'จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช' ชงปฏิรูปอุตฯ 3 ด้าน รองรับประชาคมอาเซียน
รมว.อุตสาหกรรม ชี้การปฏิรูปอุตสาหกรรมต้องทำ 3 ส่วน การประเมินศักยภาพ สร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาความมั่นคงของอุตสาหกรรม แนะเร่งสร้างนวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยี ขณะที่ภาครัฐเตรียมปรับกฎหมาย การคมนาคม รองรับ AEC
เร็ว ๆ นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดงาน ปฏิรูปอุตสาหกรรม ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย โดยมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังปฏิรูปอุตสาหกรรม
นายจักรมณฑ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยต้องปรับเเก้ 3 ด้าน ได้เเก่ 1.วุฒิภาวะของอุตสาหกรรม หมายถึงการประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรม เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ว่าไทยมีวุฒิภาวะอยู่ในระดับวัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือชรามาก
2.ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรม มีจุดเชื่อมต่ออื่น ๆ ที่เข้มแข็งหรือไม่ เพราะเหตุว่าอุตสาหกรรมไม่สามารถตั้งอยู่โดดเดี่ยวเป็นบริษัทเดียวได้
3.ความยั่งยืนของอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาความมั่นคงของอุตสาหกรรมนั้น ๆเอง
โดยในเเต่ละหัวข้อนั้น รมว.อุตสาหกรรม ขยายว่า ที่ผ่านมา 'วุฒิภาวะ' ในอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นนโยบายเเห่งรัฐอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีการปรับเปลี่ยนมากนัก เเต่จะมีรายละเอียดเสริมเข้ามา ยกตัวอย่าง การนำนโยบายรัฐวิสาหกิจที่ใช้มาตลอด 50 ปี ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน นับตั้งเเต่มีเเผนพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ ฉบับที่ 1
"ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลใดหรือมีการปฏิวัติต่างก็ยังใช้นโยบายรัฐวิสาหกิจแบบเดิม ถือเป็นเรื่องดี แต่ก็มีบางนโยบายที่เป็นนโยบายแปลกประหลาดทำให้รัฐเสียงบประมาณไปมหาศาล" นายจักรมณฑ์ กล่าว เเละยกตัวอย่างนโยบายจำนำข้าวขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท หรือนโยบายรถคันแรก ซึ่งนี่ไม่ใช่นโยบายเสรี แต่เป็นการแทรกแซง จนทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างมาก
รมว.อุตสาหกรรม ยังกล่าวถึง การอำนวยความสะดวกพื้นฐานในประเทศมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากอดีตมาก เเม้จะมีข้อติดขัดบ้าง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐมีเเผนลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องขนส่งต่าง ๆ สร้างส่วนต่อขยายท่าเรือเเหลมฉบัง เเละท่าเรืออื่น ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ รองรับการเปิดประชาคมอาเซียน ในการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศคู่ค้า
ไทยจึงมีการพัฒนาในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้น 'มาเลเซีย' ที่เหนือกว่าไทยเพียงเล็กน้อย และ 'สิงคโปร์' ที่มีความเข้มแข็งในด้านนี้อยู่แล้ว
ส่วนด้านกฎหมายเเละกฎระเบียบต่าง ๆ นายจักรมณฑ์ ยกตัวอย่าง การให้บริการ ศุลกากร ท่าเรือ จะต้องแก้ไขในกระบวนการทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่กฎระเบียบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนกระบวนการเข้าร่วมด้วย ถึงจะทำให้มีระบบจัดการที่ดีขึ้น
รมว.อุตสาหกรรม ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมก้าวหน้าและยั่งยืนได้จะมีองค์ประกอบที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ นวัตกรรม ที่บริษัทต่าง ๆ ต้องมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เข้าเสริม ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนเดลของสินค้าเพียงอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นแล้วจะไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่น ๆ ได้
อีกทั้งหาแนวทางในการจัดการกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นความนิยมของโลก ในเรื่องการจัดการปัญหาขยะจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในประเทศไทยมีขยะอุตสาหกรรมกว่า 30 ล้านตัน/ปี และเป็นกากขยะมีพิษ 3 ล้านตัน/ปี แต่สามารถจัดการได้เพียง 1 ใน 3 ของขยะมีพิษทั้งหมด นั้นคือ 1 ล้านตัน/ปี
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าภายในปีงบประมาณ 2557 จะสามารถจัดการกับขยะพิษเพิ่มขึ้นอีกจาก 1 ล้านตัน/ปี เป็น 1.5 ล้านตัน/ปี
“ถ้าไทยไม่เตรียมพื้นที่ไว้เพื่อจัดการขยะ ประเทศไทยจะมีกากขยะซุกซ่อนตามที่ต่าง ๆ เต็มไปหมด เหมือนกับกัมพูชา เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของอุตสาหกรรมในไทย" นายจักรมณฑ์ กล่าว เเละเชื่อว่าในอนาคตจะเกิดการต่อต้านในประเทศที่จัดการส่วนนี้ไม่ได้ จนลุกลามไปกระทบสินค้าส่งออกอย่างอื่น ฉะนั้นต้องเร่งทำความเข้าใจและปรับทัศนคติให้อยู่ร่วมกันได้
สุดท้าย รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ยังประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ว่า อัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 % ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 6% เนื่องจากการเมืองภายในประเทศเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2558 ทำให้คู่ค้ามีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน
อีกทั้ง เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะปรับตัวดีขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากในหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน อาทิ ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลง โครงการของรัฐได้รับการอนุมัติดำเนินการต่อ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนของไทย .