ปมผู้ก่อการร้ายอินเดียซุกไทย ปัญหางานความมั่นคงไทยในกระแสไอเอส
ช่วงปลายเดือน ต.ค.ต่อเนื่องถึงต้นเดือน พ.ย.57 มีข่าวน่าสนใจที่ทำให้หลายคนหนาวๆ ร้อนๆ
นั่นก็คือข่าวทางการอินเดียประสานขอให้ไทยช่วยติดตามจับกุม นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา (Jaktar Singh Tara) ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อการร้ายชาวอินเดีย เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ "คาร์บอมบ์" ลอบสังหารบุคคลระดับรัฐมนตรีของอินเดีย
ตามข่าวของทางการอินเดียระบุว่า นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา เคยถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำความมั่นคงสูงในอินเดีย แต่ภายหลังได้ลอบขุดอุโมงค์หลบหนีออกมาได้ จากการช่วยเหลือของ ISI ปากีสถาน
จริงๆ แล้วฝ่ายความมั่นคงอินเดียประสานทางการไทยในทางลับ แต่ข่าวนี้ดูเหมือนจะหลุดสู่สาธารณะจากการส่งข้อความแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยใช้แอพพลเคชั่น "ไลน์" เพราะมีการตั้งสมมติฐานว่าผู้ต้องหาชาวอินเดียรายนี้อาจกบดานอยู่ในประเทศไทย แล้วหนีลงใต้ เพื่อข้ามแดนไปมาเลเซีย แล้วบินกลับปากีสถานอีกทีหนึ่ง
ข่าวนี้ฮือฮามากในช่วงแรกๆ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1.เมื่อมีการแจ้งเตือนอย่างกว้างขวาง แสดงว่าเรื่องนี้มีมูล
2.ผู้ต้องหาเกี่ยวโยงกับเหตุคาร์บอมบ์ในอินเดีย หลายคนจึงให้น้ำหนักการเดินทางลงใต้ เพราะมีผู้ก่อความไม่สงบใช้คาร์บอมบ์ในการก่อเหตุรุนแรงเหมือนกัน
3.หลายคนเข้าใจว่า ISI ปากีสถานในข้อความแจ้งเตือน หมายถึงเครือข่ายของ "กลุ่มไอซิส" หรือ "กลุ่มรัฐอิสลาม" ที่กำลังรุกรบอย่างฮึกเหิมในอิรักและซีเรีย ถึงขั้นต่อกรกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐและชาติพันธมิตรได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ISI ที่ระบุในข่าวแจ้งเตือนคือชื่อหน่วยสืบราชการลับของปากีสถาน หรือ Inter-Services Intelligence
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาข่าวนี้ก็ค่อยๆ เงียบไป เพราะหน่วยงานความมั่นคงทยอยออกมาให้ข้อมูล ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ต้นตอข่าวแจ้งเตือนที่หลุดสู่สาธารณะ ตามด้วยกองทัพบก และ กอ.รมน.ส่วนกลาง โดยทุกหน่วยยืนยันตรงกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ทางการอินเดียประสานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นการประสานไปยังหลายประเทศในภูมิภาค ไม่เฉพาะประเทศไทย
ที่สำคัญทุกหน่วยเน้นย้ำว่ายังไม่พบหลักฐานว่าผู้ต้องหาที่ทางการอินเดียต้องการตัวรายนี้เดินทางเข้าประเทศไทย หรือไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด
งานนี้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมทั้ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ถึงขั้นออกมาให้ความมั่นใจด้วยตนเอง
ทั้งนี้ เมื่อขุดค้นข้อมูลในสื่อต่างประเทศ ก็พบประเด็นสอดคล้องกัน เพราะคดีที่ นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา ก่อขึ้นนั้นเป็นเรื่องเก่าเกือบ 20 ปีแล้ว
โดยข้อมูลที่พบคือ นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีลอบสังหาร นายเบียนท์ ซิงห์ มุขมนตรีรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2538 โดยใช้ระเบิดพลีชีพ เพื่อล้างแค้นการกวาดล้างสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ ถือเป็นคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองของอินเดียครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
กลุ่มบับบาร์ คาลซา (Babbar Khalsa) ที่รัฐบาลอินเดียถือเป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเป็นขบวนการขัดขืนของชาวซิกข์ ออกมาอ้างว่าเป็นผู้ลงมือ
ต่อมา นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา ถูกจับกุมพร้อมผู้ต้องหาคนสำคัญอีก 2 คน ทว่าระหว่างถูกจำคุกรอการพิจารณาคดี เขาได้หลบหนีออกจากเรือนจำบูเรล ในเมืองจัณฑีครห์ เมืองหลวงของรัฐปัญจาบ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเรือนจำที่มีการอารักขาแน่นหนาที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยการขุดอุโมงค์ยาว 29 เมตร จากห้องขังออกสู่นอกกำแพงเรือนจำ เมื่อปี 2547
กระนั้นก็ตาม กรณีของ นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา กลับยังไม่จบ แม้ข้อมูลทุกแหล่งจะบ่งชี้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า และทางการอินเดียประสานมานานแล้วก็ตาม เพราะจู่ๆ ฝ่ายตำรวจก็ออกมาให้ข้อมูลใหม่ว่า นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา ลอบเดินทางเข้าประเทศไทยจริง
ผู้ให้ข้อมูลนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รรท.ผบช.สตม. : ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี โดยระบุว่า นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยใช้พาสปอร์ตจริง แต่ในพาสปอร์ตใช้ชื่ออื่น ไม่ใช่ชื่อ จักตาร์ ซิงห์ ทารา แต่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลอินเดียว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน
ผู้ต้องหารายนี้ได้แจ้งสถานที่พักเป็นเท็จ คาดว่ายังกบดานอยู่ในประเทศไทย ขณะที่ผู้ที่ให้การช่วยเหลือนำตัวเข้ามาในประเทศ ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปหมดแล้ว
ขณะที่ พล.ต.ต.วราวุธ ทวีชัยการ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สตม. ให้ข้อมูลทำนองเดียวกันว่า ผู้ต้องหารายนี้เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อช่วงเดือน ก.ย. โดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว และแจ้งความประสงค์ว่าเข้ามาเพื่อพักอาศัยและท่องเที่ยว โดยพำนักอยู่ย่านลาดกระบัง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบ กลับไม่พบตัว
จากการตรวจสอบเชิงลึกของ "ทีมข่าวอาชญากรรม คมชัดลึก" ได้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลอินเดียประสานทางการไทยให้ช่วยจับกุม นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา และขอตัวตามช่องทางสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยอินเดียแจ้งข้อหา นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา รวม 6 ข้อหา เช่น ฆาตกรรม ครอบครองอาวุธโดยผิดกฎหมาย กระทำการก่อการร้าย เป็นต้น
ทั้งนี้ ศาลอาญาไทยได้ออกหมายจับ เลขที่ 1193/2557 ให้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาชาวอินเดียรายนี้ เพราะเชื่อว่ายังมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 57 เขาเดินทางเข้าออกประเทศไทยถึง 5 ครั้ง โดยใช้พาสปอร์ตปากีสถาน แต่ใช้ชื่ออื่น ไม่ใช่ จักตาร์ ซิงห์ ทารา ครั้งล่าสุดเข้ามาเมื่อวันที่ 7 ก.ย. และยังไม่พบหลักฐานการเดินทางออกนอกประเทศ
สาเหตุที่ฝ่ายตำรวจมีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีนี้มากเป็นพิเศษ เพราะรัฐบาลอินเดียใช้ช่องทาง "อินเตอร์โพล" หรือ องค์กรตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นสมาชิก ในการประสานส่งข้อมูล
จากความสับสนดังกล่าว ทำให้ล่าสุดฝ่ายความมั่นคงไทยได้ประสานข้อมูลภายในระหว่างกัน และสรุปกรณีของ นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา ได้ดังนี้
1.ตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีมาจากอินเดียและเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นผู้ต้องหาตัวจริงที่ลอบสังหารมุขมนตรีรัฐปัญจาบเมื่อปี 2538
2.ผู้ต้องหาที่ทางการอินเดียต้องการตัวรายนี้ เดินทางเข้าประเทศไทยหลายครั้งจริง โดยใช้พาสปอร์ตปากีสถาน
3.การเดินทางเข้าไทยครั้งหลังสุดเมื่อ 7 ก.ย.57 ยังไม่เดินทางออกจากไทย
4.การออกหมายจับของศาลไทย เป็นไปตามข้อตกลงกับอินเตอร์โพล
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลและข้อสังเกตอีกหลายประการที่ฝ่ายความมั่นคงจำเป็นต้องระมัดระวังในการดำเนินการเรื่องนี้ เช่น
O ทางการอินเดียอ้างว่าผู้ต้องหาที่ต้องการตัว และระบุว่าเป็นคนเดียวกับ นายจักตาร์ ซิงห์ ทารา นั้นเป็นคนอินเดียแต่ถือพาสปอร์ตปากีสถาน อย่างไรก็ตาม อินเดียไม่มีหลักฐานอื่นยืนยันว่าผู้ต้องหารายนี้เป็นคนอินเดียจริงๆ นอกจากมีหมายจับของตำรวจสากล และส่งให้ไทยช่วยออกหมายจับให้
O หากเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมผู้ต้องหารายนี้ได้จริง แล้วรัฐบาลปากีสถานอ้างว่าเป็นพลเมืองของตน เพราะใช้พาสปอร์ตฉบับจริงของปากีสถาน จะมีปัญหาเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่
O การแจ้งเตือนโดยอ้างอิงถึงหน่วย ISI ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับปากีสถาน อาจเป็นการสร้างปัญหาระหว่างไทยกับปากีสถาน
O ข่าวที่ว่าผู้ต้องหารายนี้ต้องการหนีลงใต้ เพื่อข้ามฝั่งไปมาเลเซีย แล้วบินกลับปากีสถานอีกที มีมูลความจริงแค่ไหน เนื่องจากเขาถือพาสปอร์ตปากีสถานอยู่แล้ว และเขาไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
O การที่ข่าวแจ้งเตือนทางแอพพลิเคชั่นไลน์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลุดออกสู่สาธารณะนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลัง เพราะมีการตั้งกลุ่มพูดคุยและรับแจ้งข่าวสารจำนวนมาก หลายกลุ่มมีบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ทำให้ข่าวหลุดบ่อยๆ เป็นประเด็นที่หน่วยงานความมั่นคงในส่วนกลางกำลังจับตามองและเตรียมเสนอให้จัดระบบใหม่
เพราะการที่ข่าวลักษณะนี้หลุดออกมา ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยผลเสียที่ปรากฏชัดเจนก็คือภาพความไม่ปลอดภัยภายในประเทศ กระทบกับการท่องเที่ยว และยังอาจกระทบความสัมพันธ์กับมิตรประเทศด้วย เนื่องจากเป็นประเด็นละเอียดอ่อน เชื่อมโยงทั้งอินเดียและปากีสถานซึ่งมีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นมิตรที่ดีของไทย
ขณะที่ข่าวผู้ต้องหาที่ทางการอินเดียต้องการตัวลักลอบเข้าประเทศไทย และมีการให้ข้อมูลที่ค่อนข้างสับสนของฝ่ายความมั่นคงนั้น สะท้อนว่าการรับมือของไทยต่อการขยายตัวของการก่อการร้ายมีปัญหา ทั้งเรื่องการประสานข้อมูลระหว่างกัน ความเป็นเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการไม่มี "เจ้าภาพ" ที่ชัดเจน
ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังล่อแหลมขึ้นทุกทีจากการสร้างเครือข่ายของ "กลุ่มนักรบรัฐอิสลาม" หรือ "ไอเอส" ที่ขยายวงเข้ามาในภูมิภาคนี้ เพราะมีประเทศมุสลิม หรือดินแดนที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามอย่างหนาแน่นอยู่หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และไทย
การประชุมของหน่วยข่าวกรองอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้แทนจากหน่วยข่าวกรองชาติต่างๆ แสดงความกังวลกับสถานการณ์การแพร่แนวคิดของกลุ่มไอเอสสูงมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์
ขณะที่ออสเตรเลียก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกับมิตรประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะประเทศต่างๆ ที่ระบุชื่อมาล้วนมีพลเมืองของตนเองเดินทางไปร่วมรบกับไอเอสแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ยังเหลือแค่ไทยที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ
แต่ไทยก็มีความอ่อนไหว เพราะเป็นประเทศเปิด เดินทางเข้า-ออกง่าย ซ้ำยังมีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ด้วย
ความน่ากลัวของสถานการณ์ คือ ไอเอสใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่แนวคิด อุดมการณ์ และสรรหานักรบ ส่งผลให้การเฝ้าระวังป้องกันทำได้ยาก
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อวันที่ 4-6 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์คชอปสำคัญ หัวข้อ Southeast Asia Regional Workshop on Countering Online Extremist Narratives หรือการตอบโต้การใช้ช่องทางออนไลน์ในปฏิบัติการของกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสำนักงานต่างประเทศของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
ตลอดทั้งงานมีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายและการใช้สื่อออนไลน์สำหรับการก่อการร้ายจากทั้งสหรัฐ มาเลเซีย และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดจนประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งไทยด้วย
ทั้งหมดนี้คือความน่าสะพรึงของสถานการณ์ที่ไทยดูเหมือนยังไม่พร้อมรับมือ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายชาวอินเดียที่ทางการอินเดียต้องการตัว
หมายเหตุ :
1 พรางภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
2 รายงานชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ