“วิษณุ”แจงรบ.ไร้อำนาจคุมงบกสทช.-ลั่นไม่ยุบ! เล็งแก้กม.ยกเครื่องใหม่
“วิษณุ” แจงแทนนายกฯ ปมถูก “ครูหยุย” ถามให้ตรวจสอบงบ กสทช. ยัน กสทช. ไม่อยู่ในส่วนราชการ มีกม.จัดการงบเอง เผยปีหนึ่งได้กว่า 3-6 พันล้าน รบ.ตรวจสอบไม่ได้ แต่ให้ สตง.-คณะกรรมการสอบฯ คสช. ตั้งข้อสังเกตได้ ลั่นอนาคตเตรียมแก้ยกเครื่องใหม่ ไม่เห็นด้วยยุบทิ้ง กลัวองค์กรใหม่มาสวมรอยแทนอีก
จากกรณีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากพบว่ามีการเบิกใช้งบประมาณมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศกว่า 250 ล้านบาท
โดยนายวัลลภ ถามว่ารัฐบาลมีแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณของสำนักงาน กสทช. ให้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ชำนาญด้านงบประมาณตรวจสอบให้ความเห็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณหรือไม่ ประการใด และรัฐบาลจะมีมาตรการเร่งด่วนในการตรวจสอบและควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงาน กสทช. หรือไม่ ประการใด
(อ่านประกอบ : "ครูหยุย"จี้"ประยุทธ์"คุมใช้จ่ายงบ กสทช.หลังค่าที่ปรึกษาพุ่ง329ล.-บินตปท.อุตลุด)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ที่รัฐสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นผู้ชี้แจงกระทู้ถามดังกล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า หากเป็นกรณีของหน่วยงานบางหน่วย เช่น กรมประชาสัมพันธ์ คำตอบก็ไปอีกแนวทางหนึ่ง แต่กระทู้ถามนี้เพ่งเล็งไปยัง กสทช. คำตอบก็ต้องเป็นแนวทางของกฎหมายที่มีในขณะนี้ ซึ่ง กสทช. เป็นองค์กรอิสระตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ไม่ได้มีฐานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล ซึ่งก็เป็นไปตามความตั้งใจของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ที่ต้องการให้มีหน่วยงานที่เป็นเอกเทศ แม้แต่ในเรื่องงบประมาณ ซึ่งตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ก็เป็นมาตราที่ใหญ่สุดในการจัดทำงบประมาณ และอนุมัติงบประมาณของตัวเอง
นายวิษณุ กล่าวว่า หากถามว่างบประมาณ กสทช. ใช้นั้นนำมาจากไหน ในเมื่อเป็นอิสระในการบริหารจัดการ คำตอบคือ กสทช. อาจได้จากค่าธรรมเนียม ขณะเดียวกันอาจได้มาจากกรณีเก็บค่าเลขหมายโทรศัพท์ หรืออื่น ๆ เพียงเท่านี้ กสทช. ก็มีเงินได้เป็นจำนวนค่อนข้างมาก บางปีรายได้ดังกล่าวขึ้นไปถึง 3-6 พันล้านบาท และอาจมีมากขึ้นไปในอนาคต ดังนั้นเมื่อมีรายได้เข้ามา กสทช. ก็สามารถจัดสรรไปในทางใช้จ่าย และส่วนหนึ่งสมทบเข้ากองทุน โดยในส่วนของรายจ่ายนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.งบประมาณบุคลากร 2.งบประมาณลงทุน 3.งบประมาณบริหารจัดการองค์กร ซึ่งงบในการดูงานต่างประเทศอยู่ในส่วนที่ 3 ส่วนเงินเดือนของบุคลากรอยู่ในส่วนที่ 1
“เรื่องการไปดูงานจำเป็นหรือไม่เป็นเรื่อง กสทช. ที่ใช้งบในการบริหารจัดการองค์กร เหล่านี้เป็นเรื่องรายได้-รายจ่าย หากเป็นกรณีของส่วนราชการ ก็จะมีหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล แต่มาตรา 27 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ได้ให้อำนาจ กสทช. ดำเนินการโดยเฉพาะ รัฐบาลจึงไม่สามารถดูแลใด ๆ ได้ แม้แต่รัฐสภาก็ไม่สามารถดูแลโดยตรงได้ เพราะไม่ได้ของบประมาณจากแผ่นดิน” นายวิษณุ กล่าว
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ต้องพูดจากันด้วยความเข้าใจ และเห็นใจ กสทช. เพราะมีความเป็นจริงอยู่ว่า กสทช. เองคงอึดอัด และรู้สึกถึงปฏิกิริยาที่มีต่อสาธารณะ ด้วยเหตุว่าทำไมงบประมาณของ กสทช. ไม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่กฎหมายของเขาระบุไว้แบบนั้น แม้จะเคยติดต่อสำนักงบประมาณให้นำสู่การพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณางบประมาณฯ อย่างน้อยให้เป็นวาระพิเศษ แต่ผลของเจตนาดังกล่าวได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้นคำตอบข้อแรกคงตอบว่า รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบใด ๆ ในเรื่องนี้ได้ นอกจากใช้ขั้นตอนตามปกติ ก็คือนำไปสู่การตอบข้อ 2 ว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร
“คำตอบคือ ขณะนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว และทำรายงานเสนอ ครม. ในงบประมาณปี 2556 ให้ทราบ และ ครม. รับทราบแล้วว่ามีส่วนไหนใช้เงินมาก และได้ตั้งข้อสังเกตกลับไป ถามว่า จะทำอย่างไร รัฐบาลได้พิจารณาว่า ถ้า กสทช. แสดงเจตนาดีอยากให้ตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส ในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดช่องทางให้มีการตรวจสอบ อย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะให้ กมธ.พิจารณางบฯ มาสอบถาม และรายการงบประมาณทั้งหมดของ กสทช. ควรพิมพ์ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา หรือเว็บไซต์ตัวเอง เป็นต้น” รองนายกฯ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐ โดยเข้าไปตรวจสอบงบประมาณในส่วนของราชการ และรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ซึ่งอาจประสานภายในกับ กสทช. โดย กสทช. เองก็ยินดีให้ความร่วมมือ ส่วนช่องทางต่อไปก็อาจประสานให้ กสทช. แถลงงบประมาณต่อรัฐบาล ตามมาตรา 74 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ตามระเบียบ กสทช. ได้ออกมาก่อนที่ กสทช. ชุดปัจจุบันทั้ง 11 คน เข้าไปบริหารงาน โดยแต่ละคนสามารถตั้งทีมงานโดยมีค่าตอบแทน หรือตั้งคนเป็นผู้ช่วย จะเรียกว่าอะไรก็สุดแท้แต่ และค่าตอบแทนก็เป็นไปตามบัญชีที่ กสทช. ตั้งขึ้น ซึ่งตั้งกันมานานนมกาเลก่อน กสทช. ชุดนี้จะเข้ามา ส่วนการไปดูงานต่างประเทศ แล้วแต่ความจำเป็นใด ๆ ก็สุดแท้แต่ จะมีงบให้บุคลากรเหล่านี้เดินทางไปประชุม ก็เป็นไปตามระเบียบที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลจะใช้วิธีประสานว่า สังคมกำลังจับตาดูอยู่ ฉะนั้นระเบียบเก่าหากพิจารรณาจากความจำเป็น สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่เรื่องความพอเพียง น่าจะทำให้องค์กรอิสระนี้ได้ทบทวน
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ในช่วงก่อนจะมีการจัดตั้งรัฐบาล ช่วง คสช. มีอำนาจ ได้มีการออกประกาศ คสช. แก้ไขกฎหมายของ กสทช. ไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่อาจแก้ไขได้ไม่หมดจดทั้งหมด การยุบ กสทช. หรือสังคายนาจึงต้องพิจารณาโดยรอบคอบ เพราะ คสช. ไม่ต้องการทำอะไรไม่รอบคอบ เพราะต่อไปมี สนช. อยู่แล้ว ก็อยากเอาเข้าสภานี้มากกว่า เรื่องควรปฏิรูปก็ขอความเห็นจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดีกว่า แต่จากนี้ไปก็ต้องเดินทางตามกระบวนการทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป และเป็นผลของการปฏิรูปจากสภาแห่งนี้
“เงินทั้งหลายที่เป็นรายได้ของ กสทช. หามาได้ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม จะมีกฎหมายให้จัดเก็บ บางปีหาได้น้อยเพียงแค่ 500 ล้านบาท แต่ที่คุยกันได้ ในอนาคตอาจจะมีการส่งเงินเข้าคลังได้อีกเป็นหมื่นล้านบาท ดังนั้นถ้ายุบ กสทช. ก็จะมี ก. อะไรอีกสักอย่างเข้ามาจัดการ หากไม่วางกฎหมายให้ดีเสียแรก ก. ใหม่ก็สวมปัญหาเดิม จากนี้ไปเป็นช่วงปฏิรูปที่ต้องคิด และต้องพิจารณาว่า กสทช. รับฟังปัญหาทุกประการหลายคน โดยกรรมการ กสทช. หลายคนก็พยายามให้แก้ แต่กลับไม่ทำให้เขา ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้รับช่วงไปทำ ก็พร้อมจะทำให้สมบูรณ์ได้” รองนายกฯ กล่าว
อ่านประกอบ : พบ 11 กสทช.เบิกค่าใช้จ่าย ตปท.ปีเดียว 632 วัน 61.5 ล.-“เศรษฐพงศ์”แชมป์
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวิษณุ จาก thaipublica