“วรพจน์” แจงเหตุลาประชุม ก.ศป. ทำวาระลงมติคดี จม.น้อย ล่ม-กลัวไม่สง่างาม
"วรพจน์ วิศรุตพิชญ์"แจงเหตุไม่เข้าประชุมพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี จม.น้อย ฝาก "ตร" เมื่อวันที่ 19 พ.ย.57 ลั่น ก.ศป. ไม่ควรพิจารณาเรื่องนี้จนกว่าจะครบองค์ประกอบ มีผู้ทรงคุณวุฒิจาก สนช. - ครม.ครบถ้วน เพื่อยืนยันความสง่างาม
กรณีที่กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ออกแถลงการณ์ผลการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.57 ที่ผ่านมา โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งเผยว่านายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ลาประชุม รวมถึงนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และ นายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุดที่ลาพักผ่อน ทำให้มีจำนวนกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่สามารถพิจารณาวาระการประชุมเรื่องผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีจดหมายน้อยของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองสูงสุดได้นั้น
( อ่านประกอบ : คดีจม.น้อยฝาก"ตร."ไร้ข้อยุติ!องค์ประชุม ก.ศป.ล่ม-กก.ลาเพียบ"หัสวุฒิ"ด้วย )
นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีดังกล่าวว่า หากใครมองว่าการที่ตนไม่เข้าประชุมครั้งนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวางการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงก็ไม่น่าจะถูก เพราะก.ศป.อีก 6 คน ที่เข้าประชุมน่าจะสามารถใช้ มาตรา 79 วรรค ( 2 ) พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ได้อยู่แล้ว
"ถ้า ก.ศป.อีก 6 คนจะพิจารณาโดยไม่มีผมเข้าร่วมก็ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยการนัดประชุมใหม่อีกครั้งหนึ่งภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ 20 พ.ย. 2557 ถ้าการประชุมคราวใหม่ มีกรรมการที่มาประชุมใหม่ เพียง 5 คน คือ หนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดก็ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว แบบนี้เป็นไปตามมาตรา 79 วรรค ( 2 ) พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539"
นายวรพจน์ ยังยืนยันว่า ไม่ขวางการพิจารณากรณีดังกล่าวในตอนนี้ แต่ไม่สนับสนุน เพราะจะเข้าร่วมทำเรื่องนี้ ต่อเมื่อ ก.ศป. มีองค์ประกอบครบ
"ผมไม่เข้าร่วมวาระการพิจารณากรณีจดหมายน้อย เพราะได้แสดงจุดยืนและให้เหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว ในการประชุม ก.ศป. เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2557 ซึ่งครั้งนั้นประธานการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีจดหมายน้อย ได้แจ้งต่อที่ประชุมในว่าผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีจดหมายน้อยเสร็จแล้วและหารือว่า ก.ศป. จะพิจารณากันเมื่อไหร่ดี ซึ่งผมได้เสนอขึ้นมาเองว่าไม่อยากให้ ก.ศป. 7 คนพิจารณาเรื่องนี้ อยากให้มี ก.ศป. เต็มองค์ประกอบ หรือถ้าไม่เต็มองค์ประกอบก็น่าจะต้องมี ก.ศป. ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 คนและ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 1 คน"
นายวรพจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ได้กล่าวกับที่ประชุมในครั้งนั้นว่า ก.ศป. ทั้ง7 คนไม่ควรทำเพราะไม่สง่างาม ควรรอ ให้ ก.ศป. เต็มองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เพื่อที่ท่านเหล่านั้นจะได้ประกันความโปร่งใสของเรา ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย เมื่อที่ประชุมถามว่าควรจะรอไปถึงเมื่อไร ก็ตอบไปว่าก็ขอให้รอไปจนถึงวันที่เราเห็นว่ามันไม่มีวี่แววแล้วว่า ก.ศป. จะครบองค์ประกอบ คือหมายถึงว่า เมื่อผู้มีอำนาจของบ้านเมืองหรือผู้มีอำนาจในสถาบันแห่งนี้ ปล่อยให้ สถานะ ก.ศป. ไม่แน่นอนอยู่อย่างนี้
นายวรพจน์ กล่าวว่า ในเวลานั้น ที่ประชุมถามว่าเมื่อไรคือกำหนดเวลาที่จะแสดงว่ามีวี่แววหรือไม่ที่ ก.ศป.จะเต็มองค์ประกอบหรือมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ตนตอบว่าเดือนตุลาคม หรือ พฤศจิกายน ก็น่าจะเห็นแล้วว่าจะมีวี่แววหรือไม่ จึงตอบว่าถ้าเดือนพฤศจิกายนไม่มีวี่แวว เรา 7 คน จะทำเรื่องนี้
"นี่คือข้อตกตลงจริงๆ คือคุณจะจดมติ อย่างไรก็แล้วแต่ แต่นี่คือข้อตกลงจริงๆ ในครั้งนั้น ดังนั้น มติเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 เกี่ยวกับการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงกรณี ประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับจม.น้อย ที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ มติดังกล่าวยังไม่ชัดเจนนัก เพราะที่ชัดเจนจริงๆ คือตามที่ผมได้เรียนให้ทราบว่าผมเสนออย่างไร” นายวรพจน์ระบุ
และกล่าวว่าเมื่อมาถึงเดือนพฤศจิกายน มองเห็นวี่แววว่าเป็นไปได้ที่ ก.ศป.จะเต็มองค์ประกอบ เพราะ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ผ่าน สนช.มาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว ดังนั้น เมื่อมีวี่แววอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะรอเพื่อความสง่างาม
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเท็จจริงเรื่องวาระการประชุมวันที่ 19 พ.ย. นายวรพจน์กล่าวว่า ได้รับวาระการประชุม เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พ.ย. 2557 ซึ่งไม่ปรากฏวาระพิจารณาเรื่องศาลปกครองเพชรบุรีแต่อย่างใด เมื่อเห็นเพียงวาระที่แจ้งมา จึงโทร ไปเรียนประธานที่ประชุม คือนายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ถึงมติที่ว่า ก.ศป. จะพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงกรณีจดหมายน้อยในวันที่ 19 พ.ย. ต่อเมื่อเราเห็นว่าไม่มีวี่แววว่า ก.ศป.จะเต็มองค์ประกอบ แต่ตอนนี้มันมีวี่แววแล้ว ดังนั้น ถ้าวาระการประชุมมีตามที่แจ้งมานี้ตนขออนุญาตไม่เข้าประชุม
นายวรพจน์กล่าวว่า ต่อมาถึงวันจันทร์ ที่ 17 พ.ย. วันอังคารที่ 18 พ.ย. แม้กระทั่ง เช้าวันพุธที่ 19 พ.ย. ก็ไม่เห็นมีวาระเพิ่มเติม ซึ่งโดยปกติเรื่องใหญ่ขนาดนี้คือเรื่องย้ายตุลาการแต่งตั้งตุลาการไปศาลปกครองเพชรบุรีที่จะทำคราวเดียวกับกับการเลื่อนและย้ายตุลาการ เดือนเมษายน 2558 ถ้าฝ่ายเลขานุการจะนำเอาเรื่องนี้เข้าวาระการประชุมจริงๆ ก็น่าจะต้องมาแจ้งวาระเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีเอกสารประกอบ ซึ่งหากนำเข้าไปในการประชุมวันที่ 19 พ.ย. จริงโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ถ้าแจ้งกันในวันพุธใครจะเตรียมอภิปรายทัน
“ผมจะรู้หรือว่าเขาจะเสนอเป็นวาระจรในที่ประชุม ใครเขาทำกันเมื่อเป็นเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้ จุดยืนผมนี่ ถ้ามีวาระนี้เข้าไปผมต้องเข้าประชุมแน่นอน แต่ผมก็ยืนยันในจุดยืนเช่นกันว่าผมจะเดินออกเมื่อถึงวาระพิจารณาผลประธานฯ กรณีจดหมายน้อย เพราะเรื่องศาลเพชรบุรีเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่ร่วมประชุมไม่ได้ เพราะผมใส่ใจเรื่องนี้ จุดยืนผมคือผมทำอะไรก็ตามจะต้องถูกต้องตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และผลสุดท้าย ท่านอาจารย์ พุทธทาส สอนผมมาเช่นนี้ ไม่อย่างนั้น แม้เป็นสิ่งดีๆ ถ้าวิธีการผิดก็เป็นของเสียไปเลย” นายวรพจน์ระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในระหว่างการให้สัมภาษณ์นายวรพจน์ ได้นำเอกสารวาระการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ครั้งที่ 177-12 / 2557 ที่นายวรพจน์ได้รับแจ้งจากเลขานุการ ก.ศป. เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2557 ถึงหัวข้อวาระการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. 57 มาให้ตรวจสอบ ซึ่งไม่ปรากฏวาระการประชุมกรณีแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองจังหวัดเพชรบุรีแต่อย่างใด
(ดูเอกสารประกอบ)
หมายเหตุ : ภาพนายวรพจน์ จาก เครือข่ายการเรียนรู้สิทธิมนุษยชน