและจริงจัง เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการเป็นเพียงการทำในเบื้องต้นแต่ไม่เห็นในระยะยาว”ศ.ดร.ปณิธาน กล่าว และว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับเยาวชน ซึ่งต่อไปในอนาคตจะก้าวเข้ามาสู่อาชีพต่างๆ
ขณะที่ รศ.ดร.สุขุม สุขพันธ์โพธาราม คณะกรรมการสภาวิศกร กล่าวว่า วสท.ต้องกำหนดการร่วมมือการต่อต้านและป้องกันการทุจริตให้ไปถึงในกระบวนการของการปฏิบัติอย่างแท้จริง กำหนดแผน กำหนดนโยบายออกมาอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเป็นการทำแค่ผ่านๆ