ทีดีอาร์ไอห่วงไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ทีดีอาร์ไอห่วงไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง แนะพัฒนาเกษตรทันสมัย-ประณีต ชูภาคบริการฐานความรู้ เชื่อจีดีพีโต 5% ในอีก 30 ปีข้างหน้า มีเงินรองรับ
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนา ‘ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า:สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ทีดีอาร์ไอ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอถือเป็นคลังสมองของชาติที่สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ โดยดำเนินการวิจัยอย่างเป็นอิสระ ไม่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาล
ทั้งนี้ บทเรียนประการสำคัญที่ได้จากการทบทวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา คือ ไทยสามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการสนับสนุนจากต่างประเทศพัฒนาด้านการผลิต เน้นการส่งออกตลาดโลก จนสามารถสร้างการเติบโตตั้งแต่ปี 2504-2539 เฉลี่ย 7.6% ของจีดีพี
ประธานสภาทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า กระทั่งปี 2540 อัตราการเจริญเติบโตของไทยลดลงอย่างชัดเจน จนถึงปี 2556 เฉลี่ย 3% ของจีดีพี และในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยที่เคยเคลื่อนไหวกลับขยายตัวไม่ได้ อีกทั้ง ลดลงตั้งแต่ปี 2556 เรื่อยมาถึงกันยายน ปี 2557
พร้อมกันนี้ ได้แสดงความเป็นห่วงว่าการเกิดขึ้นในขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น รัฐจะมีภาระดูแลประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ฐานการเก็บภาษีอากรมีขนาดเล็กเพียง 17% สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายต้องเร่งพิจารณาต่อไปในอีก 30 ปี ข้างหน้า
ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ หากยังพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวพันจากประเทศรายได้ปานกลางไม่ได้ จะประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้ผู้สูงอายุและคนยากจนจะเดือดร้อน ฉะนั้น แนวทางที่ควรทำ คือ พัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เป็นเกษตรทันสมัยและเกษตรประณีต ตลอดจนถึงพัฒนาภาคบริการฐานความรู้ เพื่อยกระดับผลิตภาพและสาขาการผลิตภาคบริการดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเกิน 5% ของจีดีพี มีรายได้สูงรองรับสังคมผู้สูงอายุได้ ในอีก 30 ปี ข้างหน้า
ส่วนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยนั้น ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ควรทำต่อไป แต่ต้องลดสัดส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยจากฐานทรัพยากรให้มากขึ้น เพราะการเน้นอุตสาหกรรมส่งออกเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกเกิดชะลอตัว ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ ดังนั้นจะป้องกันวิกฤตดังกล่าว จำเป็นต้องย้ายภาคการผลิตและปรับโครงสร้างมาสู่ภาคบริการ และปรับทิศทางให้เป็นไปตามตลาดของโลกมากขึ้น
ขณะที่ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันว่า ไทยมีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจมหภาค จากการบริหารงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังพบปัญหาด้านปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับทุนและแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำ ดังนั้นการจะก้าวพ้นกับดักดังกล่าวจำเป็นต้องทำให้มีผลิตภาพเพิ่มสูงกว่านี้
โดยวิธีการต้องใช้ทุนที่มีคุณภาพ เพราะที่ผ่านมาไทยพัฒนาเชิงปริมาณมาก ซึ่งไม่สามารถเติบโตในลักษณะนี้ได้อีกแล้ว เพราะแรงงานน้อยลง ทุนขาดประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องสร้างทุนและแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนสำคัญ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวว่า สถาบันภาครัฐ จึงถือมีความสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่ปรากฏว่าไทยกำลังมีปัญหา ฉะนั้นรัฐต้องลงมาเลือกเล่น 3 บทบาท คือ 1.บทบาทผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสนอให้ร่วมทุนกับภาคเอกชนมากกว่าลงทุนฝ่ายเดียว เพราะการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจขณะนี้มีปัญหามาก
2.บทบาทผู้กำกับดูแลเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจไม่ได้สร้างแรงจูงใจในการประหยัดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.บทบาทกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศให้ชัดเจนจะเดินไปในทิศทางใด มิเช่นนั้นภาคเอกชนจะลงทุนสะเปะสะปะได้ .