7 ปี กองทุนยุติธรรมใช้เงินไป 262ล.-จ่ายประกันตัวมากสุด 85 %
หลังครม.อนุมัติร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม นักวิชาการชี้คนจนเข้าถึงระบบยุติธรรมง่ายขึ้น เหตุมีการกระจายอำนาจไปทุกจังหวัด เชื่อการเพิ่มคณะกรรมการพิจารณาที่หลากหลายช่วยมองมิติคนยากไร้ได้มากขึ้น
หลังจากเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม พร้อมให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมเพื่อดำเนินงานช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ยากไร้ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเต็มที่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า ตามที่ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมที่ผ่านครม.นั้นเป็นการยกระดับจากระเบียบให้เป็นกฎหมาย ซึ่งการตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม" นั้นก็ยังคงอยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรมเช่นเดิม
สำหรับจุดเด่นของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ผศ.ดร. ปกป้อง กล่าวว่า คือการมีคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมพิจารณาจากเดิมจะเป็นคณะกรรมการที่มาจากข้าราชการส่วนเดียว ซึ่งอาจจะทำให้มองมิติได้ในมุมที่จำกัด ดังนั้นการเพิ่มคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมพิจารณาจะให้เกิดมุมมองในหลายมิติมากขึ้นและช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความยุติธรรม
ดร.ปกป้อง กล่าวด้วยว่า จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือจะมีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับจังหวัดเพื่อคอยพิจารณา เนื่องจากปัญหาทุกวันนี้คือคนยากไร้เข้าถึงความยุติธรรมได้ยาก เพราะกว่าจะเสนอเรื่องเข้ามาที่กรุงเทพฯ บางครั้งก็ไม่ทันการ ดังนั้นการที่กระจายอำนาจไปทุกจังหวัดจะทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบยุติธรรมได้เลยและสามารถที่จะอนุมัติเงินในการช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น นี่เป็นสิ่งใหม่ๆที่อยู่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
“พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่ผ่านครม.ครั้งนี้จึงเป็นการปฏิรูประบบยุติธรรมที่จะทำให้ระบบในการดำเนินงานมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะไม่ยึดติดระบบเก่าๆ ประชาชนผู้ยากไร้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปกองทุนที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวอิศรา ได้รวบรวมรายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ www.rlpd.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยผลการดำเนินงานของกองทุนยุติธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2557 พบว่า กองทุนฯ จ่ายเงินช่วยเหลือในภาพรวมกว่า 262 ล้านบาท โดยแยกตามลำดับ ได้แก่
- ค่าประกันตัวมากที่สุด 85.72% คิดเป็นเงินกว่า 224 ล้านบาท
- ค่าทนาย 7.16% คิดเป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท
- ค่าธรรมเนียมศาล 3.92% คิดเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ 2.17% คิดเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท
- ตรวจพิสูจน์ 0.69% คิดเป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท
- คุ้มครองพยาน 0.17% คิดเป็นเงินกว่า 4 แสนบาท
- ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากความผิดทางอาญา 0.09% คิดเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท
และ ค่าพาหนะ 0.08% คิดเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม
กองทุนยุติธรรม เล็งหาแหล่งทุนใหม่ช่วยคดีคนจนได้ประกันตัวชั่วคราว