“ดร.อมรวิชช์” ปลุกจิตสำนึกคนไทย ปฏิรูปการศึกษา(เชิงพื้นที่) ให้เป็นจริง!
"...เรื่องการศึกษาต้องเข้าไปอยู่ในสำนึกของคนทั้งประเทศว่ามันสำคัญ มันยิ่งใหญ่ และต้องช่วยกัน ถ้าเราทำให้สิ่งนี้เกิดไม่ได้ การปฏิรูปไปได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น"
1-2 ปีมานี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ร่วมกันทำงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่(Area-Based Education) ใน14 จังหวัดนำร่องทั่วประเทศ ท่ามกลางความหวังว่า นี่คือแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างแท้จริง
สุดสัปดาห์นี้ “สำนักข่าวอิศรา” ชวนคุณผู้อ่านสนทนากับ “ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านการศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาวิชาการสสค. ถึงกระบวนการ ทิศทาง อุปสรรคและโอกาสของการปฏิรูปศึกษาไทย จากโมเดลจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ว่าจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด?
@ อาจารย์และคณะทำงานการศึกษาเชิงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เห็นอะไรบ้าง ผลศึกษาที่ได้เป็นอย่างไร
สิ่งที่เห็นคือ ความเป็นไปได้ในเรื่องการกระจายอำนาจที่มีโอกาสเป็นจริงได้ โดยการกระจายบทบาทผู้เล่นในการเข้ามาจัดการการศึกษาลงไปในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
ขณะนี้จังหวัดที่ทำงานด้วย ส่วนใหญ่เริ่มมีกลไกจังหวัดเกิดขึ้นแล้ว เป็นกลไกที่ภาครัฐไม่ได้เป็นคนนำ แต่เป็นภาคประชาสังคม เอกชน หรือท้องถิ่น เข้ามาเป็นหัวขบวนในการดึงสมัครพรรคพวกในจังหวัดมาทำงานร่วมกัน คิดโจทย์การศึกษาของจังหวัดร่วมกัน
เป็นภาพของคนที่พยายามจะไม่ใส่รองเท้าเบอร์เดียวอีกต่อไปแล้ว เป็นภาพของคนที่พยายามตัดเสื้อที่ใส่เหมาะกับตัวเอง เป็นโจทย์การศึกษาที่เหมาะกับเด็กในจังหวัดของตัวเองหรือแรงงานในจังหวัดของตัวเอง
@ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมีอะไรบ้าง
แต่ละพื้นที่จะเห็นความหลากหลายในวิธีการตั้งโจทย์ เช่น จังหวัดใหญ่อย่างอยุธยา นครราชศรีมา ชลบุรี โจทย์ของเขาพุ่งเป้าการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เพราะว่าเด็กส่วนใหญ่จบม.3 ออกไปเป็นแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
โจทย์ของเขาคือ ทำอย่างไรให้แรงงานที่จบออกไปเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ไม่ใช่มีแต่ความรู้สายสามัญ อ่านออกเขียนได้อย่างเดียว แต่มีทักษะพื้นฐาน สัมผัสโลกของการทำงานมาแล้ว มีนิสัยใจคอที่ดีในฐานะแรงงาน มีวินัย มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา ทำงานเป็นทีม
ขณะเดียวกัน มีอีกหลายจังหวัดที่เขาตั้งโจทย์ตามสภาพภูมิสังคมของเขา เช่น จ.ยะลา ประชากร80% เป็นมุสลิม มีขบวนการจัดการในจังหวัดที่ดีมาก ดึงพลังทุกภาคส่วนและพลังผู้นำทางศาสนาเข้ามาทำงานการศึกษา เช่น การดูแลเด็กปฐมวัย การแก้ปัญหาการด้อยโอกาสเด็กที่หลุดไปจากระบบการศึกษาก่อนจบม.3
หรือบางจังหวัดยิงตรงไปที่พื้นฐานการศึกษาไทยเลย เช่น จ.สุโขทัย ทำเรื่องการอ่าน คือทำอย่างไรให้เด็กอ่านออก อ่านคล่อง อ่านรู้เรื่องทั้งจังหวัด
ล่าสุด อยู่ในทิศทางการจัดการว่า จะทำอย่างไรให้กระบวนการเหล่านี้เดินไปอย่างเป็นระบบ เช่น เดินอยู่บนฐานข้อมูลหรือบนฐานความรู้ที่แต่ละฝ่ายถืออยู่ เช่น สาธารณสุข พัฒนาสังคม เขตพื้นที่การศึกษา ภาคเอกชน หรือแม้แต่ท้องถิ่น
นำข้อมูลมากางดูว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนของจังหวัดเราเป็นอย่างไร ปัญหาเร่งด่วนที่น่าจะทำคืออะไร แล้วก็ออกแบบทำงานร่วมกัน
ในขณะเดียวกัน ด้วยความร่วมมือแบบพื้นที่ แบบไร้สังกัดเช่นนี้ เราได้เห็นสิ่งที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ หน่วยงานที่มีภารกิจและมีงบประมาณอยู่แล้ว เริ่มใช้งบประจำของตัวเองนั่นแหละ ปันงบฯบางส่วนเข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้ เราเห็นการระดมทรัพยากรเข้ามาหลายแบบ มีเทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยเรื่องการศึกษา เริ่มเห็นความเป็นไปได้ทั้งการทำแผนนโยบายและงบประมาณที่ไม่ได้อยู่ในมือภาครัฐผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว และเห็นน้ำใจของคนในท้องถิ่น
@ จะทำอย่างไรให้เกิดผลต่อเนื่องในระยะยาว
เรื่องนี้จะเป็นจริงได้ ภาครัฐต้องส่งสัญญาณที่ชัด จริงอยู่แต่ละจังหวัดมีศักยภาพดำเนินการไปเองในพื้นที่ 14 จังหวัด เขาก็ทำได้ แต่ก็ทำได้ในขอบเขตหนึ่ง
แต่หากมีกฎหมายที่ชัดเจน มีนโยบายชัดเจนออกมารองรับ เช่น กฎหมายวางขั้นตอนการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาลงไปสู่พื้นที่จังหวัดและท้องถิ่น มีกระบวนการเตรียมความพร้อมบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายว่าต้องเตรียมความพร้อมภาคประชาชน ภาคประชาสังคม หรือปรับบทบาทข้าราชการภาครัฐเข้าสู่ระบบและกติกาใหม่ที่จะเปลี่ยนบทบาทให้รัฐไปเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ผู้จัดการศึกษาอย่างเดียวอีกต่อไป
นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายเรื่องงบประมาณให้สามารถจัดงบฯลงไปในพื้นที่ได้หรือจัดตรงไปสู่ฐานศึกษาได้ ซึ่งน่าจะช่วยทำให้กระบวนการกระจายอำนาจไปเร็วขึ้น เพราะงบฯจะได้ไม่กั๊กไว้แต่ในส่วนกลางอย่างเดียว แต่ถูกส่งตรงไปสู่พื้นที่ตั้งแต่จังหวัดไปจนถึงโรงเรียน
ในอุดมคติ เราอยากเห็นโรงเรียนทุกโรงเรียนเข้มแข็ง มีสภาพเป็นนิติบุคคล มีกรรมการโรงเรียนที่เข้มแข็ง มีความหลากหลายของโรงเรียนในการจัดการศึกษาตอบโจทย์ท้องถิ่นที่เขาอยู่และมีงบประมาณอุดหนุน เพราะการกระจายสุดท้าย ไม่ได้ไปจบที่จังหวัดหรือที่องค์กรปกครองท้องถิ่น แต่จบที่ห้องเรียน จบที่ครู ที่นักเรียน
เพราะฉะนั้น ในความคิดผมการเตรียมความพร้อมสัก4-5 ปี โดยมีกฎหมายที่จะเข้ามารองรับเรื่องนี้ จะเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการเตรียมความพร้อมยากมาก แต่ขณะนี้เรากำลังปลุกความรู้สึกของประชาชนขึ้นมาว่าต้องเข้ามาช่วยกันจัดการศึกษา จะปล่อยให้ภาครัฐจัดการผู้เดียวต่อไปอีกไม่ได้แล้ว
@ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รองนายกฯ บอกว่า โครงการนี้ดีและพร้อมสนับสนุน แต่เป็นห่วงว่า การเมืองหลังเลือกตั้งเข้ามาจะทำให้งานในระยะยาวหยุดชะงักหรือเปล่า
วันนี้โจทย์สังคม โจทย์เศรษฐกิจซับซ้อนมาก คนในพื้นที่เท่านั้นที่เขาจะรู้และสามารถจัดการศึกษาแบบนี้ได้ สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในแง่กฎหมาย คือ กฎหมายที่จะรักษายืนระยะการปฏิรูปการศึกษา การกระจายอำนาจ ให้มีความต่อเนื่องไม่ให้การเมืองแทรกแซงได้
อาจจะอยู่ในรูปคณะกรรมการระดับชาติอะไรขึ้นมาสักชุดหนึ่งที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ และมีงบประมาณสนับสนุนการทำงานไปได้อย่างน้อย5-10 ปีที่ รักษากระบวนการปฏิรูปไม่ให้มันแกว่ง ไม่ให้เพี้ยนโดยการเมืองไม่แทรกแซง
ผมคิดว่า 3 เรื่องนี้สำคัญมากในทิศทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา คือ เรื่องการกระจายอำนาจ การกระจายงบประมาณ และการสร้างกลไกที่จะรักษากระบวนการปฏิรูปให้มีความต่อเนื่องโดยการเมืองไม่แทรกแซง
@ สิ่งที่อาจารย์ว่ามานี้ ตอบโจทย์การกระจายอำนาจด้านการศึกษาอย่างไร
นี่คือการตอบโจทย์ใหม่ของการศึกษาไทยที่ไม่ควรจะเน้นเรื่องวิชาการอีกต่อไปแล้ว อาจจะมีวิชาการส่วนหนึ่งสำหรับเด็กชั้นหัวกะทิ แค่สักไม่ถึง 10% ของประเทศ ที่เขาจะมุ่งไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นอะไรก็ว่าไป
แต่เด็กอีก 90% ผมคิดว่าโจทย์ใหม่ของเขาคือ เรื่องชีวิตและการมีงานทำ ซึ่งเรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจและภูมิสังคมแต่ละพื้นที่จริงๆ ตรงนี้จะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้ชัดเจนมากขึ้นว่า ทำไมเราต้องกระจายอำนาจ เพราะโจทย์ใหม่การศึกษาไทยไม่ควรเป็นแค่เรื่องวิชาการอีกต่อไปแล้ว
เด็กเอาแต่สอบ สอบ สอบ และสอบ เพื่อแข่งกันทางวิชาการ สุดท้ายเราไม่ได้ประชาชาติรุ่นใหม่ที่เป็นคนที่สมบูรณ์ ผมคิดว่าปัญหาของการศึกษาขณะนี้คือ เราไม่ได้สร้างคนที่สมบูรณ์ให้ประเทศ ฉะนั้นทำอย่างไรจะสร้างคนที่ทั้งเก่งวิชาการ มีความสามารถพื้นฐานทางวิชาการที่ดีพอ รวมทั้งมีความฉลาดในการใช้ชีวิต พาตัวรอดพ้นจากสิ่งรุมเร้าต่างๆได้ ใช้ชีวิตเป็นในโลกยุคใหม่ที่ซับซ้อน
นอกจากนี้ยังเป็นคนที่พร้อมจะก้าวสู่โลกของการทำงานตั้งแต่ยังวัยรุ่น ได้สัมผัสการทำงานตั้งแต่เล็กๆ สู้งาน มีจิตสำนึกที่ดีกับการทำงาน ไม่เลือกงาน ที่สำคัญ ผมคิดว่าทิศทางนี้จะเป็นการกระจายความเจริญ ความมั่งคั่งลงไปสู่ท้องถิ่นด้วย
@ หมายความว่า
ความหมายผมคือ หากเราทำให้การศึกษาสร้างคนที่เกิดที่ไหนก็โตที่นั่น สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ให้กับตนเอง ณ จุดที่เกิดได้ สร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้ชุมชนให้ท้องถิ่นและตัวเองได้พื้นที่ นี่คือความสำเร็จของการศึกษา
แต่วันนี้การศึกษาของเราส่งเด็กออกนอกพื้นที่ นอกจากไม่ได้ช่วยสนับสนุนความเจริญและรายได้ไปสู่พื้นที่แล้ว ตรงกันข้าม ยังเป็นตัวสกัดกั้นเส้นทางความเจริญมั่งคั่งลงไปสู่พื้นที่ เป็นการศึกษาถอนรากถอนโคน ฉีกกระชากคน แยกร่างออกจากกันเป็นชิ้นๆ เป็นแรงงานย้ายถิ่นมาทำงานในเมือง
@ ในการกลับกัน ก็ต้องถอนรากถอนโคนครั้งใหญ่หรือเปล่า เพื่อให้การศึกษาในพื้นที่เกิดขึ้นได้จริงทั่วประเทศ และเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ภาครัฐก็ต้องใจกว้าง กระทรวงศึกษายังมีความสำคัญ ข้าราชการระดับสูงก็สำคัญ แต่มีความสำคัญในการเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการอำนวยการดูแลนโยบาย ในการติดตามให้แน่ใจว่าพื้นที่ท้องถิ่น โรงเรียน เขาได้รับการสนับสนุนดีพอ
ดูแลให้แน่ใจว่า เกิดความหลากหลายในการจัดการศึกษาที่มากพอที่จะตอบโจทย์ที่หลากหลายของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน
ผมคิดว่าข้าราชการส่วนกลางก็เป็นข้าราชการที่ทรงเกียรติในสายตาประชาชน ถ้าท่านปรับบทบาทของท่านไปเป็นคนที่ไม่ใช่เป็นคนตัดสินเรื่องเงิน เรื่องคน เรื่องหลักสูตร แต่ว่าท่านเป็นคนสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย สนับสนุนให้เกิดการกระจายอำนาจ สนับสนุนการจัดการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน อาจมีพื้นฐานบางเรื่องที่เหมือนกันในเรื่องของชาติ ภาษาไทย ประวัติศาสตร์
แต่จะมีอีกครึ่งหนึ่งคือ ความเป็นชุมชนท้องถิ่น ความเป็นจังหวัด เป็นลุ่มอารยะธรรม ที่เขาควรจะมีสิทธิ ควรได้รับเกียรติให้เข้ามาคิดและเติมการเรียนเรียนรู้ที่เหมาะกับลูกหลานในพื้นที่ให้มากขึ้น
@ หลักสูตร การเรียนการสอน ครู ต้องปรับหรือไม่ อย่างไร
นั่นก็เป็นคำตอบหนึ่ง คนที่มีสิทธิ์เลือกครูมากที่สุดคือใคร ก็คือ โรงเรียน หรือผอ.โรงเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของโรงเรียน
แต่อย่างที่บอกครับ ต้องใช้เวลา เพราะวันนี้ประชาชนยังขาดความเข้าใจหรือไม่ได้รับการส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมมากพอ ทำให้ภาพที่ผมเล่าให้ฟังเป็นภาพในอุดมคติที่ต้องใช้เวลามาก
ดังนั้น ผมถึงบอกว่าการเตรียมความพร้อมคนเป็นเรื่องสำคัญมาก พร้อมเข้าสู่บทบาทใหม่ กติกาใหม่ ที่ภาครัฐไม่ใช่ผู้จัดการศึกษาแต่ผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นผู้จัดหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นจัดก็ได้ แล้วกระจายไปสู่ท้องถิ่นชุมชน
นี่ก็อาจจะสอดคล้องไปกับการปฏิรูปประเทศในด้านการเมืองการปกครองด้วยนะครับว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งผมคิดว่าเราต้องทำงานคู่ขนานกัน
ยกตัวอย่างเรื่องครู อะไรที่เป็นองค์ประกอบรอบๆระบบครูทั้งหลายต้องปฏิรูป ทั้งการผลิต การพัฒนา ระบบแต่งตั้งโยกย้าย ความดีความชอบ ต้องปรับหมด อะไรที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เรามีครูดี มีคุณภาพ หรือคัดคนดีคนเก่งมาเป็นครูให้ได้ เงื่อนไขเหล่านั้นก็ต้องเอาออก หรือเงื่อนไขอะไรที่ต้องใส่เข้าไปเพื่อที่จะได้มาซึ่งครูดี ครูเก่ง มีคุณภาพ ก็ต้องใสเติมเข้าไป
เรื่องความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานของครูต้องให้อยู่บนฐานของความสำเร็จในการเรียนการสอน ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับเด็กเป็นหลัก
รวมทั้งเรื่องความไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวงการครู ไปจนถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การแต่งตั้งโยกย้ายต้องยัดเงิน ถ้าเป็นจริงตามนี้ก็ต้องเอาออกเช่นกัน นี่คือตัวการในการบ่อนทำงายขวัญและกำลังใจของครู เป็นการทำลายครูดีมีคุณภาพที่จะลงไปสู่ในพื้นที่ด้วย
ฉะนั้น ตรรกะคือให้ครูดี มีคุณภาพอยู่ในทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะห่างไกลแค่ไหนก็ตาม และอะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรคหรือเงื่อนไขขวางทางก็ต้องเอาออก อะไรที่เป็นกลไกเสริมได้ ก็เติมเข้าไปครับ
@ในฐานะนักการศึกษา อาจารย์คิดวาอะไรคือปัญหาหลักของการศึกษาไทย
2 ส่วนครับ ส่วนหนึ่งเราพูดกันว่าภาครัฐเองไม่มีความจริงใจกับการปฏิรูป กระจุกอำนาจ เพราะอำนาจมากับผลประโยชน์ ก็อาจจะถูกส่วนหนึ่งครับ
แต่ผมคิดว่าอีกส่วนหนึ่ง ความพร้อมและจิตสำนึกภาคประชาชนก็สำคัญ ถ้าเราไม่รู้สึกว่าการศึกษาของลูกหลานเป็นเรื่องของเรา ครอบครัวไม่คิดว่าการศึกษาของลูกก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ด้วย
หรือนายกฯอบต. ไม่คิดว่าการศึกษาเป็นความสำคัญของท้องถิ่นมากกว่าการสร้างถนน ก็ไปไม่รอดอยู่ดี ถ้าผู้จัดการบริษัทหรือเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไม่คิดว่าเรื่องการศึกษา การเรียนรู้ของแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญเท่าๆกับการลงทุนและผลกำไร การศึกษาไทยก็ไปไม่รอดอยู่ดี
ฉะนั้น เรื่องการศึกษาต้องเข้าไปอยู่ในสำนึกของคนทั้งประเทศว่ามันสำคัญ มันยิ่งใหญ่ และต้องช่วยกัน ถ้าเราทำให้สิ่งนี้เกิดไม่ได้ การปฏิรูปไปได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น เหมือนที่ผ่านมา กระจายอำนาจลงไปเขาไม่รับหรือรับแล้วหลุดมือ เพราะว่าไม่ได้เตรียมความพร้อมกัน
แต่เรื่องนี้ผมย้ำว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 6-10 ปี แน่นอน 4-5 ปีแรก ใช้เวลารณรงค์ สร้างความเข้าใจ สร้างความพร้อมให้กับภาคประชาชน โดยมีต้นทุนที่ดีคือ 14 จังหวัดนำร่องที่เริ่มเห็นขบวนเคลื่อนแล้ว โดยเอาพื้นที่จังหวัดเป็นตัวตั้ง ทำงานการศึกษาเชิงพื้นที่ด้วยกัน
และถ้าหนุนด้วยนโยบายหรือกฎหมายที่ชัดเจน เรื่องการกระจายอำนาจก็ดี กระจายงบประมาณก็ดี การสร้างกลไกต่อเนื่องการเมืองไม่แทรกแซงไปสัก6-10 ปี ผมคิดว่าเรื่องนี้สำเร็จแน่ แต่ต้องทำให้ประชาชนรู้ด้วยว่าเรื่องการศึกษาใจร้อนไม่ได้ เพราะคงไม่เห็นผลในปีเดียว แต่เราจะวางกลไกไว้3-4เรื่องอย่างที่บอก เพื่อทำให้ความฝันนี้เป็นจริง