‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’:วาดภาพอนาคต ศก.ไทย 30 ปีข้างหน้า 'เกษตรทันสมัย' เวิร์คสุด
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะคลังสมอง (think tank) หนึ่งของประเทศ จัดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2557 เรื่อง ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า:สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งการก่อตั้ง ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
โดยมี ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดผู้ประเด็นในหัวข้อ สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ:ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า
ดร.สมเกียรติ มองไปในอนาคต 30 ปีข้างหน้า ที่โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งจะส่งแรงกดดันต่อความต้องการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ กระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาเกษตรและท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับทรัพยากรธรรมชาติมาก เมื่อถึงวันนั้นจะมีการตกลงเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มงวดกว่าทุกครั้ง
นอกจากนี้โลกจะเกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ ในลักษณะ mega-FTA block ซึ่งจะรวมเขตการค้าย่อย ๆ เข้าด้วยกัน อาจทำหน้าที่แทนองค์การการค้าโลก (World Trade Organization:WTO) และอาจไม่ใช่การค้าเสรีเต็มที่ แต่เป็นการค้าเสรีเฉพาะกลุ่ม FTA ซึ่งสถานะของไทยในปัจจุบันยังไม่เข้าเป็นสมาชิก 2 ใน 3 ของกลุ่ม FTA ขนาดใหญ่ในโลกนี้เลย
สำหรับประเทศเติบโตเร็วในกลุ่มรายได้นั้น
- ประเทศร่ำรวย คือ เกาหลีใต้จะเป็นดาวรุ่งดวงต่อไป
-ประเทศยากจน คือ ไนจีเรีย
แต่คำถาม คือ ประเทศระดับรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะไทย เฉลี่ย 5,000 –10,000 ดอลล่าร์/หัว ประเทศใดจะเป็นดาวรุ่ง และไทยจะมีอนาคตเป็นอย่างไร ?
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ปี 2568 โดยจะมีประชากรราว 20% ที่มีอายุเกิน 60 ปี และในปี 2588 ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 36% ที่สำคัญ ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 63.8 ล้านคน และขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง
กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย
ข้อสังเกต คือ ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้ จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนไทยที่ ‘รวยก่อนแก่’ ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปี 2588 และในปีเดียวกันจะมีจำนวนผู้สูงอายุเท่ากับเด็ก
“ถ้าปล่อยให้การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ประสบความสำเร็จ คนไทยจะเดือดร้อนมาก”
พร้อมกันนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ ได้ยกตัวอย่าง อีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมเสี่ยงภาวะล้มละลาย เนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงต้องเร่งปฏิรูป
สำหรับประเทศไทย ปี 2557 ดร.สมเกียรติ ระบุว่า คนไทยมีรายได้ 5,480 ดอล์ล่าร์ /คน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (2009-2013) 4.3% ต่อปี ปัจจุบันสาขาอุตสาหกรรมการผลิตมีประสิทธิภาพสูงกว่าสาขาเกษตร-บริการ นอกจากนี้มีแรงงงานในระบบ 40% นอกระบบ 60% และมีดัชนีความเหลื่อมล้ำ 0.39 ซึ่งค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งความจริงมีเฉพาะประเทศแถบละตินอเมริกาเท่านั้น ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงขนาดนี้
“ในอดีตไทยเคยพัฒนาประเทศจากการใช้ฐานทรัพยากรผ่านอุตสาหกรรม โดยไม่พัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง แต่กลับเน้นการส่งออกและใช้แรงงานต่ำ เพื่อให้สินค้าส่งออกแข่งขันได้ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้รับ คือ กำลังซื้อของคนในประเทศต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำสูง และเกิดแรงกดดันกระจายรายได้อย่าง ‘นโยบายประชานิยม’ ตามมา”
ปัจจุบันไทยจึงกำลังติดกับดักรายได้ปานกลางและการเจริญเติบโตของประเทศก็ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า เราเคยพึ่งพาการเติบโตบนฐานทรัพยากรในอดีต แต่ปัจจุบันควรปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาโครงข่ายประสิทธิภาพ และใช้เวลาให้น้อยที่สุดในการก้าวไปสู่การพัฒนาฐานนวัตกรรม
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนในอนาคตจะยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยภายนอก คือ สภาพเศรษฐกิจโลกที่ไม่เอื้ออำนวยและโครงสร้างประชากรของไทยที่ไม่เหมือนเดิมต่อไป
ในด้านผลิตภาพแรงงานต่าง ๆ ของไทย จะเห็นว่ามีผลิตภาพสูงที่สุด ประมาณ 2 เท่าของสาขาบริการ และสูงเกือบ 10 เท่า ของสาขาเกษตร ฉะนั้นหากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป วิธีหนึ่ง คือ การเคลื่อนย้ายคนออกจากสาขาที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ผลิตภาพสูงกว่า
“ต้องตระหนักว่า แม้สาขาอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดก็ยังมีมูลค่าเพิ่มต่อหัวต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฉะนั้น จำเป็นต้องยกผลิตภาพทุกสาขาการผลิตไปพร้อมกันด้วย”
อนาคต ศก.ไทย 30 ปี ข้างหน้า 'เกษตรทันสมัย' เวิร์คสุด
ดร.สมเกียรติ จึงพยายามวาดภาพอนาคตที่เป็นไปได้ 3 สถานการณ์ ในอีก 30 ปีข้างหน้า ได้แก่ ประเทศไทยไปเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมก้าวหน้า และเกษตรทันสมัย-บริการฐานความรู้ ซึ่งแต่ละภาพสถานการณ์จะมีผลลัพธ์การพัฒนาที่แตกต่างกัน และต้องการตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา และบทบาทภาครัฐที่ไม่เหมือนกัน
1.ประเทศไทยไปเรื่อย ๆ
ถ้าพัฒนาแบบนี้ต่อไป ในอีก 30 ปีข้างหน้า ไทยจะมีรายได้ 17,016 ดอลลาร์/คน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3.55% ต่อปี ทั้งนี้ จะสามารถก้าวพ้นรายได้ปานกลางในปี 2579 ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ
พูดง่าย ๆ คือ คนไทยจะ ‘แก่ก่อนรวย’ และมีเงินออมเพียงพอหรือไม่ ส่วนความเหลื่อมล้ำในสังคมจะดีขึ้นเล็กน้อย จากแรงกดดันให้มีการกระจายรายได้
“ไทยจะก้าวพ้นรายได้ปานกลาง ปี 2579 เป็นการมองโลกในแง่ดีมากเกินไป เพราะยังไม่ได้พิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ประกอบ อาทิ หากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง จะเข้าสู่จุดพ้นรายได้ปานกลางออกไปอีก 2 ปี หรือหากมีภาระการคลังด้านการรักษาพยาบาล จะช้าไปอีก 2 ปี
นอกจากนี้การใช้งบประมาณไปกับนโยบายประชานิยม ปีละ 1 แสนล้านบาท จะช้าไปอีก 4 ปี เกิดวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยน จะช้าไปอีก 2.5 ปี และเกิดวิกฤตธนาคาร จะช้าไป 4 ปี สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเกิดวิกฤตทางการเมืองจะทำให้ไม่สามารถประมาณการได้เลย”
2.อุตสาหกรรมก้าวหน้า
ถ้าพัฒนาแบบนี้ต่อไปในอีก 30 ปี ข้างหน้า ไทยจะมีรายได้ 23,736 ดอลลาร์/คน ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.59% ซึ่งมีอุตสาหกรรมการผลิตสูงถึง 63.8% และสามารถก้าวพ้นรายได้ปานกลาง ในปี 2571 หลังจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ
โดยจะมีแรงงานในระบบ 67.2% แต่ความเหลื่อมล้ำอาจสูงขึ้น เพราะการพัฒนาจะให้ผลตอบแทนรายได้ตกกับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวเพิ่มขึ้น
ประธานทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า รัฐต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพที่มีคุณภาพสูง พัฒนาช่างเทคนิคและวิศวกรที่มีทักษะเฉพาะทาง และรณรงค์ให้เอกชนยกระดับผลิตภาพด้วยการผลิตแบบลีน มีข้อสูญเสียน้อยที่สุด จูงใจให้เกิดการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะการออกแบบและสร้างแบรนด์ รวมถึงโยกย้ายกิจกรรมการผลิตคุณภาพเพิ่มต่ำ ดังเช่น การตัดเย็บเสื้อผ้า ตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน
สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรกระทำ ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ไม่ควรดึงดูดแรงงานไร้ทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานในไทย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมขาดแรงจูงใจในการปรับตัว และต้องระวังการกระจายรายได้อาจแย่ลง ตลอดจนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ต่อคนจะเพิ่มเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน
3.เกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้
ถ้าพัฒนาแบบนี้ต่อไปในอีก 30 ปี ข้างหน้า ไทยจะมีรายได้ 28,402 ดอลลาร์/คน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.21% ต่อปี ซึ่งจะมีสาขาบริการใหญ่ 60% ของจีดีพี เกินกว่าครึ่งเรียกว่า บริการมูลค่าเพิ่มสูง ส่วนที่เหลือ คือ บริการดั้งเดิม โดยจะก้าวพ้นรายได้ปานกลาง ในปี 2571
โดยมีแรงงานในระบบสูงขึ้น 74% และความเหลื่อมล้ำลดลงเหลือ 0.33% เพราะในสาขาบริการผู้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ แรงงาน ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะลดลงตามด้วย
ประธานทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า ต้องปรับเปลี่ยนภาคเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรทันสมัย และเกษตรประณีต ด้วยการบริหารจัดการแหล่งน้ำและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดระบบอาหารปลอดภัย วิจัยพัฒนา สร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart farmer) และควบคุมการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ให้อยู่ในความเหมาะสม
สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ ดร.สมเกียรติ ระบุ คือ ต้องไม่อุดหนุนราคาสินค้าเกษตรในระดับสูงเกินไป และจูงใจให้เกิดการผลิตเยอะ ๆ โดยไม่เน้นคุณภาพ ส่วนข้อควรระวัง คือ การมีระบบเกษตรพันธะสัญญา อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ฉะนั้นหากไม่มีความเป็นธรรม ความยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสาขาบริการว่า ต้องขยับจากบริการดั้งเดิม ซึ่งใช้ทักษะไม่สูง และเทคโนโลยีไม่มาก สู่บริการสมัยใหม่และสังคมที่มีเทคโนโลยีและไอซีที เพื่อให้การบริการมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น การเขียนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ การพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นต้น
ด้านข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต้องพัฒนาทักษะแรงงาน เพราะเป็นหัวใจของสาขาบริการที่จะมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเน้นทักษะทั่วไปคุณภาพสูง และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีให้มีประสิทธิภาพ เปิดเสรีสาขาบริการ โดยเฉพาะบริการสาธารณูปโภคและบริการภาคธุรกิจ รวมถึงกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ
ส่วนสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำ ดร.สมเกียรติ ระบุ คือ การคุ้มครองธุรกิจภาคบริการที่ผูกขาด และสิ่งที่ควรระวัง การปรับเปลี่ยนสาขาบริการนั้นไม่ได้รับประกันโดยอัตโนมัติว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลง
“สหรัฐฯ เป็นตัวอย่างสำคัญ แม้จะมีเศรษฐกิจบริการขนาดใหญ่ แต่แรงงานส่วนใหญ่ใช้เวลากับการฟิตแฮมเบอร์เกอร์ สิ่งนี้ก็จะไม่ทำให้เศรษฐกิจเกิดความเท่าเทียมได้” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และเห็นว่า หัวใจสำคัญลดความเหลื่อมล้ำได้ คือ รัฐต้องลงทุนด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงอุดมศึกษาให้มีคุณภาพสูง
เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยใน 3 สถานการณ์ อีก 30 ปีข้างหน้า พบการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ น่าจะเป็นภาพที่เป็นไปได้ที่สุด
“สังคมจะมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต และการเปลี่ยนผ่านทุกสถานการณ์จะมีผู้ชนะและแพ้จากการพัฒนา ผลได้ผลเสียอาจมีความขัดแย้งได้ ดังนั้น หากการบริการไม่ดี รัฐที่รวมศูนย์อำนาจแยกส่วน ไม่เปิดกว้าง ไร้วินัย จะไม่สามารถแก้ไขการระงับความขัดแย้งได้ แต่หากต้องการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นก็ต้องมีรัฐที่เปิดกว้าง มีวินัย กระจายอำนาจ โดยที่สามารถประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:nbtcpolicywatch.org