96:82 สนช.ไม่รับสอบพยาน"นิคม"เพิ่ม ตีตกร้องห้ามอดีต 16 ส.ว.ลงมติถอด
“พรเพชร” ลั่นทำการบ้านเยอะ! วินิจฉัยตีตกคำร้อง “นิคม” ให้ สนช. 16 คน ที่เคยลงชื่อถอดถอนสมัยเป็น ส.ว. งดเข้าประชุม-ลงมติถอดถอน มติ สนช. 96-82 ไม่รับสอบพยานเพิ่มเติม - ด้าน "ขุนค้อน" ค้าน รธน.50 ถูกฉีก กำหนดเปิดคดี 8 ม.ค. 57
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระเรื่องด่วน เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวเปิดประชุมว่า นายนิคม ได้ส่งหนังสือร้องมายังประธาน สนช. เพื่อขอให้ อดีต ส.ว. ทั้ง 16 คน เช่น นายตวง อันทะไชย นายสมชาย แสวงการ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ เป็นต้น ที่เคยลงชื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาออกจากตำแหน่งต่อประธานวุฒิสภา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในขณะดำรงตำแหน่ง ส.ว. และสมาชิกรัฐสภา กรณีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ที่มาของ ส.ว. เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 16 คนดังกล่าว มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และทำให้การพิจารณาของ สนช. ไม่เป็นกลาง ตามหลักกฎหมายมหาชน และหลักนิติธรรม จึงมีความประสงค์ขอให้ สนช. ทั้ง 16 รายดังกล่าว งดการเข้าร่วมประชุม งดการอภิปราย และงดการลงมติในที่ประชุม สนช. ตลอดจนทำหน้าที่อื่นใดในเรื่องดังกล่าวของการพิจารณา จึงขอคัดค้านต่อที่ประชุม สนช. เพื่อให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา
หลังจากนั้นนายพรเพชร ได้เปิดให้สมาชิกลงชื่ออภิปรายในที่ประชุม สนช. ประเด็นเฉพาะที่ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องคัดค้านในข้อกฎหมายว่าทั้ง 16 คนเหล่านั้น มีสิทธิพิจารณาถอดถอนหรือไม่ โดยมี สนช. รวม 8 คน เข้าชื่อขออภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่อภิปรายคัดค้านคำร้องของนายนิคม เช่น นายตวง อันทะไชย และนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ เป็นต้น
ต่อมา นายพรเพชร วินิจฉัยกรณีนี้ว่า หลังจากได้ทำการบ้านเรื่องนี้มาเยอะ มีความเห็นว่า ไม่มีปัญหาในทางกฎหมายเกี่ยวกับคำร้องของนายนิคม ที่ สนช. ทั้ง 16 คนจะเข้าร่วมกันพิจารณาและลงมติ เหตุที่ปรึกษารับฟังสมาชิกทั้ง คน เพื่อสร้างกระบวนการให้เกิดความเชื่อมั่นว่า หลักกฎหมายนี้ถูกต้อง คือไม่มีปัญหาที่เกิดขึ้น
"ดังนั้นจึงถือว่าไม่มีปัญหาเกิดขึ้นในวงงานของ สนช. ที่จะใช้มาตรา 5 วรรคสอง เป็นคำวินิจฉัยของตน และเมื่อพิจารณาแล้ว บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในส่วนกระบวนการถอดถอนตามมาตรา 270 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 59 ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่ส่งผลกระทบถึงอำนาจ และสิทธิของ สนช. ที่จะเข้าร่วมประชุมในกระบวนการถอดถอนครั้งนี้ คำร้องของนายนิคม ที่คัดค้านเข้ามาก็ถือว่าให้ตกไป" นายพรเพชร กล่าว
หลังจากนั้น นายพรเพชร ได้พิจารณากำหนดวันเปิดแถลงคดีของ ป.ป.ช. ของนายนิคม เป็นวันที่ 8 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น.
หลังจากนั้น นายพรเพชร ได้ระบุถึงวาระที่นายนิคม ต้องการยื่นคำขอเพิ่มเติมเป็นหลักฐานจำนวน 1 รายการ โดยอ้างเป็นหลักฐานตามข้อบังคับการประชุมข้อ 155 โดยได้เชิญให้ผู้กล่าวหา คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำโดย นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. และนายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. และเชิญผู้ถูกกล่าวหา คือ นายนิคม เข้ามาชี้แจงด้วย
นายนิคม ชี้แจงว่า ขอใช้สิทธิ์ในการยื่นเพิ่มเติมพยานวัตถุ เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณา เป็นซีดีวีดิทัศน์บันทึกการประชุมร่วมกันของรัฐสภา กรณีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. จำนวน 9 แผ่น ความยาวกว่า 120 ชั่วโมง โดยในขั้นพิจารณาของ ป.ป.ช. ที่มีมติออกมา ไม่ปรากฏว่า ได้นำเหตุการณ์ในการพิจารณาดังกล่าวมาวินิจฉัย อาจเป็นด้วยความรีบร้อน หรืออาจเพราะเอกสาร-หลักฐานนั้นยาวมาก และโดยเฉพาะที่ตนไปชี้แจงด้วยตัวเอง พบว่า มีเพียงประธาน ป.ป.ช. คนเดียวที่นั่งฟังตั้งแต่ต้นจนจบ
นายนิคม กล่าวอีกว่า สำหรับซีดีทั้ง 9 แผ่น 120 ชั่วโมงนั้น ตนได้ย่อยลงมาเหลือในสาระสำคัญเพียง 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 แผ่นเท่านั้น โดยในแผ่นซีดีทั้ง 2 แผ่นนี้ได้บรรจุสาระสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาวาระที่ 2 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว. โดยในส่วนของตนนั้นเหลือข้อกล่าวหาเพียงอย่างเดียวคือ การรีบร้อนรีบรับญัตติปิดการประชุม ไม่ปล่อยให้มีการอภิปรายเพิ่มเติม อย่างไรก็ดีในส่วนของตนนั้นไม่ได้ลงชื่อเข้าแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเลย ตนดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อที่ 5 เท่านั้น แต่ญัตติเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของสมาชิก
“แต่คนเหล่านี้ลงชื่อร้องผมว่าผมไม่วางตัวเป็นกลาง ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้ลงชื่อแก้ไข ไม่ได้ลงมติ ไม่ได้อภิปราย และไม่ได้ใส่ญัตติอะไร ผมก็เอาความเห็นท่านเท่านั้น กล่าวหาข้อเดียวรับญัตติปิดประชุม ร้ายแรงมาก ที่ไม่สามารถชี้แจงที่ไหนได้” นายนิคม กล่าว
ขณะที่นายวิชา กล่าวว่า ในส่วนของซีดีวีดิทัศน์บันทึกการประชุมปัญหาดังกล่าวมีทั้งสิ้น 91 แผ่น ไม่ใช่ 9 แผ่น ตามที่นายนิคมกล่าวอ้าง อย่างไรก็ดีในส่วนของวีดิทัศน์เหล่านี้ รวมไปถึงสำเนาเอกสารการประชุมทั้งหมดล้วนปรากฏอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. อยู่แล้ว ดังนั้นการที่นายนิคมตัดต่อลงมาเหลือเพียง 2 แผ่น ก็เพื่อต้องการใช้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในสภาแห่งนี้เท่านั้น ทั้งนี้ผูถูกกล่าวหาเองได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจา และด้วยหนังสือแก่ ป.ป.ช. แล้ว โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และมอบเอกสารประกอบคำชี้แจง พร้อมทั้งขอให้สอบพยานเพิ่มเติมซึ่ง ป.ป.ช. ได้ดำเนินการให้ทั้งหมด แต่นายนิคม มิได้ขอตรวจสอบวีดิทัศน์ทั้ง 91 แผ่น ซึ่งถือเป็นพยานในสำนวนของ ป.ป.ช. เอง
“ในส่วนที่กล่าวอ้างว่ามีแผ่นบันทึกวีดิทัศน์ ต้องการสรุปให้เห็นในแต่ละส่วนที่จะชี้แจงต่อที่สภาแห่งนี้ ก็เลยตัดต่อให้กระชับขึ้น ซึ่งก็ควรจะเป็ฯส่วนหนึ่งของการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หาใช่ประกอบกับการไต่สวน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. มิได้อนุญาตให้นำเข้ามา เพราะปรากฏครบถ้วนแล้ว และสามารถอ่านรายละเอียดได้โดยไม่จำเป็นต้องดูด้วยซ้ำไป” นายวิชา กล่าว
นายพรเพชร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีวีดิทัศน์ 91 แผ่น เกี่ยวกับเหตุการณ์การประชุมที่เป็นปัญหาในคดีนี้ ได้นำเข้าสู่สำนวน ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว และ ป.ป.ช. ได้เปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจสอบวีดิทัศน์ ถือเป็นพยานในสำนวนของ ป.ป.ช. ปัญหาขณะนี้คือนายนิคม ได้อ้างสำนวนวีดิทัศน์ 2 แผ่น เป็นพยานที่ตัดต่อมาจาก 91 แผ่น เพื่อให้เห็นเฉพาะข้อสำคัญเพื่อประสงค์เป็นพยานหลักฐานให้ชัดเจน แต่ว่า ป.ป.ช. ไม่รับสองแผ่นนี้ จึงขออนุญาตต่อที่ประชุมนี้เพื่อขอเพิ่มวัตถุพยานเพิ่มเติม
โดยที่ประชุมมีมติกรณีนายนิคมขอเพิ่มวัตถุพยานเพิ่มเติมในคดีนี้ เห็นด้วย 82 ไม่เห็นด้วย 96 งดออกเสียง 14 จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 192 คน
หลังจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณากำหนดวันแถลงเปิดคดีของนายสมศักดิ์ โดยนายพรเพชร เป็นวันที่ 8 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น. เช่นเดียวกันนายนิคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายสมศักดิ์ ได้ส่งหนังสือคัดค้านกรณี สนช. ไม่มีสิทธิพิจารณา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่มีแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นขอพยานเพิ่มเติมแต่อย่างใด