ก.คลังกู้แบงก์ 2.1 หมื่นล.ทำรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-เขียว-ปรับปรุงรางรฟท.
ก.คลัง ไฟเขียวกู้เงินแบงก์กรุงไทย 2.1 หมื่นล้าน ทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1.4 หมื่นล้าน สายสีเขียว 3.8 พันล้าน และให้กู้ต่อการ รฟท. ปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 3.4 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 1
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า เพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 กระทรวงการคลัง ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า กระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมติที่ประชุม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 ประกอบมาตรา 20 (4) และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ดําเนินการกู้เงิน โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
๑. ผู้ให้กู้ : ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน)
๒. วัตถุประสงค์ในการกู้ : เพื่อให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สําหรับ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลําโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และเพื่อให้กู้ต่อแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย สําหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย
๓. รายละเอียดเงื่อนไข :
๓.๑ ระยะเวลากู้เงิน ๒ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ครบกําหนดชําระ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
๓.๒ วงเงินกู้จํานวน ๒๑,๙๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยยี่สิบล้านบาทถ้วน)
โดยแบ่งเป็น ๓ วงเงิน ดังนี้
วงเงินที่ ๑ จํานวน ๑๔,๕๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยเก้าสิบล้านบาทถ้วน)
สําหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลําโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ
วงเงินที่ ๒ จํานวน ๓,๘๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามพันแปดร้อยสี่สิบล้านบาทถ้วน)
สําหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ
วงเงินที่ ๓ จํานวน ๓,๔๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามพันสี่ร้อยเก้าสิบล้านบาทถ้วน)
สําหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย
๓.๓ กระทรวงการคลังจะทยอยเบิกเงินกู้
นับตั้งแต่วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ จนถึงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยจะแจ้งผู้ให้กู้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๒ วันทําการ
๓.๔ อัตราดอกเบี้ย
วงเงินที่ ๑ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ ๒.๙๕ ต่อปี
วงเงินที่ ๒ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ ๒.๙๐ ต่อปี
วงเงินที่ ๓ เท่ากับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ ๒.๘๕ ต่อปี
๓.๕ การชําระดอกเบี้ย
กระทรวงการคลังจะชําระดอกเบี้ยเงินกู้ให้ผู้ให้กู้ทุกงวด ๖ เดือน ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม และ ๑๔ พฤศจิกายน ของทุกปี โดยจะชําระดอกเบี้ยงวดแรก ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ และชําระดอกเบี้ยงวดสุดท้าย ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ พร้อมต้นเงินกู้ ณ วันสิ้นสุดสัญญาเงินกู้
๓.๖ การชําระต้นเงินกู้
กระทรวงการคลังจะชําระคืนต้นเงินกู้ทั้งจํานวน ณ วันสิ้นสุดสัญญากู้เงิน คือวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
๓.๗ การชําระหนี้ก่อนกําหนด
กระทรวงการคลังสามารถชําระหนี้คืนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนครบกําหนดระยะเวลาชําระหนี้ได้ โดยกระทรวงการคลังจะแจ้งให้ผู้ให้กู้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๒ วันทําการ
๓.๘ หากวันครบกําหนดชําระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยคราวใดตรงกับวันหยุดราชการหรือวันหยุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังจะชําระหนี้ในวันเปิดทําการถัดไป โดยไม่นับวันหยุดราชการหรือวันหยุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว เข้ารวมเพื่อคํานวณดอกเบี้ยในงวดที่ถึงกําหนดชําระ ยกเว้นการชําระหนี้งวดสุดท้ายให้คํานวณดอกเบี้ยจนถึงก่อนวันชําระหนี้ ทั้งนี้ ในการคํานวณดอกเบี้ย ให้ถือว่าหนึ่งปีมี ๓๖๕ วัน
๓.๙ ไม่มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗
พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์
รองปลัดกระทรวงการคลัง
หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 นายพงษ์ภาณุ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ เพื่อนำมาใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม. ใน 5 เส้นทางด้วยกัน วงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 3.รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 4.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 5.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โดยระบุว่าที่กู้สถาบันการเงินในประเทศนั้นเนื่องจากดอกเบี้ยน้อยกว่ากู้ต่างประเทศ