"ไอซิส"ลามอินโดฯ-มาเลย์-ปินส์ จับตา "ไทย" ทำไมยังนิ่ง
ทั่วโลกกำลังจับจ้องไปยัง "กองกำลังรัฐอิสลาม" หรือที่เรียกย่อๆ ว่า "ไอเอส" (Islamic State) หรือ "ไอซิส" (กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย)
เพราะกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวนี้กำลังแผ่ขยายอิทธิพลความเชื่อ เกี่ยวกับการปกครองด้วยหลักศาสนา และต่อต้านการครอบงำจากชาติตะวันตก ซึ่งนับวันจะมีชาวมุสลิมจากทั่วทุกมุมโลก (ไม่เว้นแม้ในประเทศตะวันตกเอง) เข้าร่วมเป็นเครือข่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
กระแสไอซิสทำให้นานาประเทศ โดยเฉพาะในหมู่ประเทศที่กำลังประสบปัญหาความไม่สงบภายในอยู่ในอาการหวั่นวิตก เกรงว่าจะยิ่งเร่งให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบชนิดหนักข้อไปถึง "การก่อการร้าย" และสร้างความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์
หลายประเทศจึงเริ่มมีมาตรการ "ตัดไฟแต่ต้นลม" โดยนำมาตรการด้านความมั่นคงออกมาใช้ควบคุมอย่างเต็มพิกัด บางประเทศเริ่มเฝ้าระวังเข้มงวด บางประเทศประกาศยกระดับเป็นภัยร้ายแรง
ดังเช่นประเทศออสเตรเลีย เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมไอซิสที่อยู่ทางตะวันตกของนครซิดนีย์ และทางตอนใต้ของบริสเบน ตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่ช่วงต้นเดือน พ.ย.ก็มีการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งใหญ่เรื่องการรับมือการแพร่ระบาดของลัทธิก่อการร้ายโดยผ่านโซเชียลมีเดีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน มีตัวแทนจากชาติสมาชิกเข้าร่วม แม้หัวข้อการเวิร์คชอปจะไม่เอ่ยถึงไอซิส แต่การใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่อุดมการณ์การต่อสู้ และสร้างภาพลักษณ์นั้น ก็เป็นยุทธวิธีอันโดดเด่นของไอซิสอยู่แล้ว
สำหรับประเทศไทย ปรากฏว่ายังไม่มีมาตรการใดๆ อย่างเป็นทางการออกมาจากฝ่ายความมั่นคง ทั้งๆ ที่ไทยมีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปลุกเร้าด้วยกระแสไอซิส ทำให้ในแวดวงวิชาการและกระบวนการยุติธรรมซึ่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเริ่มแสดงความเป็นห่วง
ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา บ้านเราก็มีวงเสวนาระดมสมองเพื่อหาทางรับมือกับอาชญากรรมโฉมใหม่ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ ทีไอเจ จัดขึ้นก็มีวงถกย่อยเรื่อง "การก่อการร้าย : อาชญากรรมจากความเกลียดชัง และอาชญากรรมการเมือง" ซึ่งมีการพูดถึงกระแสก่อการร้ายของกลุ่มไอซิสที่กำลังเป็นภัยคุกคามภูมิภาคอาเซียนอยู่ในขณะนี้
ผศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าภาพรวมของกลุ่มไอซิส โดยนิยามแบบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เป็นกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใหม่ที่กำลังมาแรง
เธอบอกว่า หลายคนที่คลุกคลีกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คงเคยได้ยินทฤษฎี "หงส์ดำ" หมายถึงเหตุการณ์ที่เราไม่อาจคาดถึงได้ เธอเองมีโอกาสเยี่ยมองค์กรเกี่ยวกับกลยุทธ์ในสิงคโปร์ พบความพยายามในการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามที่คาดไม่ถึงต่างๆ
"เขาสร้างโมเดลออกมาวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันนี้เราอยู่ในช่องของ unknown-unknown คือ ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้น และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ทันตั้งรับ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศและภูมิภาค สิงคโปร์นำนโยบายนี้มาผลิตมาตรการป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันแบบ unknown-unknown ซึ่งเกี่ยวกับกับองค์กรอาชญากรรม
สำหรับเรื่องการก่อการร้ายก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม unknown-unknown ของสิงคโปร์และหลายๆ ประเทศ ซึ่งไอซิสก็จัดเป็นภัยก่อการร้ายในกลุ่มนี้"
ผศ.ดร.พรรณชฎา กล่าวต่อว่า "ไอซิส" เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่แยกตัวมาจาก "อัลกออิดะห์" หรือ "อัลไกด้า" เริ่มแรกกลุ่มไอซิสพยายามอยู่กับอัลไกด้า แต่อยู่ด้วยกันไม่ได้ เนื่องจากไอซิสใช้ความรุนแรงสูงมากในการทำร้ายประชาชนทั่วไป
จริงๆ แล้ว กลุ่มไอซิสมีอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่เฟื่องฟูมากในประเทศซีเรีย เป็นเพราะว่าซีเรียมีสงครามกลางเมือง ไอซิสต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่เขาไม่พอใจ จึงพยายามรวมตัวกันขึ้นเป็นไอซิส และได้รับการสนับสนุนจากอัลไกด้า แต่ภายหลังแยกตัวออกมา
ไอซิสอยู่ในพื้นที่รอยต่อซีเรียกับอิรัก และพยายามแผ่ขยายเข้าไปในพื้นที่ตะวันออกกลาง จะเห็นได้ว่าพยายามรวมขอบเขตของอิรักเข้ามาด้วย
"สิ่งหนึ่งที่อยากตั้งข้อสังเกต คือ อัลไกด้าไม่สามารถบอกตัวเองว่าเป็นรัฐอิสลามได้ ในขณะที่ไอซิสทำได้ เขาเคลมตัวเองเป็นอิสลามิก สเตจ หลายคนที่ผ่านรัฐศาสตร์มาคงทราบว่า เมื่อประกาศเป็นรัฐ นั่นหมายถึงการมีอธิปไตย มีการกำหนดกฎหมาย มีรัฐบาลของตัวเอง มีตำรวจ มีทุกอย่างของตัวเอง ที่สำคัญคือไอซิสใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองประเทศ และใช้ยูทูบเผยแพร่ว่าพวกเขาได้ปฏิบัติอย่างนั้นจริงๆ"
ผศ.ดร.พรรณชฎา กล่าวอีกว่า ในอาเซียนมีประเทศเดียวที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าใช้กฎหมายอิสลาม คือ บรูไน ซึ่งประกาศไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียนเริ่มกังวลว่าถ้ามุสลิมประเทศอื่นๆ ใช้กฎหมายอิสลามกันมากขึ้นจะทำอย่างไร
สหรัฐกลัวไอซิสแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ แผ่ขยายไปแล้วจะทำอย่างไรกัน เพราะต่อไปอาจจะเป็นสงครามอิสลามกับโลกเสรีดังที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ก็ได้ ถ้าไอซิสยังแผ่ขยายต่อไป ส่วนตัวก็เชื่อว่าที่คาดการณ์ไว้ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ไอซิสประกาศไว้ว่ามีแผนขยายไปทั่วโลก โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายคือ อินเดีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ชัดเจนว่า 3 ประเทศเป้าหมายอยู่ในอาเซียน ด้วยเหตุนี้จึงน่ากลัว แต่เป้าหมายพวกเขาไม่ได้อยู่แค่อาเซียนแต่เป็นทั่วโลก
สำหรับจุดเด่นที่สำคัญของไอซิสซึ่งสรุปได้จากข้อมูลของ ผศ.ดร.พรรณชฎา คือ การสื่อสารของไอซิส ใช้การเผยแพร่สารผ่านคลิปวีดีโอทางยูทูบ รวมทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เพื่อหาแนวร่วมต่อสู้กับสหรัฐ ส่วนด้านการเงินมาจากอัลไกด้า นักธุรกิจมุสลิม และเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก อาวุธยุโธปกรณ์ก็มีมากกว่าอัลไกด้าหลายร้อยเท่า
สำหรับความเคลื่อนไหวในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น พบว่า อาบูบากา บาชีร ผู้นำจิตวิญญาณของเจไอในอินโดนิเซีย ซึ่งติดคุกอยู่ที่บาหลี ประกาศออกมาจากในคุกว่า เจไอพร้อมแล้วที่จะต่อสู้ร่วมกับไอซิส หวังว่าไอซิสจะมาช่วยปลดปล่อยรัฐอิสลามในอินโดนิเซียด้วย
ที่มาเลเซีย มีตำรวจจับกุมกลุ่มวัยรุ่นที่ไปร่วมกับไอซิสได้สิบกว่าคน และสนับสนุนรัฐอิสลามในมาเลเซีย ส่วนที่ฟิลิปปินส์ กลุ่มก่อการร้ายในประเทศมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต้องการแยกจากฟิลิปปินส์เป็นรัฐอิสลาม โดยเฉพาะหมู่เกาะมินดาเนา กลุ่มสำคัญคือ อาบู ไซยาฟ กลุ่มนี้ระยะหลังเริ่มหมดอำนาจเพราะกลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มใหญ่อย่าง "เอ็มไอแอลเอฟ" หรือแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร เพิ่งทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งอนุญาตให้มีรัฐที่ปกครองตนเองได้ แต่กระนั้นก็ยังพบการแพร่ขยายไอซิสในฟิลิปปินส์
ตัวอย่างคือ ชายเชื้อชาติออสเตรเลียเข้าไปอยู่ในฟิลิปปินส์เผยแพร่ผ่านยูทูบว่า ฟิลิปปิสน์พร้อมร่วมกับไอซิส กลุ่มมินดาเนาก็แสดงธงสัญลักษณ์ไอซิสว่าพร้อมแล้วที่จะเข้าร่วม ที่สำคัญมีการตรวจค้นพบอาวุธในหมู่เกาะมินดาเนาเป็นจำนวนมากของกลุ่มอาบู ไซยาฟ
สำหรับประเทศไทยยังไม่พบข่าวหรือข้อมูลชัดเจนว่ามีการแผ่ขยายของไอซิสเข้ามาหรือไม่!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพไอซิสจากเว็บไซต์ http://www.jihadwatch.org/category/islamic-state-of-iraq-and-syria
หมายเหตุ : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ