คำต่อคำ “นิคม” VS “วิชา” ปมขอพยานเพิ่มต่อ สนช. คดีถอดถอดแก้รธน.
“…ถ้าดูเทป ถ้ามีจิตสำนึกความเป็นคนอยู่ จะไม่กล่าวหาผมเช่นนั้น อย่าใส่ร้าย อย่าก้าวร้าว ใส่ร้ายคนทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม…” VS “…เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. มิได้อนุญาตให้เอาเข้ามา เพราะปรากฏครบถ้วนหมดแล้ว อยู่ในซีดี 91 แผ่น อ่านรายละเอียดได้โดยไม่จำเป็นต้องดูด้วยซ้ำไป…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นบางส่วนจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกีรยติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. โดยนายนิคม ได้ขอยื่นวัตถุพยานเพิ่มเติมแก่ที่ประชุม สนช. โดย สนช. ได้เชิญคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา เข้ามารับฟังและแสดงความคิดเห็นในกรณีดังกล่าว
----
นายนิคม ไวยรัชพานิช
ขอใช้สิทธิ์ในการยื่นเพิ่มเติมพยานวัตถุ เพื่อให้ที่ประชุม สนช. ได้พิจารณา เพราะปรากฏในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นแผ่นซีดีวีดิทัศน์จำนวน 9 แผ่น ความยาว 120 ชั่วโมง โดยในชั้นการพิจารณาของ ป.ป.ช. ที่มีมติออกมานั้น ไม่ปรากฏว่า ได้นำเอาแผ่นซีดีดังกล่าวที่บันทึกเหตุการณ์การประชุมวาระที่ 2 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัย แต่กลับลงมติ ซึ่งเหตุที่กล่าวเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ ป.ป.ช. รีบร้อน หรือข้อกล่าวหา เอกสาร-หลักฐานนั้นยาวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมไปชี้แจงด้วยตัวเอง องค์ประกอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขณะนั้น เรียนว่า ป.ป.ช. 8-9 คนนั้น มีคนเดียวที่นั่งฟังแต่ต้นจนจบคือประธาน ป.ป.ช.
หลายประเด็นคำถามที่ผมได้ชี้แจงไป แต่มีสมาชิก สนช. ลุกขึ้นมาอภิปรายกล่าวแต่ฝ่ายเดียว โดยบางท่านยังไม่เคยได้มาดูแผ่นซีดีบันทึกการประชุมนั้นเลย ซึ่งผมได้ย่อยจาก 120 ชั่วโมงเหลือ 4 ชั่วโมง หากได้ฟังด้วยใจเป็นธรรม จะไม่กล่าวหาเช่นนั้น โดยเฉพาะบางท่านที่อภิปรายเหมือนกับรู้ว่าเป็นหนึ่งในที่ประชุมวันนั้น กำลังกล่าวหาหรือก้าวล่วง ซึ่งผิดข้อบังคับการประชุม สนช. และผิดมารยาทการประชุมของผู้ทรงเกียรติ
ในแผ่นซีดีความยาว 4 ชั่วโมงนี้ ประกอบด้วย เนื้อหาตั้งแต่การเริ่มต้นพิจารณาวาระที่ 2 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้มีการลงมติว่า ผมนั้นกระทำความผิดจากการลงชื่อของ 52 ส.ว. ใน 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกที่ผมไปลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่สองผมไปให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กล่าววาจาสนับสนุน ส.ว. จากการเลือกตั้ง ทั้งที่เจตนาต้องการอยู่เฉย ๆ ก็หาว่าให้ร้าย ส.ว.สรรหา และเรื่องที่สาม รับญัตติปิดการอภิปราย
แต่ก็ดีที่ ป.ป.ช. ได้อ่านตรงนี้ ตัดประเด็นของการที่ผมไปลงชื่อแก้ไข ซึ่งจริง ๆ ผมไม่ได้ลงในญัตติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กับมาตรา 237 และยังยกฟ้องเรื่องที่ไปแถลงข่าวในหนังสือพิมพ์ เพราะความจริงแล้วหากทำผิดจรรยาบรรณต้องร้องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) และนำเข้าสู่ที่ประชุม เพื่อตั้ง กมธ.หาข้อเท็จจริง ก่อนส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ ป.ป.ช. แต่ด้วยความรีบร้อน กลับร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. เลย ซึ่งผมถามนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ (ประธาน ป.ป.ช.) เหตุการณ์แบบนี้ต้องร้องเรียนที่ไหน ท่านก็บอกผมว่าต้องร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนส่งให้ ป.ป.ช.
“ผมเป็นคนสอนหนังสือ ออกไปต่างจังหวัดก็เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย ดีที่ ป.ป.ช. อ่านตรงนี้แล้วยกคำฟ้อง ขอบคุณที่ยกคำฟ้องทั้ง 2 เรื่อง”
แต่ ป.ป.ช. ไม่ยกคำฟ้องในเรื่องที่ 3 ที่ผมสนองรับญัตติของที่ประชุม ท่านประธาน (นายพรเพชร วิชิตชลชัย) มีผู้ประท้วง ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องทำตามข้อบังคับการประชุมว่าด้วยการประชุมร่วมรัฐสภา พ.ศ.2553 มีทั้งหมด 117 ข้อ ผมจำได้หมด ดังนั้นจะพิจารณากฎหมายต้องดำเนินการโดยเฉพาะวาระที่ 2 ตามมาตรา 99 ถ้าอ่าน ดู และฟัง จะรู้และเข้าใจอย่างละเอียดว่า คนทำหน้าที่ประธานไม่มีสิทธิทำอย่างอื่น ต้องทำตามข้อบังคับ หลักนิติธรรมไม่อาจใหญ่กว่าหลักกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ นี่เป็นหัวใจสำคัญ
ดังนั้นผมจำเป็นเหลือเกินที่ต้องเอาหลักฐานนี้มาย่อยให้ท่านทราบ ยาวตั้ง 120 ชั่วโมง แค่ดูก็เครียดแล้ว ผมยังไม่คิดเลยว่าตัวเองรอดมาได้อย่างไร วันนั้นถ้ามีประธาน 3-5 คน ต้องถูกฟ้องอย่างผมหมดทุกคน เพราะไปรับญัตติให้มีการปิดประชุม เพราะมีการโต้แย้งกัน แล้วจะให้ทำอย่างไร ซีดี 4 ชั่วโมงแผ่นนี้ ช่วยให้ได้อ่าน ได้ดู และจะเข้าใจ
ทั้งนี้ในช่วงที่ผมชี้แจงเรื่องการบรรจุระเบียบวาระการประชุม มีคนคัดค้าน ร้องบอกไม่ให้ทำหน้าที่ เกรงว่าจะไม่วางตัวเป็นกลาง เรียกร้องเหลือเกินว่าผมต้องหยุด ทั้ง ๆ ที่บอกว่าไม่ได้ลงนามแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว. ผมไม่ได้อภิปราย ไม่ได้แปรญัตติ ผมดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมข้องที่ 5 ผมทำแค่นั้น แต่ญัตติเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของท่านสมาชิกเขา และคนเหล่านี้ที่อภิปราย เข้าชื่อร้องผม หาว่าผมไม่วางตัวเป็นกลาง ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้ลงชื่อ ไม่ได้ลงมติ ไม่ได้อภิปราย และไม่ได้ใส่ญัตติอะไร ผมก็เอาความเห็นท่านเวลานั้น เอามาสู่เวลานี้
ผมร้องคัดค้านท่าน เพราะหลักกฎหมายสากล หลักนิติธรรม ถึงแม้ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติ แต่ผมจำเป็นต้องร้องค้าน เพื่อจำขอร้อง อำนวยความเป็นธรรมให้ผม วันที่ผมทำหน้าที่ประธาน ยังบอกผมไม่เป็นกลาง เรียกร้องให้ลงจากหน้าที่ ไม่ต้องทำหน้าที่ แต่ไม่เป็นไร ผมทำเพื่อเตือนสติ 16 คน (อดีต ส.ว. ที่ลงชื่อถอดถอน ปัจจุบันเป็น สนช.) ว่าเวลานั้น ท่านกำลังทำอะไรอยู่
“ถ้าดูเทป ถ้ามีจิตสำนึกความเป็นคนอยู่ จะไม่กล่าวหาผมเช่นนั้น อย่าใส่ร้าย อย่าก้าวร้าว ใส่ร้ายคนทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม”
อยากให้ท่านลองอ่านดูในเทป 9 แผ่นที่อยู่ในสำนวน ป.ป.ช. เมื่อไม่นำมาพิจารณา ก็ขออาศัยสิทธิ์ตามข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อที่ 155 จะรับหรือไม่ เพราะผมถูกกล่าวหาข้อเดียวคือรับญัตติปิดประชุม ซึ่งร้ายแรงมาก ที่ไม่สามารถชี้แจงที่ไหน
----
นายวิชา มหาคุณ
ตามที่คุณนิคม ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมโดยยื่นวัตถุพยานสำคัญ เพื่อต้องนำสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อให้มีมติการถอดถอนออกจากตำแหน่ง เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม สนช. ในข้อ 153 และ 155 ที่ประธาน สนช. ได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการประชุมถอดถอนนั้น ต้องยึดถือสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลัก
แต่ ป.ป.ช. มิได้ดำเนินการไต่สวนเพื่อถอดถอนโดยตัวของ ป.ป.ช. เอง แต่ทำหน้าที่แทนสภา ซึ่งแต่เดิมมาก็คือวุฒิสภา ซึ่งอดีตประธานวุฒิสภา เป็นผู้ส่งเรื่องนี้ไปยัง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการถอดถอน โดยให้ดำเนินการไต่สวน และส่งกลับมาว่า สมควรจะชี้มูลความผิดในเรื่องถอดถอนหรือไม่ ดังนั้น ป.ป.ช. จึงมิได้มีอำนาจดำเนินกระบวนการถอดถอนเองแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่ทำตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดเอาไว้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ของ ส.ว.
ในกระบวนการทั้งหลาย จำเป็นต้องทำอย่างเคร่งครัด ทำอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ข้อมูลทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามระเบียบข้อบังคับ และตามหลักนิติธรรม จะทำนอกเหนือจากกระบวนการทั้งหมดหาได้ไม่ เพราะเราเป็นเครื่องมือหนึ่งในรัฐธรรมนูญ และของวุฒิสภาในขณะนั้น แต่บัดนี้ทาง สนช. ได้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงต้องรับภาระเรื่องนี้แทนวุฒิสภา
กระบวนการที่ ป.ป.ช. ดำเนินการต้องยึดเป็นหลัก ตามข้อบังคับที่ 153 แต่หากต้องการเพิ่มเติมพยานหลักฐานได้ต้องตามข้อบังคับที่ 155 ได้ตรวจสำนวนและรายละเอียด อยากเรียนว่า ให้ดูรายงานและสำนวนไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นของคุณนิคม รวมทั้งหมด 110 หน้า เพราะเราไม่ได้มีการปกปิด ซุกซ่อน หรือซ่อนเร้นอะไรเลย ทุกอย่างปรากฏในนี้หมด
คุณนิคมยื่นขอเพิ่มเติมพยานวัตถุสำคัญต่อประธาน สนช. โดยขอนำแผ่นบันทึกวีดิทัศน์การประชุมร่วมของรัฐสภา ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขที่มาของ ส.ว. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาจำนวน 2 แผ่นดังที่ได้แถลงต่อที่ประชุมเมื่อครู่นี้ และต้องการนำมาแสดงต่อ สนช. เพื่อพิจารณา
วัตถุพยานดังกล่าว ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง ได้มีการรวบรวมไว้ในสำนวนเรียบร้อยหมดแล้ว ก่อนที่จะมีการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา ดังปรากฏหลักฐานวัตถุพยาน ไม่ใช่ 9 แผ่น แต่มีรวมทั้งหมด 91 แผ่น ตามที่ได้กล่าวถึงอยู่ในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง และได้มีการยึดหลักว่า จะต้องนำเอาพยานวัตถุทั้ง 91 แผ่นนี้ รวมถึงบันทึกการประชุมร่วมของรัฐสภานำมาประกอบกันด้วย
ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้เริ่มจากเรา แต่ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนโดยถือหลักพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยสำหรับบันทึก 91 แผ่นนี้ ก็สืบเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการไต่สวน และรับเข้าไว้ในการไต่สวนเรียบร้อยหมดแล้ว ฉะนั้นพยานวัตถุที่ผู้ถูกกล่าวหา (นายนิคม) ได้นำมานั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของพยานวัตถุจำนวน 91 แผ่นนี้ แต่ได้ดำเนินการตัดต่อเพื่อให้กระชับขึ้น หรือว่าเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่จะแก้ข้อกล่าวหานั่นเอง
“แต่ถ้าจะถามว่ามันอยู่ในสำนวนแล้วหรือยัง อยู่หมดแล้ว อยู่ในซีดี 91 แผ่นทีได้ชี้แจงต่อ สนช. ไปแล้ว”
วัตถุพยานเหล่านี้ เป็นสิ่งซึ่งสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งให้กับ ป.ป.ช. ภายหลังขอเอกสาร และพยานหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งขอสำเนารายงานการประชุมทั้งหมดมาพิจารณาด้วย หมายความว่า แผ่นบันทึกวีดิทัศน์นี้ ไม่ต้องเปิดดูก็ได้ แต่อ่านได้เลยในสำเนารายงานบันทึกการประชุมทั้งหมด ที่จะต้องนำมาประกอบ เพื่อที่จะดูรายละเอียดว่าใครพูดอะไร เพราะดูจากบันทึกนั้นเราก็พอเห็น แต่มันจะต้องทบทวนว่า แต่ละท่านพูดอะไร มีการโต้แย้งว่าอย่างไร มีการคัดค้านว่าอย่างไร ซึ่งตัวรายงานนั้นเป็นเรื่องของการกล่าวหา ที่เราได้ไต่สวนพยาน-เอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำของคุณนิคม กรณีการปิดอภิปราย แล้วตัดสิทธิ์สมาชิกผู้สงวนคำแปรญัตติในวาระที่ 2 สมัยสามัญทั่วไป เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. ปรากฏครบถ้วนในสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว
“จากแผ่นบันทึกวีดิทัศน์นี้สามารถอ่านดูได้ตามเอกสารประกอบในสำนวน วัตถุพยานก็ดี บันทึกรายงานการประชุมของสภาทั้งหมดที่กราบเรียนมานี้ ในกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจสอบดูแล้ว หลังจากแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามิได้ใช้สิทธิ์ในการตรวจดูแต่อย่างใด คงจะเข้าใจว่ารู้เรื่องเหล่านี้ดีหมดแล้ว”
ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาเองได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจา และด้วยหนังสือ โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อ และมอบเอกสารประกอบคำชี้แจง เพื่อประกอบการพิจารณาของ ป.ป.ช. และขอให้เรียกพยานบุคคลเพื่อไต่สวนเพิ่มเติม เราก็ให้หมดทุกคน ตอนที่ท่านต่อสู้คดี ไม่ได้มีการตัดพยานหรือห้ามไม่ให้นำเอกสารหลักฐานใดมาประกอบทั้งสิ้น
“เพราะในส่วนที่กล่าวอ้างว่า มีแผ่นบันทึกวีดิทัศน์ ต้องการให้สรุปให้เห็นใตแต่ละส่วนที่จะชี้แจงต่อสภาแห่งนี้ ก็เลยตัดต่อให้กระชับขึ้น ซึ่งก็ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หาใช่ประกอบกับการไต่สวน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. มิได้อนุญาตให้เอาเข้ามา เพราะปรากฏครบถ้วนหมดแล้ว อยู่ในซีดี 91 แผ่น อ่านรายละเอียดได้โดยไม่จำเป็นต้องดูด้วยซ้ำไป”
ป.ป.ช. ให้โอกาสอย่างถึงที่สุด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำหน้าที่ของประธาน หรือสมาชิกทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ แต่มีการร้องเรียน มีการกล่าวหา และวุฒิสภาในขณะนั้น มอบหมายให้ทำหน้าที่และยังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว เราเลยต้องวินิจฉัยให้เที่ยงธรรม และถูกต้องที่สุด
อ่านประกอบ : 96:82 สนช.ไม่รับสอบพยาน"นิคม"เพิ่ม ตีตกร้องห้ามอดีต 16 ส.ว.ลงมติถอด