ไทย "ช่องโหว่อื้อ" รับมือก่อการร้าย แนะสกัด "เส้นทางเงิน" ได้ผลสุด
ในวงเสวนาระดมสมองเพื่อหาทางรับมือกับอาชญากรรมโฉมใหม่ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี มีวงประชุมกลุ่มย่อยที่สำคัญและหัวข้อน่าสนใจอย่างมาก คือ "การก่อการร้าย: อาชญากรรมจากความเกลียดชัง และอาชญากรรมการเมือง"
การเสวนาระดมสมองดังกล่าว จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ ทีไอเจ เมื่อเดือนก่อน
สาเหตุที่่วงประชุมนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีการพูดถึงการก่อการร้ายของ "กลุ่มไอซิส" หรือ "กลุ่มรัฐอิสลาม" ที่เปิดปฏิบัติการเขย่าโลกอยู่ในปัจจุบัน และกำลังเป็นภัยคุกคามทุกภูมิภาค ไม่เฉพาะตะวันออกกลาง รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" ด้วย
โดยเฉพาะในแง่ของการรับมือกับไอซิส โดยใช้มาตรการทางกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
นายวิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรมในประเทศ ทีไอเจ บอกว่า บทบาทกฎหมายและบทบาทระหว่างประเทศเรื่องก่อการร้ายนั้น มีอนุสัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 19 ฉบับ สะท้อนว่าโลกคุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถตกลงให้เหลือฉบับเดียวได้ ประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ คือ นิยามก่อการร้าย และข้อยกเว้นหรือไม่ยกเว้นอะไรบ้าง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการปราบปรามการก่อการร้ายสากลซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องแก้ปัญหาให้ได้ก็คือ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เช่น ฮัมบาลี (แกนนำลำดับ 2 ของกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือเจไอ) มาโผล่ในประเทศไทย แล้วถูกนำตัวออกไปโดยไม่ผ่านกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ นายวิคเตอร์ บูธ นักค้าอาวุธชาวรัสเซีย กลับถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ตรงนี้ยังเป็นปัญหาทางเทคนิคในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย
นายวิพล แชร์ประสบการณ์ว่า เมื่อครั้งทำงานอยู่หน่วยย่อยของยูเอ็น มีหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับหลายประเทศให้ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่างๆ แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกัน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) บอกว่าประเทศของเขาสงบ ไม่มีก่อการร้าย ถ้าจะให้ปรับปรุงกฎหมายให้ ก็ต้องทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาให้เขาด้วย
สำหรับไทยบอกว่าไม่มีก่อการร้าย ไม่ให้พูดถึงภาคใต้ว่าเป็นปัญหาการก่อการร้าย ดังนั้นในการปฏิบัติจึงออกเป็นการสัมนาการต่อต้านอาชญากรรมร้ายแรงข้ามชาติ แต่ไส้ในเป็นก่อการร้าย
"ปัญหาเหล่านี้จะรับมืออย่างไร ค.ศ.1999 มีมาตรการต่อต้านการเงินที่สนับสนุนการก่อการร้าย แต่เชื่อหรือไม่ว่าประเทศต่างๆ ไม่เคยแก้กฎหมายตามอนุสัญญานี้ ขณะที่ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพิ่งออกกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว ที่ออกเพราะแรงบังคับจากไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) และองค์กรลักษณะเดียวกันขู่ว่าถ้ากฎหมายเรื่องนี้ไม่ดีพอ จะมีปัญหาในการทำธุรกรรมข้ามชาติ"
นายวิพล ย้ำว่า การจัดการการเงินคือมาตรการที่ได้ผล "สกัดที่เงิน" ไม่ว่ากลุ่มก่อการร้ายจะก่อเหตุรูปแบบใดหรือรุนแรงเพียงใดก็ตาม แต่หากสกัดที่เงินได้สำเร็จ ก็น่าจะหยุดการเคลื่อนไหวได้ แต่ทราบมาว่าประเทศไทยขึ้นบัญชีดำไปแค่ 2 คน
เขาบอกอีกว่า แม้จะมีมาตรการป้องกันโดยการตรวจตรา แต่ก็ห่วงว่าถ้าหลุดรอดเข้ามาในประเทศแล้ว กฎหมายไม่พร้อม มีช่องว่างอยู่ เมื่อมีช่องว่างเราก็มักใช้วิธีการพิเศษ ซึ่งสร้างความเสียหายตามมา โดยเฉพาะหลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม (Rule of Law)
ขณะนี้จึงมีกระชับการประสานงานระหว่างหน่วยงานกันอย่างเข้มข้นทั้งภายในและระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ง่าย เพราะเป็นสหวิชาชีพเกี่ยวข้อง เกี่ยวโยงมากมาย คำว่าบูรณาการนั้นพูดง่าย แต่ทำยาก
อย่างไรดี ประเด็นปัญหาการประสานงานระหว่างประเทศนั้น ผศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมามีการลงนามอนุสัญญาต่างๆ ร่วมกัน เหมือนเป็นฉากทางการทูต เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าได้ทำแล้ว แต่มีเวทีหนึ่งที่เห็นว่ามีประสิทธิภาพมาก คือ เวทีรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน หรือ เอดีเอ็มเอ็ม ซึ่งสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เห็นผลในทางปฏิบัติมากกว่าเวทีอื่นๆ
และล่าสุด ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ หรือ ASEAN Defence Minister’s Meeting Retreat (ADMM Retreat) ณ นครพุกาม สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ระหวา่งวันที่ 18-19 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไปร่วมประชุมด้วยนั้น ปรากฏว่าที่ประชุมได้ประณามและปฏิเสธการสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายไอซิส ทั้งยังเห็นว่าเป็นการบิดเบือนคำสอนศาสนา และอาเซียนควรต่อต้านแนวความคิดการสร้างรัฐอิสลามในพื้นที่ต่างๆ ของโลก
ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาว่าจะส่งผลในทางปฏิบัติแค่ไหน...อย่างไร!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพไอซิสจากเว็บไซต์ http://www.jihadwatch.org/category/islamic-state-of-iraq-and-syria
อ่านประกอบ : "ไอซิส"ลามอินโดฯ-มาเลย์-ปินส์ จับตา "ไทย" ทำไมยังนิ่ง
หมายเหตุ : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ