อนาคตไทยอีก 30 ปีข้างหน้า อะไรคือจุดเปลี่ยนโตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันไทยกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ทรัพยากร ฯลฯ ถึงขนาดหลายฝ่ายลุ้นว่า เราจะก้าวพ้น “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” ไปได้หรือไม่
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สถาบันวิจัยเชิงนโยบายหรือคลังสมอง (Think Tank) ได้วาดภาพอนาคตประเทศไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า เราจะยืนอยู่จุดไหน
คนแรก ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ให้ดูผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของ World Economic Forum:WEF ระบุ ปี 2557 ไทยอยู่อันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ มีพัฒนาที่ดีขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีใต้ อันดับที่ 26 หรือไต้หวัน อันดับที่ 14 พบว่า ไทยอยู่ระดับกลางๆ
แต่ที่สำคัญ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน กำลังไต่อันดับตามหลังไทยขึ้นมา อันดับที่ 34 และ 52 ตามลำดับ
ส่วนเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับใดนั้น ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ บอกว่า เมื่อเปรียบเทียบความสามารถทางเศรษฐกิจระดับอาเซียน ไทยจะติด 1 ใน 3 เสมอ (สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย) เเต่มีเพียง ‘สิงคโปร์’ เท่านั้นที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศด้านนวัตกรรม (กลุ่มที่ 3)
ส่วน ‘มาเลเซีย’ อยู่ระหว่างกลุ่มประเทศที่เปลี่ยนผ่านจากการขับเคลื่อนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปสู่นวัตกรรม ขณะที่ ‘ไทย’ และ ‘อินโดนีเซีย’ อยู่ในกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (กลุ่มที่ 2)
‘ฟิลิปปินส์’ อยู่ในกลุ่มประเทศที่เปลี่ยนผ่านจากการขับเคลื่อนโดยใช้ปัจจัยการผลิตไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
สุดท้าย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม อยู่ในกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนโดยใช้ปัจจัยการผลิต (กลุ่มที่ 1)
ดร.เดือนเด่น ชี้ว่า สาเหตุที่มาเลเซียมีความสามารถทางการแข่งขันแซงหน้าไทย เนื่องมาจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องจับตาประเทศในกลุ่มสุดท้ายให้ดี (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) อาจลุกขึ้นมาวิ่งแซงหน้าไทยได้ในอนาคต
“ไทยต้องเน้นดัชนีเพิ่มประสิทธิภาพ ในด้านการศึกษาระดับสูงและการฝึกทักษะ ประสิทธิภาพตลาดสินค้า ตลาดแรงงาน ตลาดการเงิน ความพร้อมทางเทคโนโลยี และขนาดของตลาด เพื่อก้าวไปสู่การมีศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ”
ทั้งนี้ หากลงรายละเอียดถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของไทยแล้ว นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ยังมีความอ่อนแอด้าน ‘สถาบัน’ หมายถึง การบริหารจัดการของภาครัฐ เรียกว่าเป็นเสาที่ ‘ง่อนแง่น’ มาก และยังประสบปัญหาด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย
ดร.เดือนเด่น ระบุด้วยว่า ไทยมีการลงทุนที่มีผลิตภาพต่ำ เพราะการลงทุนของภาครัฐมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ค่าเฉลี่ยผลิตภาพลดลง และในธุรกิจที่มีการลงทุนสูงในโครงการโครงสร้างพื้นฐานมักขาดการแข่งขัน แต่อยู่ภายใต้การกำกับของภาครัฐ ดังนั้นหากกลไกของภาครัฐไม่จูงใจให้ภาคเอกชนนำพาธุรกิจมีประสิทธิภาพก็จะเกิดปัญหา รวมถึงการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมของภาครัฐก็ไร้ทิศทาง
'รถไฟ-สนามบิน' ตัวอย่างความล้มเหลวจัดการรัฐ
กรณีการลงทุนของรัฐที่มีผลิตภาพต่ำนั้น ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ เสริมตัวอย่าง การใช้ประโยชน์จากสนามบินของรัฐ ยกเว้น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต พบว่า สนามบินขนาดกลางอื่น ๆ มีผลิตภาพต่ำในการใช้ประโยชน์ เพราะประชาชนไม่ค่อยใช้บริการ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการก่อสร้างในสิ่งที่ภาคเอกชนไม่ต้องการ ถือเป็นความฟุ่มเฟือยพอสมควร
สำหรับการใช้ประโยชน์จากรถไฟ ก็เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างซับซ้อน ไทยมีโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ แต่ปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับราง หากแต่เป็นการใช้ประโยชน์จากรางค่อนข้างต่ำ เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไม่สามารถจัดซื้อหัวรถจักรเพื่อมาวิ่งบนรางได้
“กรณีเส้นทางรถไฟสายตะวันออก หลังจากสร้างทางคู่เสร็จเมื่อ 3 ปี ที่ผ่านมา มีการใช้ประโยชน์เพียง 20% ฉะนั้นถ้ามีรถไฟเพิ่มก็จะสามารถใช้งานได้มากขึ้น” ดร.สุเมธ กล่าว และว่า ปัจจุบันที่มีเที่ยวต่อวันไม่มาก เพราะขาดแคลนหัวรถจักร ซึ่งแสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจในการบริหารจัดการลงทุนอย่างเหมาะสม
ส่วนในอีก 30 ปี ข้างหน้า ไทยจะมีการเติบโตอย่างมีพลวัติได้นั้น ดร.เดือนเด่น รับหน้าที่วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ‘รัฐ’ ต้องรู้บทบาทของตนเอง และเล่นบทบาทได้ดี
“ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของรัฐ ไม่ประกอบกิจการแข่งกับเอกชน เน้นการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) และการกระจายอำนาจในการตัดสินใจในการลงทุนให้ท้องถิ่น” เธอ กล่าว และว่าต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการแข่งขัน โดยนำผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง และสุดท้ายต้องสร้างสถาบันที่มีศักยภาพในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
ทั้งนี้ แนวทางในการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมที่ดี ต้องเปิดรับข้อมูลจากเอกชน และรัฐมิได้เป็นผู้เลือกอุตสาหกรรมเอง นอกจากนี้ต้องเลือกส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถเพิ่มผลิตภาพทุนหรือแรงงานหรือปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมได้ การกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมมีกระบวนการที่โปร่งใส ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน มีกระบวนการในการติดตามประเมินผล และสุดท้าย การบริหารจัดการนโยบายควรเป็นลักษณะเครือข่ายมากกว่ารวมศูนย์
รบ.ละเลยสร้างนวัตกรรม นั่งกินเเต่ 'บุญเก่า'
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอีก 30 ปี ข้างหน้า เปรียบเหมือนกำลังเดินไปในที่มืด จึงจำเป็นต้องมีแสงสว่างส่อง โดยใช้ทฤษฎีนำทางและข้อมูลในอดีต
แนวทางจัดการน้ำจากทฤษฎีที่มีอยู่จากประสบการณ์ในประเทศตะวันตก พบว่า การพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐสิ่งแวดล้อม (Environnomy) เพื่อการกินดีอยู่ดีของประชาชน อีกทั้งทฤษฎีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องกำหนดเงื่อนไขว่า จะบริโภค ลงทุน รวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
“การจะสร้างพลวัตการแข่งขันในระยะยาวให้ได้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยงานสำคัญ คือ ความชำนาญเฉพาะอย่างเป็นจักรกลของการเจริญเติบโต และสร้างนวัตกรรม ตลอดจนมีกติกาการใช้ทรัพยากรเพื่อกำกับให้ตลาดสามารถทำงานได้”
ความสำเร็จในการพัฒนาการเกษตรเกิดจากการใช้นโยบายเสรี นักวิชาการเกียรติคุณ มองว่า ภาคการเกษตรที่เราอยู่ดีกินดีทุกวันนี้มีสินค้าส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก และไม่มีปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร เพราะความสำเร็จทางด้านการเกษตร โดยมาจากการใช้นโยบายการค้าเสรี และมีโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนด้านวิจัย มีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบระมัดระวัง ไม่ใช่จ่ายเกินตัว มีนโยบายการค้าไม่บิดเบือนราคา และสนับสนุนการส่งออก จนทำให้ระบบตลาดทำงานได้
ในอนาคตภาคเกษตรจะเผชิญกับความท้าทายด้านนวัตกรรมเริ่มอ่อนแอ มีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเกษตรในระบบมีรายได้ต่อคนต่ำกว่านอกระบบ และประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
ส่วนการเข้าสู่ปฏิวัติเขียวรอบสอง รศ.ดร.นิพนธ์ มองว่าเกิดจากการตัดต่อยีน และปรับปรุงสายพันธุ์พืชใหม่ ๆ ให้สามารถทนแล้ง น้ำท่วม เเละอยู่ในดินเค็มได้ ในระยะเวลาเพียง 2 ปี นั่นแสดงว่า เรากำลังก้าวไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Agricultural Curve
“เวลานี้รัฐบาลต่างประเทศและภาคเอกชนลงทุนกันอย่างมากในด้านการเกษตร โดยส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน เพื่อลงทุนในการวิจัยสร้างนวัตกรรม บริษัทข้ามชาติแห่งเดียวไม่สามารถทำได้ จึงต้องรวมตัวเป็น CropLife จึงจะประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้น
แต่รัฐบาลไทยกำลังนั่งกิน ‘บุญเก่า’ เงินลงทุนการวิจัยลดต่ำลง การส่งเสริมความรู้ให้การเกษตรมีพอควร แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น รัฐต้องเร่งวางกรอบกติกาการลงทุนให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยร่วมกัน โดยทำอย่างไรให้งานวิจัยเดินหน้าไปพร้อมกับการส่งเสริมของภาครัฐ เพื่อสร้างนวัตกรรม"
ปรับระบบภาษี ปัจจัยชี้อนาคตคลังชาติ
ด้านดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในการสร้างวินัยทางการคลังและธรรมาภิบาล ว่า การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพคือการที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอด้วยอัตราการขยายตัวตามศักยภาพซึ่งภาพรวมนโยบายการคลังของไทยที่ผ่านมาหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งรัฐบาลไทยได้ดำเนินการนโยบายขาดดุลเป็นส่วนใหญ่และหลังปี 2551 การขาดดุลที่ตั้งใจเริ่มไม่ทำหน้าที่ต้านวัฏจักรและตรงกันข้ามกลับมีการใช้จ่ายมากเกินควรทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหามากนัก
ส่วนปัญหาภาพรวมสำหรับนโยบายการคลังของไทยนั้นมีสาเหตุมาจาก
1.การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะในส่วนของเงินนอกงบประมาณ
2.ขาดการประเมินความเสี่ยงด้านการคลัง
3.ตั้งงบประมาณแบบยืดหยุ่นให้กับฝ่ายบริหารมากเกินไป
4.กลไกด้านการตรวจสอบในกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติรายจ่ายผูกพันก่อนรัฐสภาจะพิจารณางบประมาณ
5.ภาวะซ่อนเร้นของภาระด้านการคลังโดยถ่ายโอนภารกิจการคลังให้สถาบันการเงินของรัฐแทน
ดังนั้นจากปัญหาดังกล่าว ดร.นณริฏ มองภาพการคลังของไทยในอนาคต 30 ปีข้างหน้าว่า สิ่งที่จะเป็นปัจจัยในการกำหนดภาพการคลังในอนาคตนั่นก็คือภาษี 2 ชนิด คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและฐานภาษีทั้ง 2 ชนิดนี้ เนื่องจากจะเป็นรายได้หลักของประเทศ นอกจากนี้ทางด้านภาคสังคมเองการกระจายอำนาจการคลังสู่ท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
“หากจะสรุปแนวโน้มโครงสร้างภาษีของไทยในอนาคตอาจจะสรุปสั้น ๆ ได้ว่าจะมีความพยายามเพิ่มภาษีจากฐานทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก ที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีการขายจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นภาษีที่จัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”
ผู้สูงอายุไทยเสี่ยง สปส.ขาดสภาพคล่องจ่ายบำนาญ
ส่วนดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงแนวโน้มงบประมาณด้านสวัสดิการชราภาพในอนาคตของไทยว่า รัฐบาลไทยจะมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอนาคตข้างหน้านี้เราจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
นอกจากนี้เมื่อกองทุนประกันสังคมขาดสภาพคล่องในการจ่ายเงินบำนาญก็ยิ่งจะเป็นภาระในอนาคตให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า หรือประมาณปีค.ศ. 2044
ทั้งนี้ จากการศึกษายังพบว่า นโยบายการคลังกับแรงจูงใจทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นในปีที่มีการเลือกตั้งรัฐบาลมักเพิ่ม “รายจ่ายประจำ” เช่น เงินอุดหนุนและลดรายจ่าย เพื่อลงทุนและการใช้จ่ายตามวงจรนี้จะพบในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างยาวนานก็ยังมีความโน้มเอียงที่จะทำงบขาดดุลเช่นเดียวกันและการทำงบขาดดุลคือความเสี่ยงด้านการคลังมากที่สุด
ดร.สมชัย กล่าวถึงกรณีศึกษาเกี่ยวกับการทำงบขาดดุลในไทยพบว่าจากการศึกษาด้วยสมการถดถอยกับการใช้จ่ายภาครัฐไทยได้ข้อสรุปคล้ายกันคือมีการใช้จ่ายมากก่อนการเลือกตั้ง 2 ไตรมาสและการใช้จ่ายมีลักษณะ pro-cyclical ที่จะทำให้ไทยเสี่ยงต่อการทำงบขาดดุล โดยที่รัฐมีความโน้มเอียงที่จะใช้จ่ายมากเกินควร
สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องการทำงบขาดดุลนั้นจะต้องสร้างกฎเหล็กการคลัง ปรับปรุงกระบวนการงบประมาณและแก้ปัญหาแรงจูงใจทางการเมืองด้วยการให้อำนาจองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดูแลภาพรวมของการคลัง
ไม่เปลี่ยนเเปลง! ร.ร.ขนาดเล็กเสี่ยงเจอความเหลื่อมล้ำสูง
สุดท้าย ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงปัญหาของการศึกษาไทยขณะนี้ว่า เป็นระบบการศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ ราคาแพง และเหลื่อมล้ำ แม้นักเรียนไทยจะใช้เวลาในการเรียนมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับสวนทางคือมีผลสัมฤทธิ์ที่ต่ำ
นอกจากนี้แม้จะมีงบประมาณการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพการศึกษาก็ไม่ได้เพิ่มตามอีก ทั้งฐานะของครอบครัวของนักเรียนก็มีผลต่อผลการเรียน ซึ่งจะเห็นชัดเจนว่าเด็กที่มีฐานะทางบ้านค่อนข้างดีจะได้คะแนนสอบในวิชาคณิตศาสตร์ค่อนข้างสูง
สำหรับที่มาของปัญหาการศึกษาไทยคุณภาพต่ำ ดร.ตรีนุช กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะระบบบุคลากรครูมีปัญหาตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกครู คือคัดเลือกครูไม่มีประสิทธิภาพ จัดสรรครูไม่เหมาะสมต่อชั้นเรียน การจัดสรรไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน พัฒนาครูไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน เน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ และการประเมินผลครูไม่เชื่อมโยงกับผลการเรียนของนักเรียน
ส่วนที่มาของปัญหาระบบการศึกษาที่แพง เพราะขาดประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากร ครูไม่ครบชั้น ขาดครูตามสายสาขาวิชา มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก
ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นเกิดจากนักเรียนที่มีฐานทางเศรษฐกิจต่างกัน แต่ได้รับการอุดหนุนรายหัวเท่ากัน จากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร 2553 แสดงให้เห็นว่า 50% ของนักเรียนทั้งหมดเป็นนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนได้เงินอุดหนุนรายหัวเท่ากับนักเรียนที่มีฐานะที่ดีกว่าและนักเรียนที่มีฐานะดีกว่ามีค่าใช้จ่ายการศึกษามากกว่า เช่น การเรียนพิเศษ
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณภาพและความเหลื่อมล้ำภายใน 30 ปี
อะไรจะเกิดขึ้น ดร.ตรีนุช อธิบายว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใน 30 ปี ปัญหาคุณภาพและความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็ก เงินเดือนครูจะเพิ่มขึ้นและงบประมาณการศึกษาที่ทุ่มลงมาก็จะไปอยู่ในการจ่ายค่าตอบแทนเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นการแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยจะต้องให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ออกแบบสูตรคำนวณเงินอุดหนุนรายหัวที่เหมาะสมให้โรงเรียนเป็นผู้เลือกครูผู้สอนเองโดยให้มีการทดสอบการสอนและสัมภาษณ์โดยโรงเรียนนั้นหลังจากผู้สอบบรรจุสามารถสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับชาติมาแล้ว .
ภาพประกอบ:blogs.jssr.co.th