“เอกนัฏ”ยันนิรโทษรอบใหม่ต้องยึดนิติธรรม ยกปมเหมาเข่งชนวนสร้างปัญหา
กปปส. ขอดูรายละเอียดข้อเสนอนิรโทษกรรม “เอนก” ก่อน ชี้ต้องแยกการปรองดองออกจากกัน ผิดคือผิด-ถูกคือถูก ยก พ.ร.บ.เหมาเข่งยุค “ยิ่งลักษณ์” ชนวนสร้างปัญหา ยันไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขัดวัตถุประสงค์ประชาชนแน่
จากกรณีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง ได้เสนอให้มีแนวทางนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ โดยอาจให้เริ่มตั้งแต่ปี 2548-2557 และอาจครอบคลุมแกนนำในการเคลื่อนไหว และทหารดีหรือไม่ แต่อาจยกเว้นกรณีที่ทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิต คดีละเมิด และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อนำไปสู่ความสมาฉันท์ที่แท้จริงนั้น
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าข้อเสนอของนายเอนกเป็นอย่างไร แม้กระทั่งโฉมหน้าของรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เห็นว่าจะออกมาในรูปแบบใด ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นต้องมีการศึกษารายละเอียดกันให้ชัดเสียก่อนว่าจะทำเพื่ออะไร ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าการปรองดองกับนิรโทษกรรมต้องแยกออกจากกัน การปรองดองต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม ทุกคนต้องเคารพกติกา เรื่องนี้สำคัญที่สุด จะปรองดองอย่างไร ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก
นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการปรองดองนั้น มีการศึกษาโดยคณะกรรมการหลายชุด เช่น ชุดของคุณคณิต ณ นคร หรือคุณกิตติพงศ์ กิตติยารักษ์ เป็นต้น และมีข้อเสนอชัดเจนอยู่แล้ว การปรองดองต้องหาข้อเท็จจริง หาคนผิด ซึ่งตรงกับที่คุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ขั้นตอนการปรองดองต้องหาข้อเท็จจริงก่อน การเอาคนผิดมาลงโทษ ส่วนจะยกโทษให้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องในขั้นตอนสุดท้าย ต้องไปว่ากันอีกทีหนึ่ง
“การนิรโทษกรรมไม่ใช่การปรองดอง ก็เห็นกันมาแล้วก่อนหน้านี้ พ.ร.บ. ใช้ชื่อว่านิรโทษกรรม ที่สร้างปัญหา ทำให้มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน เพราะนิรโทษกรรมเป็นเพียงแค่ชื่อ เพราะขัดหลักนิติธรรม มีการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่โกงกินแผ่นดิน ซึ่งถูกศาลตัดสินไปแล้ว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนรายละเอียดของการนิรโทษกรรมของ อ.เอนกนั้น ต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่า มีเหตุผลอย่างไร และกระบวนการเป็นอย่างไร” นายเอกนัฏ กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีนี้อาจเป็นชนวนเหตุสร้างความขัดแย้งระลอกใหม่ในสังคมได้หรือไม่ นายเอกนัฏ กล่าวว่า ถ้าทำตามหลักการก็ไม่มีปัญหา แต่ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา มีการยกเว้นความผิดและคืนทรัพย์สินให้กับนักการเมืองที่ทุจริต ซึ่งตรงนี้ต้องขอดูรายละเอียดในข้อเสนอของนายเอนกเสียก่อน แต่ในส่วนของ กปปส. ยังยืนยันหลักการเดิม คือออกมาต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม และหากมีการออกกฎหมายที่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม ถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประชาชนอย่างแน่นอน
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายเอกนัฏ จาก tnews